1. ภาพรวมตลาดสินค้าข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว และพาสตาในสิงคโปร์ปี 2566 

    ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า มูลค่าการขายสินค้าสินค้าข้าว ก๋วยเตี๋ยว และพาสตาในสิงคโปร์ในปี 2566 อยู่ที่ 630.9 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 7.3% (YoY) โดยประกอบไปด้วยสินค้าข้าว 497.9 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โตขึ้น 7.8% (YoY)  สินค้าเส้นก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ 115.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โตขึ้น 4.6% (YoY)  และพาสตา อยู่ที่ 17.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 9.3% (YoY)สินค้าข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว และพาสตาในสิงคโปร์ในปี 2566 ภาพรวมความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มข้าว พาสตา และเส้นก๋วยเตี๋ยวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นในสิงคโปร์ทำให้ผู้บริโภคยังคงทำอาหารที่บ้านบ่อยขึ้น การเติบโตของพาสตามาจากราคาต่อหน่วยที่สูงขึ้น แรงกดดันด้านเงินเฟ้อส่งผลต่อปัจจัยการผลิต เช่น ภูมิศาสตร์การเมือง และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ราคาข้าวสาลีและแป้งสูงขึ้น จากราคาที่สูงขึ้นส่งผลให้ผู้บริโภคบางรายมองว่าสินค้าข้าวหรือเส้นก๋วยเตี๋ยวคุ้มค่ากว่าทั้งในแง่ของราคาและความสะดวก

    บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีปริมาณการค้าปลีกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากผู้บริโภคยังคงชอบที่จะทดลองรสชาติอาหารใหม่ๆ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้ที่มีการพัฒนาด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์มากที่สุด แต่การเติบโตน่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากความสนใจในสุขภาพที่เพิ่มขึ้นของชาวสิงคโปร์ ว่ามีคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่ดี ในขณะเดียวกัน ความต้องการซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยวลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคมองว่า เส้นก๋วยเตี๋ยวไม่สะดวกต่อการรับประทาน เนื่องจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ เวลาที่จำกัด แต่ต้องมีการใช้ส่วนผสม หรือซอสปรุงรสเพิ่มเติม ผู้บริโภคกลุ่มนี้ชอบเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีขั้นตอนการเตรียมที่ง่ายต่อการรับประทาน

     

    บริษัท Nissin Foods เป็นบริษัทใหญ่ที่สุดในแง่มูลค่าการค้าปลีกของสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากมุ่งเน้นกลยุทธ์ด้านการพัฒนานวัตกรรมรสชาติอย่างต่อเนื่อง แบรนด์ Nissin มีเป้าหมายที่จะปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องโดยแนะนำส่วนผสมและรสชาติใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นมิลเลนเนียล (คนที่เกิดในปี 2523 – 2540) และเจเนอเรชั่น Z (คนที่เกิดในปี 2541 – 2565) ที่มีความไวต่อเทรนด์ต่างๆ มากขึ้น จึงทำให้แบรนด์ Nissin เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น กลยุทธ์การสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ Nissin ได้แก่ การเปิดตัวบะหมี่ถ้วยรสครีมต้มยำรุ่นลิมิเต็ดอิดิชั่นในเดือนเมษายน 2566 ซึ่งเป็นส่วนขยายจากรสชาติต้มยำทะเลปกติ โดย Nissin กล่าวว่า เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสิงคโปร์ และในเดือนกันยายน 2566 นิสชินยังได้เปิดตัวรส Fish Head Curry เป็นสินค้าถาวร หลังจากได้รับความนิยมเป็นอย่างมากตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 นอกจากนี้ Nissin ยังได้เปิดตัวรส Spicy Tonkatsu ในกลุ่มบะหมี่ถ้วยใหญ่ นอกจากรสซีฟู้ดที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากการเพิ่มขึ้นรสชาติต่างๆ ของ Nissin ทำให้แบรนด์มีความแข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขันกับแบรนด์ต่างๆ อย่าง Nong Shim และ Kang Shi Fu ได้  เพราะผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของแบรนด์ดังกล่าวจำหน่ายในขนาด 100 กรัม

    Nissin ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ให้บริการด้านอาหารเพื่อเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากชื่อเสียงและฐานลูกค้าของสถานประกอบการเหล่านี้เพื่อเพิ่มการรับรู้ถึงแบรนด์ เช่น การร่วมมือกับร้าน MOS Burger ในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยเปิดตัว MOS Cheese Burger และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรส Chilli Dog และอีกหนึ่งความสำเร็จของแบรนด์ก็คือการร่วมมือกับแบรนด์ขนมสิงคโปร์ Irvin’s โดยในปี 2564 Nissin เปิดตัวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป Nissin x Irvins Salted Egg ได้สำเร็จ จากนั้นในเดือนธันวาคม 2564 ได้เปิดตัวรส Spicy และได้วางจำหน่ายในรูปแบบซองในเดือนพฤษภาคม 2565 และจากกระแสความชื่นชอบในรสชาติหมาล่า Nissin ได้เปิดตัวบะหมี่ถ้วยไข่เค็มหม่าล่าในเดือนพฤษภาคม 2566 และขยายออกมาเป็นรูปแบบซองในเดือนสิงหาคม 2566

    สินค้าข้าวยังคงครองตลาดสินค้ากลุ่มนี้ ราคาต่อหน่วยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตที่ลดน้อยลง ซึ่งส่งผลต่ออุปทานข้าวทั่วโลก ข้าวเป็นอาหารหลักในสิงคโปร์ รัฐบาลจึงได้เข้ามาแก้ไขปัญหานี้ โดยร่วมมือกับร้านค้าปลีกอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต FairPrice ประกาศส่วนลด 1% สำหรับผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นยอดนิยม 500 รายการ รวมถึงข้าว ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 หรือซูเปอร์มาร์เก็ต Giant ได้ทำรายการส่งเสริมลดราคาสินค้าข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิไทย Royal Umbrella ขนาด 5 กิโลกรัม ในราคา 15.95 เหรียญสิงคโปร์ จากเดิม 16.96 เหรียญฯ และขนาด 10 กก. ในราคา 27.90 เหรียญฯ จากเดิม 33.41 เหรียญฯ เป็นต้น ความต้องการซื้อข้าวในสิงคโปร์มีความยืดหยุ่นด้านราคามากขึ้น ดังนั้นการนำเสนอส่วนลดด้านราคาเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขึ้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มองหาความคุ้มค่ามักจะเลือกขนาดบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ขึ้น

สินค้าข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว และพาสตาในสิงคโปร์

2. โอกาสทางการตลาดของสินค้าข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว และพาสต้าในสิงคโปร์

2.1  กลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

สินค้าแนวโน้มการดูแลสุขภาพจะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนในนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ในกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบเพื่อสุขภาพ เช่น การลดแคลอรี่โดยการอบเส้น พร้อมเพิ่มคุณค่าทางสารอาหาร เช่น ในเดือนสิงหาคม 2566 แบรนด์ Woh Hup ได้เปิดตัวบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบไม่ทอดรสชาติที่ได้รับอิทธิพลรสชาติแบบจีน เช่น บะหมี่รส Dried Sichuan Pepper, Dried Shanghai Scallion และ Dried Shanxi Spicy Oil หรือบริษัท Hiap Giap Food Manufacturing เปิดตัวบะหมี่เพื่อสุขภาพ Good Gut  ที่อุดมไปด้วยแลคโตบาซิลลัสและสารอาหารนานาชนิด ทั้งใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย เพื่อเป็นการสนับสนุนสุขภาพทางเดินอาหารที่ดี โดยทางแบรนด์กล่าวว่า การบริโภคบะหมี่ Good Gut หนึ่งซอง เทียบเท่ากับการบริโภคนมเปรี้ยว (Culture Milk) ที่มีแบคทีเรียดีถึงหนึ่งพันล้านตัว

หลายๆ บริษัทยังได้เปิดตัวส่วนผสมใหม่ๆ เพื่อสร้างตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพ เช่น แบรนด์ Koka ซึ่งเป็นแบรนด์ผู้บุกเบิกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพเปิดตัวบะหมี่อบมัลติเกรนพร้อมข้าวโอ๊ตและข้าวบาร์เลย์ในเดือนกันยายน 2565 เส้นบะหมี่มีธัญพืชไม่ผ่านการขัดสี หรือโฮลเกรนสูงกว่า (ตอบสนองความต้องการต่อวันถึง 23%) มีเกลือน้อยกว่า และมีปริมาณไขมันต่ำกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วไปถึง 60% นอกจากนี้ แบรนด์ Koka ยังได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเปิดตัวรสชาติใหม่ เช่น Yuzu Miso และเห็ด Truffle เข้าไปในสินค้ากลุ่มบะหมี่ข้าวสาลีสีม่วง ซึ่งมีสารแอนโทไซยานิน หรือสารต้านอนุมูลอิสระธรรมชาติที่อยู่ในเมล็ดข้าวสาลีสีม่วง

แนวโน้มการดูแลสุขภาพจะช่วยสนับสนุนการขยายผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย และจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าการขายของสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปผ่านนวัตกรรมต่างๆ และเป็นการทำให้สินค้ามีความพรีเมี่ยมมากขึ้น เพราะผู้บริโภคโดยทั่วไปมองว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แคลอรี่และโซเดียมสูงจากผงปรุงรส ดังนั้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพจะเข้ามารองรับการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของผู้บริโภค

2.2 สินค้าข้าว

ในส่วนของสินค้าข้าว สืบเนื่องมาจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนในประเทศผู้ผลิตข้าว เช่น จีนและปากีสถาน ได้ส่งผลกระทบต่ออุปทานข้าวทั่วโลก นอกจากนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ซึ่งส่งผลให้สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งยิ่งขึ้นมาสู่เอเชียแปซิฟิก คาดว่าจะส่งผลเสียต่อแหล่งผลิตข้าวอื่นๆ อีกหลายภูมิภาค โดยประเทศไทยได้เตือนถึงภาวะภัยแล้งแล้วในต้นปี 2567 นอกจากนี้ อินเดีย ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกได้สั่งห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่
บาสมาติ ในเดือนกรกฎาคม 2566 หลังจากการห้ามส่งออกข้าวหักก่อนหน้านี้ในปี 2565 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศ รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ทำงานร่วมกับทางการอินเดียเพื่อให้ได้รับการยกเว้นจากการห้ามส่งออกดังกล่าว ซึ่งถือว่าสิงคโปร์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้รับการยกเว้นในเดือนสิงหาคม 2566 โดยสิงคโปร์ได้รับโควตาการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติจำนวน 50,000 ตัน ซึ่งจะเป็นการช่วยสถานการณ์การจัดหาข้าวในสิงคโปร์ เนื่องจากอินเดียคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าข้าวของสิงคโปร์ประมาณ 40%

ข้าวเป็นอาหารหลักที่ไม่สามารถทดแทนได้ง่าย ดังนั้นรัฐบาลสิงคโปร์จะยังคงรักษาความมั่นคงทางอาหารผ่านการกระจายแหล่งนำเข้าและการสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตที่แน่นแฟ้นกับหลายประเทศ เพื่อป้องกันความผันผวนของราคาสินค้าจำเป็น โดยเฉพาะตลาดที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลักอย่างสิงคโปร์

  1. แบรนด์สินค้าข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว และพาสตา ในสิงคโปร์ในปี 2566 สินค้าข้าว แบรนด์ Songhe และ Royal Umbrella ได้มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดอยู่ที่ 16.6% และ 16% ตามมาด้วยแบรนด์ของซูเปอร์มาร์เก็ต FairPrice อยู่ที่ 13.9% Golden Eagle 6.5% และ Flying Man 4.1% ในส่วนของเส้นก๋วยเตี๋ยวประกอบไปด้วย Myojo 3.5% Nissin 2.9% และ Maggi 1.7%ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นสคต.

    สินค้าข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว/บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และพาสตา เป็นหนึ่งในอาหารหลักในความมั่นคงด้านอาหาร ข้าวเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของไทย ซึ่งสิงคโปร์นำเข้าหลักๆ จากไทย และมีคู่แข่งในตลาดอย่างอินเดีย และเวียดนาม ปัจจัยในด้านราคาเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้นำเข้าสิงคโปร์ให้ความสำคัญ ในขณะเดียวกัน สินค้าข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว / บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และพาสตาเพื่อสุขภาพเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่มีโอกาสขยายตัวได้ในตลาดสิงคโปร์เช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาความต้องการและแนวโน้มของตลาดเป้าหมายเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งศึกษาข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์[1] เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

    ที่มาข้อมูล : Euromonitor

    [1] กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์ – https://www.sfa.gov.sg/food-import-export/commercial-food-imports

thThai