ข่าวดี! การลงทุนไทยในสเปนขยายตัว
เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา นายหลุยส์ มิเกล กอนซาเลซ (Luis Miguel González) ที่ปรึกษาประธานแคว้น กัสติญ่าและเลออน (Castilla y León) นำคณะผู้บริหารแคว้นแสดงความยินดีกับนางสาวจันทร์เพ็ญ เจียมสมัย และนายอุดมศักดิ์ โลหชิตพิทักษ์ ผู้บริหารบริษัท เจียมพัฒนาฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ จำกัด ในโอกาสเปิดตัวพื้นที่โรงไวน์แห่งใหม่ของ DISCOLO ณ เมือง El Pego จังหวัด Zamora ในภูมิภาค Toro ซึ่งเป็นการขยายธุรกิจไวน์เพื่อรองรับการผลิตที่เพิ่มขึ้นและขยายบทบาทสู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่นทั้งในด้านการเกษตร การพลิกฟื้นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว นับเป็นการลงทุนระหว่างประเทศรายที่ 4 ของไทยในสเปน
ผู้บริหารแคว้น Castilla y León ชื่นชมความร่วมมือไทย-สเปน หวังเพิ่มจำนวนการลงทุนร่วม
นายกอนซาเลซ ที่ปรึกษาประธานแคว้นกัสติญ่าและเลออน แสดงความยินดีกับโรงไวน์แห่งใหม่ที่ บริษัท เจียมพัฒนาฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ จำกัด ร่วมลงทุน พร้อมขอบคุณที่ไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของแคว้น อีกทั้งยกย่องผู้ประกอบการไทยที่ช่วยมีส่วนในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในชนบท และหยั่งรากลึกลงไป ทำให้อุตสาหกรรมไวน์สามารถดึงดูดวัยทำงานคนรุ่นหนุ่มสาวให้ได้มีอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดี ผสมผสานประเพณีและเทคโนโลยีความทันสมัยเข้าด้วยกันนำไปสู่การส่งเสริมภาคเกษตรกรรมและการท่องเที่ยวในภูมิภาคได้อย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากนี้ นายกอนซาเลซ ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของภาคการเกษตรโดยเฉพาะอุตสาหกรรมไวน์ว่า “ไวน์เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดวัฒนธรรมสู่โลก และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของแคว้น เนื่องจากร้อยละ 3.1 ของ GDP ภายใน Castilla y León มาจากการผลิตไวน์โดยตรง สร้างรายได้ 1,000 ล้านยูโรต่อปี มีการเพาะปลูกบนพื้นที่ 83,000 เฮกเตอร์ หรือประมาณเกือบ 520,000 ไร่ และยังสร้างงานให้ประชาชนได้มากกว่า 33,000 ราย”
เกี่ยวกับไวน์ DISCOLO
โรงไวน์แห่งนี้เป็นการลงทุนร่วมระหว่าง บริษัท เจียมพัฒนาฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร เจ้าของร้าน Bodegas Wine ประเทศไทย และพันธมิตรชาวสเปนผู้คร่ำหวอดในวงการไวน์ตระกูล Somoza de la Peña, Sánchez Maillo, Sánchez Monje ตั้งแต่ปี 2008 ปัจจุบันมีไร่ไวน์ 10 แห่งบนพื้นที่ 20.5 เฮกเตอร์ หรือกว่า 128,000 ไร่ มุ่งเน้นคุณภาพสำหรับตลาดกลางถึงบน ใช้เทคโนโลยีทันสมัยผสมผสานกับทักษะการทำไวน์ชั้นสูงแบบดั้งเดิม สายพันธุ์องุ่นในแปลงของ DISCOLO ได้แก่ Tinta de Toro, Verdejo และ Malvasia ที่มีอายุระหว่าง 3 ถึง 140 ปี ในส่วนอาคารที่เปิดใหม่นั้น มุ่งให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เปิดให้เข้าเยี่ยมชมและชิมไวน์ได้ด้วย ถูกออกแบบให้สะดุดตาด้วยเส้นสายเรียบง่ายทันสมัยแต่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่โดยนาย Paco Somoza สถาปนิกชื่อดังของเมืองหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมทุน
โตโร่ (Toro) ถิ่นองุ่นพันธ์ดีดั้งเดิมของสเปนที่คอไวน์ต้องทำความรู้จัก
Toro เป็นเมืองผลิตไวน์ที่เก่าแก่แห่งหนึ่งในสเปน เชื่อกันว่ามีการเริ่มปลูกไวน์ในเขตนี้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสต์ศักราชโดยองุ่นที่มีชื่อเสียงคือ Tinta de Toro (ตินตา เดอ โตโร่) Tempranillo (เทมปรานีลโญ่) โดย Toro ได้รับการประกาศเป็น DO ครั้งแรกในปี 1933 ก่อนจะถูกถอดออกระหว่างภาวะสงครามในช่วงปี 1936-1939 เนื่องจากผลผลิตและคุณภาพของไวน์ที่ย่ำแย่ลง แต่ Toro ใช้เวลา 50 ปีในการพิสูจน์ตัวเองและกลับมาเป็นผู้ผลิตแถวหน้าของประเทศได้อีกครั้ง พร้อมทั้งได้รับประกาศเป็น DOP ในปี 1987 และกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดในสเปนจวบจนปัจจุบัน
อนึ่ง ประเทศสเปนเป็นประเทศที่มีพื้นที่เพาะปลูกไวน์มากที่สุดในโลก ราว 945,000 เฮกเตอร์ หรือประมาณ 5.9 ล้านไร่ มีโรงไวน์กว่า 4,300 แห่ง และเป็นผู้ผลิตไวน์มากเป็นอันดับที่สามของโลก รองจากฝรั่งเศสและอิตาลี สเปนมีองุ่นมากมายกว่า 235 สายพันธุ์ โดยไวน์ที่ชาวไทยรู้จักมักเป็นไวน์จากแถบ ริโอฆ่า (Rioja) แต่นอกเหนือจากนี้ สเปนยังมีการเพาะปลูกไวน์กระจายอยู่ทั่วประเทศรวมถึงบนหมู่เกาะหลายแห่ง อาทิ ปริโอรัถ (Priorat) นาบาร่า (Navarra) ปาอิส บาสโก้ (Pais Vasco) ริอาส ไบฌัซ (Rias Bixas) เอ๊กซเตรมาดูร่า (Extremadura) อันดาลูเซีย (Andalucia) เกาะลันซารอตเต้ (Lanzarote) ตลอดจนถึง ริเบร่า เดล ดูเอโร่ (Ribera del Duero) และโตโร่ (Toro) ในแคว้นกัสติญ่า และ เลออน ที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำดูเอโร่ (Duero) เส้นเดียวกับที่ไหลต่อไปยังเมืองปอร์โต ของโปรตุเกสนั่นเอง โดยโตโร่ นับเป็นอีกเขตหนึ่งที่ผลิตไวน์แดงที่ดีที่สุดของสเปน
DISCOLO การันตีด้วยรางวัลระดับโลก
ไวน์ของ DISCOLO ได้รับการยกย่องจากผู้เชี่ยวชาญในวงการไวน์และช่วงชิงรางวัลระดับโลกมาได้หลายรางวัล ล่าสุด เหรียญทองดีแคนเตอร์ปี 2024 จึงการันตีได้ถึงรสชาติที่เป็นสากลและมีคุณภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นไวน์ออร์แกนิกไม่ใช้สารเคมีที่ทำร้ายระบบนิเวศน์ด้วย
ข้อคิดเห็นของ สคต.
สคต. เห็นว่าไทยและสเปนยังมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันอีกมาก อาทิ ต่างเป็นประเทศที่มีการทำการเกษตรและเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำผลิตอาหารป้อนภูมิภาคเหมือนกัน มีสินค้าที่ส่งเสริมกันได้ จึงอาจพิจารณาจัดทำความร่วมมือในระดับจังหวัด (รัฐต่อรัฐ) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน อันจะนำไปสู่พันธมิตรทางการค้าที่ยั่งยืนในอนาคต โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สเปนได้ประกาศนโยบายสำคัญในการเพิ่มความเป็นสากล หรือ Internationalize ภาคธุรกิจสเปน รัฐบาลสเปนจึงประสงค์จะผลักดันการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศ ดึงการลงทุน และพร้อมจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ จะเห็นว่ามีหลายประเทศที่เข้ามารุกตลาดสเปนอย่างเข้มข้นทั้งไม่เพียงแต่ด้านการค้า การลงทุน แต่ยังต้องให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและภาษา เพื่อเพิ่มความใกล้ชิดระหว่างกันด้วย
การลงทุนร่วมของ DISCOLO เป็นตัวอย่างที่ดีในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างสองฝ่าย โดยปัจจุบันการร่วมทุนหรือการลงทุนระหว่างไทย-สเปนยังคงมีไม่มากนัก บริษัทไทยที่มีการลงทุนในสเปนมีอยู่เดิม 3 ราย ได้แก่ เครือ Minor ร่วมทุนโรงแรมเครือ NH Hotel บริษัท Indorama Ventures ด้านปิโตรเคมี และ SCGP ซื้อกิจการของบริษัท Delta Lab ซึ่งมีสนง.อยู่ที่นครบาร์เซโลนา ในส่วนบริษัทสเปนที่เข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ บริษัท Herba Ricemills ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากข้าว บริษัท Amadeus ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บริษัท Fagor ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัท Siemens Gamesa ร่วมทุนกับบริษัทกันกุลเอ็นจิเนียริง (ไทย) ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า และบริษัท Indra ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ
ผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายตลาดและขยายการลงทุนในสเปน ควรศึกษาสภาพตลาดและกฎระเบียบให้ถ่องแท้ ในส่วนของการลงทุนในสเปน ผู้ประกอบการสามารถติดต่อสำนักงานส่งเสริมการลงทุนของสเปน หรือ ICEX-Invest in Spain ซึ่งมีสำนักงานอยู่ ณ อาคารเสริมมิตร ประเทศไทย โทร. 02 2589020 , 02 589021 อีเมล์ bangkok@comercio.mineco.es หรือศึกษาเบื้องต้นได้จากคู่มือการดำเนินธุรกิจในสเปนประจำปี ค.ศ. 2023 ซึ่งศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาดริด ได้สรุปไว้บางส่วนเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ในปี 2023 ที่น่าสนใจ ได้แก่ “กฎหมายการจัดตั้งและการขยายตัวของบริษัท (Ley de creación y crecimiento de empresas) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 19 ตุลาคม 2565 เพื่อส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทใหม่และลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบ อาทิ การยกเลิกทุนจดทะเบียนบริษัทขั้นต่ำ 3,000 ยูโร และสนับสนุนการจัดตั้งบริษัทผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กฎหมายส่งเสริมระบบนิเวศบริษัทเกิดใหม่ (Ley de fomento del ecosistema de las empresas emergentes) หรือกฎหมายธุรกิจสตาร์ทอัพ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 โดยเป็นการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ธุรกิจสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็น ภาษี การลดขั้นตอนทางราชการ และการขอมีถิ่นพำนักของนักธุรกิจ/ลูกจ้างต่างชาติ อาทิ 1) การลดอัตราภาษีนิติบุคคลและภาษีสำหรับผู้ไม่มีถิ่นพำนักในสเปน (IRNR) จากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 15 ในระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี และ 2) การลดภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ให้แก่นักลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ เพิ่มเป็นร้อยละ 50 (เดิมร้อยละ 30) เป็นต้น”
ที่มา :
ICEX
Spain.info
VINO DISCOLO และ BODEGAS WINE
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาดริด
www.cyltv.es/videoSH/adcf5545-03ac-46c1-b4db-5b4a63fc1e07/Inauguracion-Bodega-Discolo
www.diariodecastillayleon.es
www.larazon.es
Statista
Winefolly
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด
กรกฎาคม 2567