“เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก EP27 เรื่อง อาหารเอเชียก้าวสู่ตลาดกระแสหลักในสหรัฐฯ

 

การโยกย้ายถิ่นฐานของชาวเอเชียไปอยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันคุ้นเคยและเลือกที่จะบริโภคอาหารเอเชียเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลดีต่อการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกสินค้าเอเชียในสหรัฐฯ อีกทั้ง ยังจะมีส่วนช่วยยกระดับสินค้าอาหารเอเชียในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมค้าส่งค้าปลีกสินค้าอาหารเอเชียในระยะยาว

 

ปัจจัยด้านพฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกันในตลาดปัจจุบัน ที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลทำให้กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าอาหารเอเชียในสหรัฐฯ พัฒนารูปแบบธุรกิจ จากเดิมที่เป็นเพียงสำหรับกลุ่มผู้บริโภคชาวเอเชียโดยเฉพาะ (Niche Market) ปรับตัวไปสู่ตลาดกระแสหลัก (Mainstream) สำหรับผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ ในตลาดด้วย

 

โดยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นหนึ่งในสินค้าอาหารเอเชียที่เป็นที่นิยมในสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมาเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ Shin Ramyun ของบริษัท Nongshim สัญชาติเกาหลี ซึ่งมีบรรจุภัณฑ์สีแดงดำสะดุดตา มียอดจำหน่ายในสหรัฐฯ มากถึง 500 ล้านซอง โดยมีวางจำหน่ายทั่วสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นตามหอพักมหาวิทยาลัย ร้านของชำ และตามซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป นอกจากนี้ ยังถูกพูดถึงบ่อยในสื่อสังคมออนไลน์ในสหรัฐฯ อีกด้วย โดยเฉพาะในแอพลิเคชั่น Tik Tok ที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ในปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ Mr. Kevin Chang ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบริษัท Nongshim เจ้าของแบรนด์ Shin Ramyun กล่าวว่า เมื่อ 30 ปีก่อนในตลาดสหรัฐฯ แทบจะไม่มีใครรู้จักและสนใจจำหน่ายสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเลย โดยสินค้ามีวางจำหน่ายเพียงตามร้านขายของชำเกาหลีเล็กๆ ใน เมือง Woodside เขต Queens ในรัฐนิวยอร์กเท่านั้น ซึ่งร้านเหล่านั้นได้ขยายกิจการเป็นห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต H Mart ในปัจจุบัน

 

ในช่วงยุค 70 และ 80 มีชาวเอเชียจำนวนมากหลั่งไหลอพยพไปตั้งรกรากในสหรัฐฯ จึงทำให้กำลังความต้องการบริโภคสินค้าอาหารเอเชียขยายตัวมากขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคเหล่านี้ต่างต้องการบริโภคอาหารที่ทำให้รู้สึกใกล้บ้าน จึงเป็นจุดกำเนินของผู้ค้าปลีกสินค้าเอเชียรายใหญ่ในตลาดสหรัฐฯ เช่น ห้าง H Mart ห้าง Patel Brothers และห้าง 99 Ranch Market เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันร้านค้าปลีกเหล่านี้ได้ขยายเพิ่มจำนวนสาขาครอบคลุมทั่วสหรัฐฯ อีกทั้ง ยังได้ยกระดับคุณภาพและการให้บริการจำหน่ายสินค้าเทียบเท่ากับร้านค้าปลีกชั้นนำในสหรัฐฯ เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่สนใจบริโภคสินค้าอาหารเอเชียใหม่ๆ มากขึ้น เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, พริกแห้งขบเคี้ยว, เครื่องเทศ Chaat Masala และชาชัย (Chai Tea) เป็นต้น

 

โดยปัจจุบันห้าง H Mart มีทั้งสิ้น 96 แห่งในสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยล่าสุดในปีที่ผ่านมา บริษัทเพิ่งจะลงทุนซื้ออาคารพาณิชย์ในนครซานฟรานซิสโกเพื่อขยายกิจการเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ห้าง Patel Brothers มีทั้งสิ้น 52 แห่งครอบคลุม 20 รัฐในสหรัฐฯ อีกทั้ง ยังมีแผนจะขยายกิจการเพิ่มขึ้นอีก 6 แห่งภายใน 2 ปีข้างหน้า (ด้วย) ส่วนบริษัท 99 Ranch มีทั้งสิ้น 62 แห่งครอบคลุม 11 รัฐในสหรัฐ หลังจากที่ได้ขยายกิจการเพิ่ม 4 แห่งในปีที่ผ่านมา สำหรับบริษัท Weee! ผู้ค้าปลีกสินค้าอาหารเอเชียผ่านช่องทางออนไลน์รายใหญ่ในสหรัฐฯ มีมูลค่าตลาดทั้งสิ้น 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน

 

อาหารเอเชียในสหรัฐฯ ได้พัฒนาจากการเป็นเพียงกลุ่มอาหารพิเศษ (หรือ Specialty Foods) ไปสู่กลุ่มอาหารหลัก (หรือ Staple Foods) ในปัจจุบัน แม้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีกสินค้าอาหารเอเชียในสหรัฐฯ จะมีสัดส่วนตลาดไม่ถึงร้อยละ 1 ของมูลค่าตลาดค้าปลีกสินค้าอาหารทั้งหมดของสหรัฐฯ ที่มีห้างสรรพสินค้า Kroger และห้างสรรพสินค้า Walmart ผู้นำตลาดรายใหญ่ แต่แนวโน้มดังกล่าวก็กดดันให้กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกอาหารรายใหญ่ในสหรัฐฯ ต้องปรับตัววางจำหน่ายสินค้าอาหารเอเชียภายในร้านเพิ่มมากขึ้น

 

จากข้อมูลรายงานบริษัท Circana ผู้สำรวจตลาดพบว่า ในระหว่างเดือนเมษายนในปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนเมษายนปีนี้ ยอดจำหน่ายสินค้าอาหารเอเชียตามห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตกระแสหลักในสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวเกือบ 4 เท่าซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวของยอดจำหน่ายทั้งหมด อีกทั้ง ยังพบว่าแนวโน้มดังกล่าวยังขยายตัวไปสู่กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร หนังสือหรือวีดีโอออนไลน์สอนทำอาหาร รวมถึงร้านของชำสินค้าอาหารเอเชียด้วย อีกทั้ง Mr. Errol Schweizer อดีตรองประธานฝ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ห้าง Whole Foods Market (ในช่วงปี 2009 – 2016) ยังได้เคยกล่าวว่า สินค้าอาหารเอเชีย เช่น มิโซ กีห์ (เนยใส) ขมิ้นชัน และซอสถั่วเหลือง จะกลายเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการห้างค้าปลีกกระแสหลักในอนาคตอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีสัดส่วนผู้บริโภคที่ไม่ใช่ชาวเอเชียเลือกซื้อสินค้าตามห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตเอเชีย เช่น ห้าง H Mart และห้าง Patel Brothers สูงถึงร้อยละ 20 – 30 เลยทีเดียว ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต่างมุ่งพัฒนาปรับปรุงร้านให้สะอาด จัดวางสินค้าเป็นระเบียบ และลงทุนกับระบบเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อแข่งขันกับห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตกระแสหลักในตลาด

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนประชากรชาวเอเชียในสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 17.32 ล้านคน หรือร้อยละ 5.6 ของประชากรทั้งหมดของสหรัฐฯ ในปี 2553 เป็น 23.50 ล้านคน หรือร้อยละ 7.1 ของประชากรทั้งหมดของสหรัฐฯ ในปี 2563 คิดเป็นอัตราการขยายตัวราวร้อยละ 35.68 นอกจากนี้ ยังคาดว่า จำนวนประชากรชาวเอเชียในสหรัฐฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 46 ล้านคนในปี 2603 อีกด้วย

 

ทั้งนี้ ประชากรชาวเอเชียได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับระดับการศึกษาและรายได้ที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันรายได้ครอบครัวเฉลี่ยของชาวเอเชียในสหรัฐฯ สูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมของสหรัฐฯ ถึงราวร้อยละ 40 นอกจากนี้ กลุ่มประชากรชาวเอเชียยังมีพฤติกรรมยึดติดกับการรับประทานอาหารตามพื้นเพวัฒนธรรมของตน

 

พฤติกรรมการบริโภคของชาวอเมริกันรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่เปิดใจรับวัฒนธรรมใหม่ๆ ทำให้มีความสนใจทดลองรับประทานอาหารเอเชียมากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวส่งผลทำให้มีกำลังความต้องการบริโภคสินค้าอาหารเอเชียมากขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมค้าปลีกสินค้าอาหารเอเชียในสหรัฐฯ รวมถึงการส่งออกสินค้าอาหารไทยซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของไทยในตลาดสหรัฐฯ

 

ในระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน 2567 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.29 นำเข้าจากไทยเป็นมูลค่า 1.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 5.21 อันดับที่ 15 มีสัดส่วนร้อยละ 1.62 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด สินค้าส่งออกหลักของไทยยังคงเป็นกลุ่มสินค้าอาหารทะเลและอาหารทะเลแปรรูป ข้าว ธัญพืช และวัตถุดิบการปรุงอาหาร เช่น ซอสปรุงรส เครื่องแกง และกะทิ เป็นต้น

 

โดยรวมสหรัฐฯ ยังถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารเอเชียที่มีศักยภาพสูงและเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารรายการใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารภูมิภาคแต่ละท้องถิ่นและอาหารแนวสตรีทฟู้ด ปัจจุบันที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันสนใจบริโภคมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคมากขึ้น ดังนั้น การเลือกใช้สื่อ เช่น ภาพยนตร์ ซีรีย์ สื่อสังคมออนไลน์ และผู้มีอิทธิพลทางสื่อสังคมออนไลน์ อย่างเหมาะสมน่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดกระแสความต้องการบริโภคสินค้าอาหารไทยเพิ่มขึ้นได้ ดังเช่น ในช่วงที่ภาพยนตร์ Spider – Man ภาค Homecoming ออกฉาย ที่มีฉากตัวละครเอกไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารไทยและได้พูดถึงลาบ จนทำให้ลาบเป็นที่รู้จักในกลุ่มชาวอเมริกันเป็นวงกว้างในปัจจุบันครับ

 

รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถรับชมได้ทางช่องทางพอดแคส “เล่าข่าวการค้า” โดย สคต. ชิคาโก https://youtu.be/wKUUvuXZfYs

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

thThai