Golden Week หรือ เทศกาลวันหยุดยาวของญี่ปุ่น ในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม เป็นโอกาสในการเดินทางท่องเที่ยว หรือกลับภูมิลำเนา เหมือนกับช่วงวันหยุดสงกรานต์ของไทย โดยเป็นช่วงที่  มีการจับจ่ายใช้สอยสูง

พฤติกรรมของชาวญี่ปุ่นในช่วง Golden Week ปี 2567 สะท้อนการบริโภคในช่วงเงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่อง ค่าครองชีพ และเงินเฟ้อสูง อย่างไรก็ดี ส่งสัญญาณการฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19 โดยสร้างเงินสะพัดมากกว่า 963 พันล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และมีจำนวนนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เดินทางทั้งใน และต่างประเทศ รวมกันกว่า 23.32 ล้านคน เพิ่มขึ้น  ร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า

การท่องเที่ยวต่างประเทศ เที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า (ลดลงร้อยละ 28 เทียบกับปี 2561) โดยส่วนใหญ่เป็นการเดินทางระยะใกล้ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไต้หวัน โดยประเมินค่าใช้จ่ายรายหัวเฉลี่ย 269,000 เยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ตามราคาที่ปรับสูงขึ้น และค่าเงินเยนอ่อน

การท่องเที่ยวภายในประเทศ ฟื้นตัวช้ากว่าการท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 22.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.9 ในการนี้ เที่ยวบินในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากปีก่อนหน้า (ลดลง ร้อยละ 8 เทียบกับปี 2561) และรถไฟความเร็วสูง (ชินคันเซน และ JR) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 (ลดลงร้อยละ 5) ทั้งนี้ การซื้อแพคเกจทัวร์ลดลงร้อยละ 20-30 ขณะที่การท่องเที่ยวโดยรถบัสแบบวันเดียว (One day trip) เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 โดยประเมินค่าใช้จ่ายรายหัวเฉลี่ย 36,100 เยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 จากปีก่อนหน้า

การบริโภคในร้านอาหารเพิ่มขึ้น โดยสถิติการจองโต๊ะผ่านแพลตฟอร์ม Table check (ในโอซากา เกียวโต โกเบ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อนหน้า (ลดลงร้อยละ 5 เทียบกับปี 2561)

ขณะเดียวกัน พบว่ามูลค่าการจับจ่ายซื้อสินค้าของชาวญี่ปุ่น และนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์ และเครื่องสำอาง โดยห้างสรรพสินค้า เช่น Kintetsu Abeno Harukas มีมูลค่าการจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 และ Takashimaya Osaka เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41

thThai