ในการสัมมนาเกี่ยวกับบทบาทของเอทานอล (Ethanol) กับการขนส่งอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่และตัวแทนธุรกิจจากบราซิล (Brazil) และเวียดนามได้หารือเกี่ยวกับแนวทางในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานภายในประเทศ โดยเพิ่มการใช้พลังงานชีวภาพมากขึ้น
คุณ Evandro Gussi ประธานสมาคมอุตสาหกรรมอ้อยและพลังงานชีวภาพแห่งบราซิล (the Brazilian Sugarcane and Bioenergy Industry Association หรือ UNICA) คาดการณ์ว่าผู้คนมากกว่า 3 พันล้านคนในซีกโลกใต้รวมถึงเวียดนาม จะได้รับประโยชน์จากการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากเอทานอล ซึ่งผลิต จากวัตถุดิบ ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง นำมาแปลงเป็นเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับเครื่องยนต์ ในประเทศบราซิลการใช้เอทานอลช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 660 ล้านตันในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านยานยนต์ที่ทำให้เครื่องยนต์ใช้เชื้อเพลิงแบบผสมระหว่างน้ำมันและเอธานอล (flex-fuel technology) ซึ่งช่วยให้เครื่องยนต์สันดาปสามารถใช้น้ำมันเบนซิน เอทานอล หรือผสมในสัดส่วนที่เหมาะสมได้ ปัจจุบันน้ำมันเบนซินทั้งหมดที่ขายในบราซิล มีเอทานอลผสมอยู่ร้อยละ 27
นาย Flávio Castellari กรรมการบริหารของ the Brazilian Ethanol Cluster (APLA) กล่าวว่า จากประสบการณ์ของบราซิล เราสามารถมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายการใช้น้ำมันเอทานอลในเวียดนามและแบ่งปันเทคนิกในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่นเดียวกับความร่วมมือที่มีกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย ความท้าทายที่หลายประเทศในเอเชียเผชิญในการเพิ่มส่วนผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซิน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ต้นทุน ความพร้อมของผลิตภัณฑ์ และประเด็นด้านกฎระเบียบ
แม้ว่ากฎหมายเวียดนามจะอนุญาตให้มีการผสมเอทานอลในน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ แต่ปัจจุบันพบเพียงสองผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่มีจำหน่ายที่สถานีบริการน้ำมันในท้องถิ่น ซึ่งได้แก่ น้ำมันเบนซินไม่ผสม และน้ำมัน E5 ที่มีเอทานอลร้อยละ 5
เชื้อเพลิงชีวภาพเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของประเทศเวียดนาม ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ข้อตกลงปารีส (COP21) โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างร้อยละ 15.8 ถึงร้อยละ 43.5 ภายในปี 2573
แผนแม่บทการพัฒนาพลังงานแห่งชาติระหว่างปี 2021 – 2030 (หรือ 2564 – 2573) เวียดนามมีเป้าหมายที่จะขยายการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเป็น 0.28 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมัน (Tonnes of oil equivalent หรือ TOE) ในปี 2573 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 13 ล้าน TOE ภายในปี 2593
(แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 10 เมษายน 2567)
วิเคราะห์ผลกระทบ
แผนแม่บทการพัฒนาพลังงานแห่งชาติระหว่างปี 2021 – 2030 (หรือ 2564 – 2573) ซึ่งเวียดนามตั้งเป้าที่จะขยายการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเป็น 0.28 ล้านตัน ในปี 2573 สะท้อนแนวโน้มเวียดนามจะหันมาใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ถึงแม้ว่ากฎหมายเวียดนามจะอนุญาตให้มีการใช้เอทานอลเป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิ แต่พบว่าเวียดนามยังมีข้อจำกัดในด้านการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งต้องการการลงทุนและองค์ความรู้ทางเทคนิกจากประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
เวียดนามมีศักยภาพมหาศาลในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เนื่องจากมีวัตถุดิบพืชเกษตรที่ใช้สำหรับผลิตเอทานอลจำนวนมาก แต่ยังขาดโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนโรงงานผลิตเอทานอล ไบโอดีเซล อย่างไรก็ตาม การลงทุนโรงผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นการลงทุนระยะยาว จึงจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบเกี่ยวกับการลงทุนในอุตสาหกรรมและเงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงแผนโครงสร้างพลังงานของประเทศ เพื่อให้ทราบแนวโน้มความต้องการพลังงาน รวมถึงนโยบายภาครัฐที่ให้การสนับสนุนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวด้วย