แบรนด์ผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศจีนกำลังเป็นที่นิยมในการใช้ทำเครื่องดื่มในประเทศมาเลเซีย

ที่มา : สำนักข่าว Minime Insights

ร้านค้าต่างๆ ในประเทศมาเลเซียที่จำหน่ายน้ำมะพร้าวและน้ำกะทิในรูปแบบแพ็กเกจสำเร็จรูปต่างมียอดขายที่เพิ่มขึ้นจากกระแสความนิยมของเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของมะพร้าวจากประเทศจีนที่กำลังมาแรง ณ ขณะนี้ โดยร้านกาแฟต่างๆ ในประเทศมาเลเซียอาทิเช่นร้าน ZUS Coffee หรือร้าน Gigi Coffeeที่อยู่ในแวดวงการบริการอาหารและเครื่องดื่มในประเทศมาเลเซียก็ต่างได้รังสรรค์และนำเสนอเครื่องดื่มประเภทใหม่ที่มีส่วนผสมจากมะพร้าวเป็นหลักอันเนื่องมาจากรสสัมผัสที่หนานุ่มและเข้มข้น

ความสนใจของผู้บริโภคที่มีต่อเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากมะพร้าวดังกล่าวจึงได้ส่งผลต่อยอดขายของแบรนด์น้ำมะพร้าวและน้ำกะทิจากประเทศจีนมากยิ่งขึ้นในประเทศมาเลเซียอาทิเช่นแบรนด์ Freenow (จัดจำหน่ายโดย K3 F&B Sdn. Bhd.) และแบรนด์ Coloryeah (จัดจำหน่ายโดย Golden Choice Marketing Sdn. Bhd.)

แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไปสำหรับตลาดเครื่องดื่มประเภทนี้?

          จากงาน International Café and Beverage Show 2024 ที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมกัวลาลัมเปอร์ (KL Convention Centre) ที่ผ่านมานั้น ตัวแทนจากแบรนด์น้ำมะพร้าว Freenow ได้กล่าวถึงแนวคิดในการส่งเสริม “เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ” ของแบรนด์ซึ่งมีส่วนผสมของมะพร้าวที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคซึ่งแนวโน้มดังกล่าวนี้จะเกี่ยวข้องกับการใช้น้ำมะพร้าวและน้ำกะทิแบบไม่มีน้ำตาลในการรังสรรค์เครื่องดื่มเพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ยังคงอยู่ในแวดวงของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม แบรนด์มะพร้าวในท้องถิ่นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็วและหันมาและตอบรับแนวโน้มความต้องการของเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมจากมะพร้าวให้ทันท่วงที

บทวิเคราะห์ผลกระทบ

          ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเป็นลำดับต้นๆ ของโลกจากข้อมูลปี 2565 นั้น ประเทศไทยมีสัดส่วนร้อยละ 12.6 ของประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวรายใหญ่ของโลก โดยการเติบโตของตลาดในประเทศมาเลเซียที่มีผลิตภัณฑ์มะพร้าวและน้ำกะทิจากประเทศจีนนั้นอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ประกอบการในไทยในด้านการส่งออกที่อาจไม่สูงเท่าประเทศจีน แต่อย่างไรก็ตามอาจมีผลดีต่อประเทศไทยในด้านการค้าและการลงทุน

จากการที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวและน้ำกะทิซึ่งสังเกตได้จากปริมาณการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก หากประเทศไทยสามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าในประเทศมาเลเซียผ่านกลยุทธ์ต่างๆ อาทิเช่น การเพิ่มสูตรพิเศษของผลิตภัณฑ์น้ำกะทิเพื่อบาริสต้าและ/ หรือการชงเครื่องดื่มโดยเฉพาะ และทำการส่งออกมะพร้าวทั้งลูกสำหรับการผลิตภายในประเทศ อาจสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกซึ่งจะเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการส่งออกน้ำมะพร้าวและน้ำกะทิและการลงทุนของประเทศไทยในอนาคตได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

 

ความคิดเห็น สคต.

          จากการใช้สิทธิประโยชน์ความตกลง FTA ใน 5 เดือนแรกของปีพ.ศ. 2566 สินค้ามะพร้าวไทยซึ่งเป็นมะพร้าวทั้งกะลาได้ขยายตัวสูงในประเทศจีนโดยมีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 187.91 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มสูงถึงร้อยละ 26.96 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า กอปรกับการที่ประเทศมาเลเซียนิยมนำเข้ามะพร้าวจากไทยและนำมาผลิตเอง จะเป็นการดีมากหากชาวสวนและผู้ประกอบการเกี่ยวกับมะพร้าวในประเทศไทยทำการส่งออกมะพร้าวมากยิ่งขึ้นไปยังสองประเทศนี้เนื่องจากมะพร้าวในประเทศไทยมีสายพันธุ์ที่หลากหลายและคุณภาพสูง โดยดำเนินวิธีการภายใต้การใช้สิทธิประโยชน์ความตกลง FTA
ทั้งในความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนและความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA)

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

thThai