สหราชอาณาจักรเตรียมออกกฎหมาย ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความเชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า

เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้ผ่านกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU’s deforestation regulation; EUDR) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ากฎระเบียบดังกล่าวจะกระทบห่วงโซ่อุปทานสินค้าอาหารและเครื่องดื่มครั้งใหญ่ โดยธุรกิจที่มีการนำสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น วัว ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม โกโก้ และกาแฟ เข้าหรือออกจากสหภาพยุโรป จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ไปจนถึงระดับฟาร์มที่เพาะปลูก และต้องพิสูจน์ได้ว่าไม่มีความเชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมาย ที่ทำให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนและแรงงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปได้อนุญาตให้มีระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือนสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ และระยะเวลา 24 เดือนสำหรับบริษัท SMEs

ธุรกิจในสหราชอาณาจักรจะได้ผลกระทบจากกฎระเบียบดังกล่างอย่างชัดเจน เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็น   คู่ค้ารายสำคัญของสหราชอาณาจักร จากการสำรวจล่าสุดโดย Foods Connected พบว่าธุรกิจจำนวนร้อยละ 20 ในสหราชอาณาจักร ยังไม่มีการเตรียมพร้อมในกฎระเบียบดังกล่าว ทั้งนี้บริษัทประมาณร้อยละ 30 ในสหราชอาณาจักร ไม่ได้มีการลงทุนในเทคโนโลยีการติดตามข้อมูล (data-tracking technologies)

ทั้งนี้ในส่วนของสหราชอาณาจักรนั้น รัฐบาลได้มีการประกาศเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาว่าจะมีการประกาศข้อกำหนดใหม่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อการทำลายป่า (forest-risk commodities) ในพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม (the Environment Act) โดยผู้นำเข้าที่มีมูลค่าการซื้อขายอย่างน้อย 50 ล้านปอนด์ ที่มีการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ควบคุมมากกว่า 500 ตันต่อปี รวมถึงเนื้อวัว หนังสัตว์ ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม และโกโก้ จะต้องจัดทำคำประกาศประจำปีที่แสดงว่าการนำเข้าของบริษัทไม่ได้มาจากที่ดินที่มีตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมาย อย่างไรก็ร่างกฎหมายฉบับนี้รัฐสภาจะมีการพิจารณาครั้งที่สอง

EU’s deforestation regulation (EUDR) มีการระบุรายการสินค้าโภคภัณฑ์ที่อาจเป็นสาเหตุสำคัญของการตัดไม้ทำลายป่าจำนวน 7 ประเภท ไม่สามารถจำหน่ายในสหภาพยุโรปได้หากมาจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่า

  1. ถั่วเหลือง – การผลิตถั่วเหลืองส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้เพื่อการบริโภคของผู้บริโภค แต่ใช้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งหมายความว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภท รวมถึง ไก่ หมู เนื้อวัว และอาหารสำเร็จรูป จะได้รับผลกระทบ
  2. โกโก้ – ไม่เพียงแต่ผู้ผลิตช็อกโกแลต และผงโกโก้ ที่จะต้องเตรียมความพร้อม ผู้ผลิตขนม และเบเกอรี่ทุกประเภทที่ทำการซื้อขายในหรือผ่านสหภาพยุโรป ควรเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ EUDR
  3. กาแฟ – ผู้ซื้อและผู้คั่วเมล็ดกาแฟจะต้องรับภาระในการพิสูจน์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีก อุตสหกรรม hospitality และ Foodservice รวมทั้ง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับกฎเกณฑ์ดังกล่าวด้วย
  4. น้ำมันปาล์ม – น้ำมันปาล์มไม่เพียงแต่จำหน่ายในรูปแบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังพบได้ในผลิตภัณฑ์ประมาณ ร้อยละ 50 ที่วางจำหน่ายในห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต ตั้งแต่อาหารแช่แข็ง เช่น ไอศกรีม ไปจนถึงลูกกวาดและเครื่องสำอาง
  5. วัว – รวมไปถึงเนื้อวัว เครื่องใน หนัง
  6. ไม้ – ผลิตภัณฑ์จำนวนมากที่จำหน่ายในร้านค้าปลีกมีส่วนผสมของเส้นใยไม้ในรูปแบบของเยื่อกระดาษและกระดาษ เช่น กระดาษชำระ กระดาษใช้ในครัว จานกระดาษ และ บรรจุภัณฑ์
  7. ยาง – ยางเป็นสาเหตุของการตัดไม้ทำลายป่าอย่างกว้างขวางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ที่มา: The Grocer

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความเห็น สคต.

สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรมีความพยายามต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าและทำให้เกิดความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ดีกฎระเบียบของสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรยังมีความแตกต่างกันซึ่งอาจจะนำไปสู่ความสับสนของการนำเข้าและส่งออกระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ในส่วนของผู้ประกอบการไทยนั้น ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมโดยเฉพาะด้านการพัฒนาระบบจัดเก็บและติดตามข้อมูลสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ และการขอรับรองมาตรฐานความยั่งยืน และติดตามความคืบหน้าของกฎระเบียบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

 

thThai