นโยบายของประธานาธิบดีไบเดนเพื่อกระตุ้นการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดในสหรัฐอเมริกาตามกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act: IRA) โดยพยายามสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ภายในประเทศ เพื่อให้มีการผลิตแผงโซลาร์เซลล์รุ่นใหม่ๆ และมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น สหรัฐฯ ได้มีการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ด้วยซิลิคอนในห้องทดลองมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2499 ทำให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำตลาดแผงโซลาร์เซลล์ของโลกมากว่า 10 ปี อย่างไรก็ดี ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาการต่อต้านการแข่งขันทางการค้าจากประเทศจีนได้ทำลายอุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ แต่นโยบายของประธานาธิบดีไบเดนก็ทำให้อุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ กลับมาเติบโตอีกครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศจีนเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้น โดยผลิตแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนราคาถูกเพื่อแข่งขันในตลาดโลก และหลีกเลี่ยงมาตรการทางการค้าเพื่อผลักดันให้คู่แข่งออกจากอุตสาหกรรม

 

 

ตั้งแต่ประธานาธิบดีไบเดนเข้ารับตำแหน่ง บริษัทในอุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์ประกาศการลงทุนกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นปริมาณพลังงานกว่า 335 กิกะวัตต์ หรือเท่ากับการจ่ายไฟให้กับ 18 ล้านครัวเรือน ชาวอเมริกันมีพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวหลังจากประธานาธิบดีดำรงตำแหน่ง โดยมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สูงสุดในปี 2566 อยู่ที่ 32.4 กิกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 จากปี 2565

 

 

ประธานาธิบดีไบเดนเชื่อว่าแรงงานและผู้ผลิตชาวอเมริกันในอุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์มีความสามารถแข่งขันแต่การแข่งขันจะต้องมีความยุติธรรม โดยสหรัฐฯ ได้มีการใช้มาตรการทางภาษีภายใต้มาตรา 301 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการค้า ปี 2517 (Trade Act of 1974) เป็นมูลค่ากว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปกป้องแรงงานและธุรกิจของชาวอเมริกัน โดยขึ้นภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากจีนจากอัตราร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 50

 

 

ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนได้ออกมาตรการเพื่อส่งเสริมผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ และปกป้องแรงงานและธุรกิจของชาวอเมริกันจากการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากจีน ดังนี้

 

  1. ยกเลิกแผงโซลาร์เซลล์แบบสองหน้า (Bifacial Solar Panel) ภายใต้มาตรา 201

แผงโซลาร์เซลล์แบบสองหน้าที่มักจะใช้ในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ระดับสาธารณูปโภคไม่อยู่ในสินค้าที่ต้องเสียภาษีนำเข้าภายใต้มาตรา 201 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการค้า ปี 2517 การยกเว้นสินค้าดังกล่าวเกิดจากการกำหนดของฝ่ายบริหารชุดก่อน ทำให้มีการนำเข้าแผงโซลาเซลล์ชนิดดังกล่าวเข้ามาในสหรัฐฯ จำนวนมาก จึงทำให้ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนมีแผนที่จะยกเลิกการยกเว้นดังกล่าว ซึ่งจะช่วยปกป้องผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ จากการค้าที่ไม่เป็นธรรม

 

  1. ยุติการยกเว้นภาษีนำเข้า

ในเดือนมิถุนายน 2565 ประธานาธิบดีไบเดนประกาศให้การยกเว้นภาษีนำเข้าของแผงโซลาร์เซลล์จากประเทศกัมพูชา มาเลเซีย ไทย และเวียดนามเพื่อรองรับความต้องการของแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ อยู่ในระหว่างการเพิ่มกำลังการผลิต อย่างไรก็ดี มาตรการยกเว้นภาษีนำเข้ากำลังจะหมดอายุในวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ประกอบกับสหรัฐฯ พบว่าบริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จากประเทศจีนได้หลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ทางภาษี โดยได้มีการประกอบแผงโซลาร์เซลล์ใน 4 ประเทศอาเซียนที่สหรัฐฯ ประกาศยกเว้นภาษี ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าที่จะใช้ประโยชน์จากมาตรการภาษี กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้กำหนดให้แผงโซลาร์เซลล์ที่นำเข้าแบบปลอดภาษีจะต้องติดตั้งภายใน 180 วัน หน่วยงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ (Customs and Border Protection: CBP) ได้ประกาศว่าจะมีการกวดขันอย่างจริงจัง โดยผู้นำเข้าจะต้องแสดงเอกสารและรายละเอียดของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

 

  1. ติดตามการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ในตลาดสหรัฐฯ

สหรัฐฯ ได้มีการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากจีนใช้ประโยชน์มาตรการภาษีผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศอาเซียน ผู้แทนจากกระทรวงพลังงานและกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จะติดตามสถานการณ์และรูปแบบการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์เพื่อให้มั่นใจว่าปริมาณแผงโซลาร์เซลล์จะไม่มากเกินไป และศึกษาแนวทางในการดำเนินการกับการค้าที่ไม่เป็นธรรม

 

  1. กำหนดแนวทางเพิ่มเติมสำหรับผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ

กฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อได้กำหนดเครดิตภาษีสำหรับผู้ผลิตพลังงานสะอาดที่เข้าข่ายเงื่อนไขที่กำหนด อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังสหรัฐฯ กำลังเสนอแนวทางเพื่อกระตุ้นการพัฒนาพลังงานสะอาดในสหรัฐฯ หลังจากมีข้อกังวลเกี่ยวกับการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเครดิตภาษี และมีแผนที่จะกำหนดเงื่อนไขสำหรับเครดิตภาษีพิเศษ (Elective Safe Harbor) โดยกระทรวงการคลังและกรมสรรพากรสหรัฐฯ วางแผนที่จะออกแนวทางเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมอื่น เช่น กังหันลมนอกชายฝั่งทะเล (Offshore Wind) เป็นต้น หรือออกหลักเกณฑ์สำหรับโครงการที่ใช้วิธีจ่ายตรง นอกจากนี้ กระทรวงการคลังและกรมสรรพากรสหรัฐฯ ร่วมมือกับกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ประเมินทางเลือกในการกระตุ้นการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการผลิตแผ่นโซลาร์ (Solar Wafer Production)

 

  1. สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการผลิตแผ่นโซลาร์

กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ประกาศทุ่มเงินกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการวิจัยและพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทาน เงินทุนจากกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยให้มีผู้เล่นใหม่ในตลาดเข้าถึงเทคโนโลยีและเงินทุนมากขึ้น ซึ่ง 18 โครงการที่ได้รับการคัดเลือกจะเข้ามาเติมเต็มห่วงโซ่อุปทานการผลิตแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในประเทศ

 

  1. บริหารโควต้าการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ตามมาตรา 201 เพื่อสนับสนุนการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐฯ

ปัจจุบัน มีโควต้าสำหรับการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ตามมาตรา 201 อยู่ที่ 5 กิกะวัตต์ ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนจะติดตามปริมาณการนำเข้าแผ่นโซลาร์ที่ใช้ในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์อย่างใกล้ชิด โดยจะเพิ่มโควต้าการนำเข้าอีก 7.5 กิกะวัตต์ เพื่อให้มั่นใจว่าจะเพียงพอต่อการขยายตัวของแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศ

 

 

แนวทางของฝ่ายบริหารในการสนับสนุนการผลิตและการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

  • ในเดือนมีนาคม 2567 กระทรวงการคลังและกรมสรรพากรสหรัฐฯ ได้ออกแนวทางเพิ่มเติมสำหรับเครดิตภาษีพิเศษเพื่อสนับสนุนโครงการผลิตพลังงานสะอาดให้กับชุมชนที่เดิมพึ่งพาพลังงานฟอสซิล แนวทางเพิ่มเติมจะขยายพื้นที่ที่เข้าข่ายเครดิตภาษีพิเศษมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีโครงการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ระดับสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้น 100 โครงการ
  • ในเดือนเมษายน 2567 สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (Environmental Protection Agency: EPA) ประกาศผู้รับทุนสำหรับโครงการ Solar for All ซึ่งเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาด ผู้ที่ได้รับทุนภายใต้โครงการ Solar for All ได้ครอบคลุม 50 รัฐ อาณาเขต และพื้นที่ชนพื้นเมืองสหรัฐฯ เพื่อขยายแผงโซลาร์เซลล์ให้กับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย 900,000 ครัวเรือน โดยคาดว่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคของครัวเรือนเฉลี่ย 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
  • ในเดือนเมษายน 2567 กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ จัดสรรเงินทุนมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงการ The Qualifying Advanced Energy Project Credit (48C) ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานพลังงานสะอาด ทั้งนี้ โครงการ 48C กำลังเปิดรับสมัครโครงการเพิ่มเติมด้วยเงินระดมทุนใหม่มูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • เพื่อส่งเสริมให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่สาธารณะ กระทรวงมหาดไทยสหรัฐฯ ได้ออกกฎระเบียบในเดือนเมษายน 2567 เพื่อให้มั่นใจว่าพื้นที่สาธารณะของสหรัฐฯ จะมีบทบาทในการลดต้นทุนในการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และเพื่อพัฒนากระบวนการขออนุญาติสำหรับพลังงานหมุนเวียน กระทรวงมหาดไทยสหรัฐฯ ประกาศว่าจะผลิตพลังงานสะอาด 10 กิกะวัตต์บนพื้นที่สาธารณะ โดยฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนมีเป้าหมายในการอนุญาตพลังงานสะอาดอย่างน้อย 25 กิกะวัตต์ภายในปี 2568 หรือเท่ากับการจ่ายไฟให้กับ 12 ล้านหลังคาเรือน

 

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

สหรัฐฯ มีแนวทางในการสนับสนุนผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ภายในประเทศมากขึ้น และติดตามการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากต่างประเทศไม่ให้มากเกินความต้องการมากเกินไป ประกอบกับความร่วมมือในการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับแผงโซลาร์เซลล์ชนิดสองหน้าจากประเทศไทยจะยุติลงในวันที่ 6 มิถุนายน 2567 จะทำให้ไทยไม่สามารถใช้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีนำเข้าได้อีกต่อไป ทำให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ซื้อแผงโซลาร์เซลล์จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง จะต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดและวาง
กลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐได้อย่างมีศักยภาพ

 

ข้อมูลอ้างอิง: The White House

thThai