“พาณิชย์-DITP”แนะผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทางออนไลน์ขายสินค้าเจาะตลาดสิงคโปร์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) สำรวจตลาดอีคอมเมิร์ซสิงคโปร์ พบแนวโน้มเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือ แนะผู้ประกอบการศึกษา และนำมาปรับใช้ในการขายสินค้าไทย

“พาณิชย์-DITP”แนะผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทางออนไลน์ขายสินค้าเจาะตลาดสิงคโปร์
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) สำรวจตลาดอีคอมเมิร์ซสิงคโปร์ พบแนวโน้มเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือ แนะผู้ประกอบการศึกษา และนำมาปรับใช้ในการขายสินค้าไทย
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์
เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ตามนโยบายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวณฐมา คูณผล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์ ถึงเทรนด์อีคอมเมิร์ซตลาดสิงคโปร์ และโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะศึกษาและนำมาปรับใช้ในการทำธุรกิจ และขยายตลาดสินค้าไทยในสิงคโปร์
โดยทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลว่า การแข่งขันของตลาดอีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์มีความรุนแรงและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว คาดการณ์ว่า ในปี 2570 รายได้ของตลาดอีคอมเมิร์ซสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะสูงถึง 10,450 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตนี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Lazada , Shopee และอื่นๆต่างนำเสนอบริการที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะช่วยปรับปรุงประสบการณ์การซื้อของออนไลน์ของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ผู้ประกอบการการค้าออนไลน์จึงต้องก้าวให้ทันกับความก้าวหน้า
ทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาความได้เปรียบทางธุรกิจไว้
นอกจากนี้ ยังพบว่า ในปี 2567 ร้านค้าปลีกออนไลน์สิงคโปร์ต่างปรับตัวและเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ โดยบริษัทอีคอมเมิร์ซที่มีชื่อเสียงในสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับ Mobile-First หรือ
การออกแบบเว็บไซต์เพื่อรองรับการแสดงผลในมือถือก่อนเป็นอันดับแรก แทนที่จะออกแบบสำหรับการแสดงผล
บนคอมพิวเตอร์ และยังมีธุรกิจสตาร์ตอัปยูนิคอร์นในอาเซียนหลายรายที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซของสิงคโปร์ เช่น Grab , Carousell , Lazada , Ninja Van และ Shopee ซึ่งแต่ละรายมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับผลสำรวจการซื้อสินค้าออนไลน์ ที่จัดทำโดย Rakuten Insight ชี้ให้เห็นว่า 52% ของชาวสิงคโปร์ที่ตอบแบบสอบถามการซื้ออาหารและของชำออนไลน์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และ 50% ซื้อสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ โดยคนส่วนใหญ่นิยมความสะดวกสบายจากการซื้อของออนไลน์มากกว่าการไปซื้อสินค้าที่หน้าร้านเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าร้านค้าจะมีทางเลือกในการชำระเงินแบบไร้เงินสด เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต แต่ผู้ซื้อก็เลือกซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากสามารถเลือกสถานที่ เวลาจัดส่งได้ และลดการใช้เงินสด รวมทั้งยังมีแนวโน้มการซื้อออนไลน์ผ่านมือถือเพิ่มมากขึ้น โดยมีข้อมูลจาก Statista ระบุว่า มูลค่าการซื้อของออนไลน์ผ่านมือถือจะมากกว่า 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในสิ้นปี 2567

“จากการเติบโตของเทคโนโลยีในการค้าออนไลน์ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและเพิ่มขึ้นหลากหลายรูปแบบ การซื้อของออนไลน์แพร่หลายไปสู่ผู้คนแทบทุกกลุ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการในตลาดอีคอมเมิร์ซ ควรศึกษาแนวโน้มตลาด และใช้ประโยชน์จากเครื่องมือต่างๆอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจในขณะเดียวกันผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลแนวโน้มตลาดอีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์ไปพัฒนากลยุทธ์ ช่องทางการตลาดและ
การประชาสัมพันธ์สินค้าให้ได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายชาวสิงคโปร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
ในตลาดสิงคโปร์ได้ต่อไป”นายภูสิตกล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169
****************************************
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
… มิถุนายน 2567

thThai