อุตสาหกรรมยานยนต์ของโมร็อกโกเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศ โดยคิดเป็น 22% ของ GDP และมีมูลค่าการส่งออกมูลค่า 14 พันล้านดอลลาร์ โดยอุตสาหกรรมยานยนต์มีพนักงานมากกว่า 200,000 คน ในโมร็อกโกทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการส่งออกจากอุตสาหกรรมยานยนต์ของโมร็อกโกไปกว่า 70 ประเทศทั่วโลก และโมร็อกโกตั้งเป้าที่จะรักษาบทบาทของตนในฐานะผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ด้วยการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่ยุโรปเลิกใช้เครื่องยนต์สันดาป

บริษัทยานยนต์กว่า 250 แห่งดำเนินธุรกิจในโมร็อกโก รวมถึง Renault ซึ่งเรียกโมร็อกโกว่า “Sandero-land” เนื่องจากบริษัทผลิตรถยนต์ Dacia Sandero ส่วนใหญ่ที่นั่น กำลังการผลิตปัจจุบัน Renault ต่อปีในโมร็อกโกอยู่ที่ 440,000 คัน โดย Renault วางแผนที่จะเริ่มการผลิตรถยนต์ไฮบริดในโมร็อกโกและพัฒนาต่อยอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

โมร็อกโกไม่ได้ส่งออกยานพาหนะใดๆ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว แต่อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ได้เติบโตขึ้นอย่างมากตั้งแต่นั้นมา การผลิตยานยนต์คิดเป็นมูลค่า 14 พันล้านดอลลาร์ของการส่งออกของโมร็อกโก โดยรัฐบาลเสนอเงินอุดหนุนสำหรับโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทเพื่อส่งเสริมการผลิตนอกเมืองใหญ่ โดยเสนอเงินอุดหนุนสูงถึง 35% สำหรับผู้ผลิต เพื่อสร้างโรงงานในพื้นที่ห่างไกลนอกเมือง Tangiers

ความเห็น/ข้อเสนอแนะ

อุตสาหกรรมยานยนต์ในโมร็อกโกถือเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับประเทศไทยเนื่องมาจากปัจจัยสำคัญหลายประการ ตลาดยานยนต์ในโมร็อกโกกำลังเติบโตอย่างมาก ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของโมร็อกโกช่วยให้เข้าถึงตลาดที่หลากหลายทั้งในยุโรปและแอฟริกา โดยได้รับความสะดวกจากความตกลงการค้าเสรี และฐานผู้บริโภคที่กำลังเติบโต ทำให้เป็นฐานการผลิตสำหรับบริษัทที่ต้องการขยายการเข้าถึงไปยังภูมิภาคต่างๆ อุตสาหกรรม EV ในโมร็อกโกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้แรงหนุนจากการสนับสนุนจากรัฐบาล ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการเพิ่มความตระหนักรู้ของผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

โมร็อกโกลงทุนด้านการคมนาคมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอน รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการนำรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดมาใช้ผ่านมาตรการจูงใจทางภาษีและเงินอุดหนุน ด้วยการลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียนและส่งเสริมความยั่งยืนในภาคยานยนต์ โมร็อกโกตั้งเป้าที่จะปรับอุตสาหกรรมยานยนต์ให้สอดคล้องกับความพยายามระดับโลกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โมร็อกโกเป็นจุดหมายที่น่าสนใจในการลงทุน เนื่องจากมีการขยายท่าเรือ เขตการค้าเสรี และทางหลวงที่เชื่อมต่อกับแหล่งผลิต รวมถึงค่าแรงที่ถูกกว่าการผลิตในยุโรป มีบริษัทจีน ญี่ปุ่น อเมริกา และเกาหลีผลิต เบาะ เครื่องยนต์ โช้คอัพ และล้อ ที่ Tangiers Automotive City ซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ขนาดใหญ่ รวมถึงบริษัท Stellantis ผู้ผลิตรถเปอโยต์ โอเปิ้ล และเฟียต ที่โรงงานในเมือง Kenitra  โดยปัจจุบัน Renault ผลิต Clios และ Dacia Sanderos ซึ่งเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุโรป และเร็วๆ นี้จะเริ่มผลิต Dacia Joggers แบบไฮบริด

แม้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของโมร็อกโกจะนำเสนอโอกาสมากมาย แต่ก็มีความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา ห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่น และการแข่งขันจากตลาดอื่นๆ โดยอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในด้านการวิจัยและพัฒนา การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และการร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีและบริษัทพลังงานทดแทน เพื่อใช้ประโยชน์จากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดในโมร็อกโก

 

 

 

——————————————————-

 

ที่มา : https://www.africanews.com/2024/05/15/moroccos-automotive-industry-shifts-gears-to-prep-for-ev-era//

 

thThai