เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP25 เรื่อง ทองแดงความท้าทายสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Green Economy
ในช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ราคาโลหะทั้งโลหะมีค่า(Precious Metals) และโลหะอุตสาหกรรม (Industrial Metals)ไม่ว่าจะเป็นทอง เงิน หรือทองแดงต่างมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทองแดงซึ่งเป็นวัตถุดิบการผลิตสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพลังงานสะอาด หรือ Green Economy ที่ทำสถิติปรับตัวเพิ่ขึ้นสูงเกินระดับ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ทองแดงเป็นโลหะตัวนำไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมใช้ในอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางทั่วโลก เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรที่เราใช้งานในปัจจุบันต่างมีทองแดงเป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้ ทองแดงยังถูกใช้มากในการผลิตชิ้นส่วนวัสดุอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจพลังงานสะอาดไม่ว่าจะเป็น กังหันลมผลิตไฟฟ้า เครื่องปั่นไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องแปลงแรงดันไฟฟ้า รวมถึงสายไฟฟ้าต่างๆ
อีกทั้ง ทองแดงยังเป็นวัสดุการผลิตที่สำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV อีกด้วย ซึ่งโดยเฉลี่ยรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีทองแดงเป็นส่วนประกอบประมาณ 130 ปอนด์ต่อคัน เปรียบเทียบกับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานน้ำมันที่ทองแดงเป็นส่วนประกอบเพียง 50 ปอนด์ต่อคันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันปริมาณความต้องการทองแดงในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ปริมาณการผลิตทองแดง ซึ่งพบมากในทวีปอเมริกากลับไม่สามารถผลิตได้ตามแนวโน้มอุปสงค์ของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ เอง ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตทองแดงที่สำคัญของโลกเนื่องจาก
- ปัจจัยด้านค่าแรงงานในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอันเป็นผลมาจากปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อในตลาดนับตั้งแต่ช่วงที่เกิดภาวะการแพร่ระบาดที่ผ่านมา
- ปัจจัยด้านนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น เนื่องจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองแดงมีส่วนส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการออกใบอนุญาต อีกทั้ง ประชาชนในพื้นที่บางส่วนเองยังมีแนวโน้มต่อต้านการดำเนินกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ด้วย
- ปัจจัยด้านเงินลงทุน อุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองแดงต้องใช้เงินลงทุนในเทคโนโลยีและเครื่องจักรการขุดเจาะมากหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งจะต้องใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าจะคืนทุนจึงมักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักลงทุน
โดยรวมแม้ว่าราคาทองแดงในตลาดจะมีการปรับฐานลดลงเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์นี้ แต่นักวิเคราะห์ในตลาดยังคาดว่า ราคาทองแดงจะยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกกว่าเท่าตัวในระยะยาว และอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการผลักดันขับเคลื่อนนโยบายระบบเศรษฐกิจพลังงานสะอาดและอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ในอนาคตด้วย
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
สินแร่ทองแดงสามารถพบได้บ้างในบางพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานของไทย แต่ก็มีปริมาณไม่มากและไม่เพียงพอสำหรับการผลิตและใช้ภายในประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังต้องอาศัยการนำเข้าสินแร่ทองแดงจากต่างประเทศ เช่น ชิลี จีน รวมถึงลาว เพื่อเข้ากระบวนการถลุงและแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมรวมถึงส่งออกไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐฯ
โดยในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการส่งออกทองแดงไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 24.82 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สินค้าส่งออกหลักของไทย คือ ท่อทองแดง คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 80 ของมูลค่าการส่งออกทองแดงทั้งหมดของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ โดยสินค้านำเข้าจากไทยหลายรายการในกลุ่มดังกล่าวยังมีสิทธิ์ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีภายใต้โครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีเป็นการทั่วไป หรือ GSP หากสหรัฐฯ พิจารณาต่ออายุ ในขณะที่สินค้าจากจีนซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดยังคงถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ทางการค้าในอัตราสูง ซึ่งยังถือเป็นข้อได้เปรียบของไทยในขณะนี้
ทั้งนี้ แนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาทองแดงในตลาดอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ต้องอาศัยทองแดงเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าและส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรพิจารณาหามาตรการในการป้องกันความเสี่ยงและควบคุมต้นทุนการผลิตสินค้าในอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดในอนาคต
นอกจากนี้ ในระยะยาวตลาดโลกน่าจะมีความต้องการใช้ทองแดงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโลหะทองแดงเองก็เป็นโลหะที่สามารถนำเข้ากระบวนการเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้เกือบทั้งหมด ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายกิจการไปยังส่วนของการนำทองแดงกลับมาใช้ใหม่เพื่อสนับสนุนตลาดในอนาคตด้วย
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://youtu.be/4nj-T0hR5uU
******************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก