แบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคยอดนิยมของฝรั่งเศสประจำปี 2566

บริษัท Brand Footprint สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคฝรั่งเศสจำนวน 20,000 คน ที่มีต่อสินค้าอุปโภคบริโภครวมกว่า 2,000 แบรนด์ (ไม่รวม House Brand ของห้างค้าปลีก)  ได้ผลสรุปว่า สินค้าในหมวดหมู่อาหารและเครื่องดื่มยังคงได้รับความนิยมมากที่สุดในปี 2023 เช่นเดียวกับปี 2022

  • แบรนด์ Herta ผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารแปรรูป รักษาตำแหน่งอันดับหนึ่งจากปี 2022 และแบรนด์ Fleuri Michon ในสินค้าประเภทเดียวกัน อยู่ในลำดับที่สาม ลดลงหนึ่งอันดับจากปี 2022
  • แบรนด์ President ผลิตภัณฑ์ชีสและเนย ลำดับที่สี่ ลดลงหนึ่งอันดับจากปี 2022

ทั้งสามแบรนด์ที่กล่าวมานี้ครองตำแหน่งในสิบอันดับแรกของแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคยอดนิยมของฝรั่งเศส ได้ตลอดช่วงระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา   โดยเฉพาะ แบรนด์ Herta ผู้บริโภคที่ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 86 ซื้อสินค้าของแบรนด์อย่างน้อยหนึ่งครั้งในหนึ่งปีเนื่องจากแบรนด์นำเสนอสินค้าหลากหลายชนิด ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ Deli meats ไปจนถึงแป้งพิซซ่า   ในขณะที่แบรนด์ President มีผู้บริโภคจำนวนร้อยละ 84

ภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับเพิ่มขึ้นเกือบถึงร้อยละ 20 ในช่วงระหว่างสองปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อแบรนด์น้ำดื่มที่มีราคาถูก  โดยแบรนด์ Cristaline ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและขยับมาอยู่ลำดับที่ 2 ในปีนี้จากลำดับที่ 4 ในปีที่แล้ว  ด้วยปริมาณการซื้อมากกว่า 200 ล้านครั้งตลอดทั้งปี 2023   เนื่องจากน้ำดื่ม Cristaline ตั้งราคาขายอยู่ที่ระหว่าง 0.19-0.22 ยูโร/1.5 ลิตร ในขณะที่แบรนด์น้ำดื่ม Evian ตั้งราคาอยู่ที่ 0.66 ยูโรในปริมาณที่เท่ากัน  อย่างไรก็ตามสินค้ากาแฟไม่ได้รับผลกระทบจากการเปรียบเทียบราคาของผู้บริโภคนี้แต่อย่างใด

แบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคยอดนิยมของฝรั่งเศสประจำปี 2566

แบรนด์ Cristaline ที่เน้นการตลาดด้านราคาและครอบคลุมทุกช่องทางการขายเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้มากที่สุดมาตลอด ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในช่วงสถานการณ์เงินเฟ้อส่งผลให้แบรนด์ขยายตัวได้เป็นอย่างดี    ถึงกระนั้นก็ตามปัจจัยในด้านราคาอาจไม่ได้สำคัญที่สุดเสมอไป ดังเช่น  แบรนด์ Coca Cola ฝรั่งเศส ในอันดับที่ 5 จากผลการสำรวจ ตัดสินใจปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งในเบื้องต้นนโยบายนี้ถูกคัดค้านจากสำนักงานใหญ่ Coca Cola ที่สหรัฐอเมริกาด้วยเกรงว่าการปรับขึ้นราคาในช่วงสถานการณ์เงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อยอดขาย   แต่เนื่องจากรูปแบบการตลาดที่ทาง Coca Cola ฝรั่งเศสเน้นจุดขายให้เป็นเครื่องดื่มสำหรับงานเฉลิมฉลองและเทศกาล  ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงเลือกซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง    นอกเหนือจาก Coca Cola แล้วแบรนด์ช็อคโกแลต Kinder ในอันดับที่ 17 เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของสินค้าอาหารฟุ่มเฟือย แต่ผู้บริโภคยังคงเลือกซื้อเนื่องจากราคาสามารถเข้าถึงได้ง่าย

จากการเปรียบเทียบข้อมูลสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวน 2,000 แบรนด์ ในปี 2022 ร้อยละ 42 ของแบรนด์ทั้งหมดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปี 2023 มีเพียงร้อยละ 35 เท่านั้น   นาง Gaëlle Le Floch จากบริษัทการตลาด Kantar กล่าวว่าปี 2024 นี้จะเป็นปีที่มีความสำคัญต่อการปรับตัวของแบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคเป็นอย่างมาก เพื่อสร้างให้แบรนด์เติบโตในระยะยาวและยั่งยืน

ความคิดเห็น สคต.

ในขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคบางส่วนของฝรั่งเศสอาจได้รับผลกระทบด้านลบระหว่างปี 2022-2023  แต่ตลาดสินค้าอาหารเอเชียในฝรั่งเศสกลับขยายตัวต่อเนื่องขึ้นทุกปี   ในปี 2023 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1  โดยมีสินค้าขายดีใน 3 อันดับแรกเรียงตามลำดับ ได้แก่ เส้นก๋วยเตี๋ยว มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 คิดเป็นมูลค่า 123.24 ล้านยูโร, สินค้าอาหารแปรรูปจากมะพร้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ10.6 คิดเป็น 64.17 ล้านยูโร , ซอสถั่วเหลือง เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 คิดเป็น 62.94 ล้านยูโร, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 คิดเป็น 48.13 ล้านยูโร 1

ตั้งแต่ต้นปี 2024 สถานการณ์การบริโภคในฝรั่งเศสเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากข้อมูลของ Insee อำนาจซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงจนถึงระดับร้อยละ 2.5 ในช่วงปลายปี 2024  จากค่าเฉลี่ยร้อยละ 5.7 ในปี 2023  ทั้งหมดนี้อาจจะส่งเสริมให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอาหารเอเชียขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอีกในปีนี้   ผู้ประกอบการสินค้าอาหารไทยควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยในระหว่างนี้ควรเตรียมความพร้อมผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานในการส่งออก

ที่มาของข่าว

ข่าวจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Les Echos

https://www.lesechos.fr/industrie-services/conso-distribution/inflation-leau-cristaline-nouvelle-marque-fetiche-des-francais-2089251

  1. ข้อมูลจากบริษัท Circana 2023
thThai