ภาพรวมตลาดอาหารเสริมในสหรัฐฯ

มูลค่าอุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐฯ ปี 2566 อยู่ที่ 36,036.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตจาก 34,954.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมเติบโต ได้แก่ จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ตระหนักรู้ในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ และต้องการอาหารเสริมสำหรับการออกกำลังกายมากขึ้น

 

ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแบ่งตามส่วนผสมสำคัญ

อุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐฯ

ที่มา: Grand View Research

สำหรับอุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐฯ สามารถแบ่งได้ตามส่วนผสมสำคัญของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ วิตามิน สารสกัดจากธรรมชาติ แร่ธาตุ โปรตีนและกรดอะมิโน ไฟเบอร์ กรดไขมันโอเมก้า โพรไบโอติก และอื่นๆ อาหารเสริมหลักในสหรัฐฯ ปี 2565 คือ วิตามิน ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดถึงร้อยละ 30.11 ของยอดขายอาหารเสริมทั้งหมด เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะได้รับสารอาหารจากมื้ออาหารประจำวันไม่เพียงพอ และผู้สูงอายุในสหรัฐฯ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคุณสมบัติของวิตามินจะช่วยป้องกันโรคและบำรุงสุขภาพ อาทิ ภูมิคุ้มกัน กระดูก การทำงานของสมอง เป็นต้น โดยเฉพาะวิตามิน A B C และ D ที่เป็นที่นิยมของวัยทำงานและนักกีฬา อย่างไรก็ดี โพรไบโอติกและกรดไขมันโอเมก้ามีแนวโน้มเติบโตสูง เนื่องจากโพรไบโอติกจะช่วยจัดการปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร และยังเป็นประโยชน์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน

 

ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแบ่งตามรูปแบบ

อุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐฯที่มา: Grand View Research

 

ส่วนแบ่งการตลาดตามรูปแบบของผลิตภัณฑ์ปี 2565 พบว่าอาหารเสริมที่อยู่ในรูปแบบแคปซูลเป็นรูปแบบหลักที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันนิยมบริโภค หรือคิดเป็นร้อยละ 30.3 ของยอดขายทั้งหมด เนื่องจากความสะดวกในการบริโภคและแคปซูลเป็นรูปแบบที่สามารถปกป้องสารสกัดจากแสง ความชื้น และออกซิเจนเพื่อรักษาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ได้ นอกจากนี้ อาหารเสริมที่อยู่ในรูปแบบเยลลี่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้บริโภคชาวอเมริกันบางกลุ่มที่ไม่ชอบรับประทานในรูปแบบเม็ด อย่างไรก็ดี รูปแบบเยลลี่เริ่มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ ด้วย เนื่องจากรูปแบบเยลลี่ทำให้ดูน่าบริโภคและย่อยง่าย จากผลสำรวจของ The Harris Poll ปี 2565 พบว่าร้อยละ 28 ของชาวอเมริกันเคยรับประทานวิตามินในรูปแบบเยลลี่ และมีร้อยละ 53 ของชาวอเมริกันที่รับประทานวิตามินในรูปแบบเยลลี่ทุกวัน

 

ข้อมูลผู้บริโภคชาวอเมริกัน

เมื่อพิจารณาข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอเมริกันต่ออาหารเสริมในสหรัฐฯ ปี 2565 พบว่าเป็นผู้บริโภคในวัยผู้ใหญ่มากที่สุดถึงร้อยละ 46.23 ของผู้บริโภคชาวอเมริกันทั้งหมดเนื่องจากความตระหนักเรื่องสุขภาพ รวมทั้งผู้ออกกำลังกายมักนิยมบริโภคอาหารเสริมประเภทโปรตีนเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ ควบคุมพลังงานและน้ำหนัก และฟื้นฟูสภาพร่างกาย นอกจากนี้ พบว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันเพศหญิงมีแนวโน้มบริโภคอาหารเสริมเพื่อรักษาสุขภาพและสร้างพฤติกรรมที่ดีมากกว่าเพศชาย

 

การบริโภคอาหารเสริมของชาวอเมริกัน

ปี 2564 ผลสำรวจของสมาคมผู้ค้าอาหารเสริม (Council for Responsible Nutrition) พบว่าร้อยละ 80 ของชาวอเมริกันรับประทานอาหารเสริมเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากปี 2563 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้โภคชาวอเมริกันหันมาบริโภคอาหารเสริม คือ เพื่อรักษาสุขภาพเชิงป้องกันโรค

 

เมื่อพิจารณาตามคุณประโยชน์ของอาหารเสริมพบว่าเป็นการบริโภคเพื่อการดูแลสุขภาพทั่วไปอยู่ที่ 3,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อบำรุงระบบทางเดินอาหารอยู่ที่ 2,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 2,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ชาวอเมริกันมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น เนื่องจากไลฟ์สไตล์ที่มีการเคลื่อนไหวน้อย และมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เป็นเวลา ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ โดยเฉพาะชาวอเมริกันช่วงอายุ 30 – 40 ปี จึงทำให้ชาวอเมริกันต้องการอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย

 

ในปี 2565 Glanbia Nutritionals บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านสารอาหารพบว่าอาหารเสริมที่มีคุณประโยชน์เรื่องการปรับอารมณ์และทำให้ผ่อนคลายมีการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 62 จากปีก่อนหน้า อาหารเสริมที่มีคุณประโยชน์เพื่อเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกายเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 และอาหารเสริมที่มีคุณประโยชน์เพื่อช่วยเรื่องสุขภาพทางเพศเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 นอกจากนี้ ยังพบว่าอาหารเสริมที่มีคุณประโยชน์ในการช่วยเรื่องสติปัญญาและการนอนไม่หลับเป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาใหม่ในตลาดและมีแนวโน้มเติบโตสูง

 

ช่องทางการจัดจำหน่าย

ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลักในสหรัฐฯ ปี 2565 มาจากการจำหน่ายผ่านช่องทางจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ (Over-the-Counter: OTC) ร้อยละ 85.17 ซึ่ง OTC คือการที่ผู้บริโภคสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ได้เองโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ ซึ่งแรงขับเคลื่อนของยอดขายที่จำหน่ายผ่าน OTC คือ ผู้บริโภคต้องการดูแลตัวเอง และการเติบโตของการซื้อขายออนไลน์ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารเสริมได้ง่ายขึ้น

 

เมื่อพิจารณาช่องทางการจำหน่ายจากประเภทออฟไลน์และออนไลน์พบว่า อุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐฯ ได้ใช้ช่องทางการขายแบบออฟไลน์เป็นช่องทางหลักในการกระจายสินค้าคิดเป็นร้อยละ 78.13 ของยอดขายทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้สูงอายุชาวอเมริกันนิยมซื้ออาหารเสริมผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายแบบดั้งเดิม เนื่องจากไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี

 

สำหรับการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เร่งการเติบโตของการซื้อของออนไลน์ จากการสำรวจของ Nutrition Business Journal พบว่ายอดขายออนไลน์ปี 2563 อยู่ที่ 14,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 จากปีก่อนหน้า ซึ่งการเสนอส่วนลดของผู้ขายออนไลน์ ความสะดวกสบายของการซื้อของออนไลน์ที่มีสินค้าพร้อมจำหน่ายตลอด 24 ชั่วโมงเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตของช่องทางออนไลน์

 

สิ่งที่ควรรู้ก่อนนำผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเข้ามาขายในตลาดสหรัฐฯ

องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration: FDA) เป็นหน่วยงานรัฐบาลกลางที่กำกับดูแลเรื่องอาหารเสริมและยา อย่างไรก็ดี อาหารเสริมเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมจากมื้ออาหารหลัก ไม่ใช่ยา และไม่มีวัตถุประสงค์ในการรักษา วินิจฉัย บรรเทา ป้องกัน หรือรักษาโรค จึงทำให้กฎระเบียบในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแตกต่างจากยา

 

ผู้ผลิตยาจะต้องได้รับการรับรองจาก FDA ก่อนการวางจำหน่าย แต่สำหรับผู้ผลิตอาหารเสริมไม่ต้องขอการรับรองจาก FDA เพื่อวางจำหน่ายในตลาด แต่ผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบหลักเกณฑ์การปฏิบัติที่ดีในการผลิตปัจจุบัน (Good Manufacturing Practices: GMPs) ที่ FDA กำหนด พร้อมกับมีหลักฐานว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและฉลากของผลิตภัณฑ์ไม่มีการกล่าวอ้างที่เกินจริง ซึ่งหากผลิตภัณฑ์ไม่ได้มีสารตัวใหม่เป็นส่วนผสม ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลกับ FDA ก่อนการวางจำหน่าย

 

หลักเกณฑ์ GMP คือ การตรวจสอบการผลิตของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัย เช่น การตรวจสอบแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัย การออกแบบและการก่อสร้างโรงงาน การควบคุมการผลิต เป็นต้น เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของส่วนผสมที่เป็นอันตรายหรือการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ จะต้องมีการติดฉลากของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม เช่น ส่วนผสม จำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำ เป็นต้น และหากฉลากมีการกล่าวอ้างที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ฉลากจะต้องมีข้อความ “This statement has not been evaluated by the Food and Drug Administration. This product is not intended to diagnose, treat, cure, or prevent any disease.”

 

อุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้ ผู้ผลิตอาหารเสริมสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบกับองค์กรอิสระที่ให้บริการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ ได้แก่ บริษัท ConsumerLab.com บริษัท NSF International และบริษัท U.S. Pharmacopeia เพื่อรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมีการผลิตที่เหมาะสม มีส่วนผสมตรงกับฉลาก และไม่มีสารปนเปื้อนในระดับที่อันตราย อย่างไรก็ดี การทดสอบคุณภาพดังกล่าวไม่ได้รับประกันว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้าง

 

อย่างไรก็ดี FDA จะตรวจสอบเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายหรือผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณที่เกินจริง หาก FDA ตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัย FDA มีอำนาจในการนำผลิตภัณฑ์ออกจากตลาดหรือแจ้งให้ผู้ผลิตเรียกคืนผลิตภัณฑ์โดยสมัครใจ ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐฯ (Federal Trade Commission) จะตรวจสอบการโฆษณาของผลิตภัณฑ์ว่ามีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่

 

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

การบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริมได้เป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของชาวอเมริกันเพื่อช่วยเสริมสารอาหารที่ได้รับในมื้ออาหารประจำวันไม่เพียงพอ ซึ่งวัยผู้ใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักเนื่องจากมีการเคลื่อนไหวระหว่างวันน้อยและรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ประกอบกับความตระหนักเรื่องการดูแลสุขภาพ จึงทำให้อุตสาหกรรมอาหารเสริมในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกไทยในการเสนอผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในตลาดสหรัฐฯ ที่มีข้อได้เปรียบในเรื่องชื่อเสียงและความเป็นเอกลักษณ์ของสมุนไพร ซึ่งข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารเสริมจะเป็นแนวทางให้แก่ผู้ประกอบการศึกษาพฤติกรรมและความชื่นชอบของผู้บริโภคชาวอเมริกัน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกันให้มีประสิทธิภาพในการขยายตลาดสหรัฐฯ ต่อไป

 

 

ข้อมูลอ้างอิง: Grand View Research, Glanbia Nutritionals,

U.S. Department of Health & Human Services, Euromonitor

thThai