สมาคมงานฝีมือแห่งเยอรมนี (Initiative Handarbeit e.V.) รายงานตัวเลขมูลค่าการค้าภายในประเทศของปี 2566 อยู่ที่ 1.010 พันล้านยูโร ซึ่งต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย (ปี 2565: 1.040 พันล้านยูโร) สมาคมฯ ได้วิเคราะห์ว่าสถานการณ์ตลาดยังมีความเสถียร แม้ว่าผู้คนระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น มีการกักตุนสินค้าวัตถุดิบน้อยลงและเลือกซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความยั่งยืนมากขึ้น นอกจากนี้ เทรนด์การซ่อมแซมและการอัปไซเคิลเป็นประเด็นที่สำคัญการสร้างงานหัตถกรรมในปัจจุบัน จึงส่งผลต่อตัวเลขมูลค่าการค้า
กลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและสร้างมูลค่ามากที่สุด คือ เส้นด้ายและไหมพรมปีที่ผ่านมาสร้างมูลค่า 370 ล้านยูโร (2022: 350 ล้านยูโร) ตามมาด้วยสินค้าผ้า 275 ล้านยูโร จักรเย็บผ้า 161 ล้านยูโร อุปกรณ์เย็บผ้าและถักทอ 154 ล้านยูโร และหนังสือนิตยสารและคู่มืองานฝีมือ 46 ล้านยูโร
จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคของ GfK สถาบันวิจัยตลาดแนวหน้าของประเทศเยอรมนี พบว่ามีผู้สนใจงานฝีมือมากขึ้น และมีช่วงอายุที่ลดลง โดยกลุ่มสำรวจเพศหญิงมากกว่าร้อยละ 85 นิยมทำงานฝีมือและเย็บปักถักร้อยเป็นครั้งคราว กลุ่มที่สนใจทำงานฝีมือมากที่สุด คือ ช่วงอายุระหว่าง 18 – 29 ปี ซึ่งสมาคมงานฝีมือฯ มองว่ากลุ่มเป้าหมายนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของอุตสาหกรรมฯ ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่าแรงจูงใจสำคัญ ได้แก่ ความสนุกสนานในการทำงานฝีมือและการถักทอของต่าง ๆ ความผ่อนคลายและการได้อยู่กับตัวเอง รวมไปถึงการเย็บ ซ่อมแซม และอัพไซเคิลเสื้อผ้าหรือของใช้ ยังเป็นการช่วยรักษ์โลกอีกด้วย
สำหรับความท้าทายในอุตสาหกรรมสินค้างานฝีมือของเยอรมนีจะต้องเผชิญกับอุปสรรค ด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไม่ต่างจากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ของเยอรมัน ทั้งทางด้านราคาพลังงานและวัตถุดิบการผลิต นอกจากนี้ กระแสความนิยมความยั่งยืน การเลือกใช้สินค้าสิ่งทออย่างมีสติ กลายเป็นแนวคิดพฤติกรรมการบริโภคแฟชั่นแบบใหม่ที่ผสมผสานอยู่ในเทรนด์สินค้าปัจจุบัน ทั้งนี้ ผู้ผลิตจำนวนมากได้ปรับการผลิตและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประเภทผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนความยั่งยืน เช่น สิ่งทอผลิตจากเส้นใยจากธรรมชาติ สิ่งทอจากเส้นใยออแกนิค เส้นใยรีไซเคิล โดยมีหน่วยงานให้ตรารับรองผลิตภัณฑ์ เช่น ตรารับรองมาตรฐานการรีไซเคิล Global Recycled Standard (GRS) ตรา Oeko-Tex ตรา Global Organic Textile Standard (GOTS) และตรา Fairtrade เป็นต้น ซึ่งเป็นการรับรองเส้นใยสิ่งทอและเส้นใยขนสัตว์ ที่ผ่านการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
ที่มา: สมาคมงานฝีมือแห่งเยอรมนี
(Initiative Handarbeit e.V.)