จากการจัดอันดับประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลกประจำปี 2567 ของ Institute for Management Development (IMD) ระบุว่า สิงคโปร์สามารถกลับมาครองอันดับหนึ่งอีกครั้ง หลังจากที่เคยครองอันดับ 4 ในปี 2566 ตามมาด้วยสวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ และฮ่องกง จากทั้งหมด 67 ประเทศ โดยพิจารณาจากปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับ 4 ประการ ได้แก่
- สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 3 เป็นผลมาจากปัจจัยย่อยด้านราคาที่ตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 62 และการจ้างงานลดมาอยู่อันดับที่ 5
- ประสิทธิภาพภาคธุรกิจ (Business Efficiency) สิงคโปร์มีความโดดเด่นในด้านนี้ด้วยการครองอันดับ 1 เป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานของตลาดแรงงาน ทัศนคติและค่านิยม และแนวปฏิบัติด้านการจัดการที่เลื่อนอันดับขึ้นมา
- ประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency) สิงคโปร์อยู่อันดับ 2 จากเดิมครองอันดับ 7 โดยได้รับแรงส่งจากปัจจัยย่อยด้านกรอบทำงานทางสังคม และการเงินสาธารณะ
- โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) สิงคโปร์ครองอันดับที่ 4 จากเดิมครองอันดับที่ 9 โดยสิงคโปร์มีความโดดเด่นด้านโครงสร้างด้านเทคโนโลยี
รองศาสตราจารย์ Jamus Lim จาก Essec Business School ตั้งข้อสังเกตว่า จุดแข็งแบบดั้งเดิมของสิงคโปร์ที่ขับเคลื่อนประสิทธิภาพโดยรวมอย่างต่อเนื่องอยู่ที่การมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ความสะดวกในการทำธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก แต่ยังมีประเด็นเรื่องค่าครองชีพที่สูงที่สิงคโปร์อยู่อันดับที่ 62 ยังคงเป็นประเด็นที่น่ากังวล รวมไปถึงราคาค่าเช่า ค่าขนส่ง การบริหารค่าตอบแทน ค่าตอบแทนพนักงาน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งต่างมีการเชื่อมโยงทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งจะเป็นความท้าทายสำหรับผู้กำหนดนโยบาย ไม่เพียงเพราะราคาและต้นทุนที่สูงที่จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสิงคโปร์ แต่ยังเป็นผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้คนต่อเศรษฐกิจด้วย
นาย Lawrence Loh ศาสตราจารย์ด้านกลยุทธ์และนโยบายของ NUS Business School ตั้งข้อสังเกตว่า สิงคโปร์มีความโดดเด่นในด้านปัจจัยย่อยที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและแง่มุมทางวัฒนธรรม เช่น ตลาดแรงงานของสิงคโปร์มีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ เช่น การบริหารค่าตอบแทน การมีส่วนร่วมของพนักงาน และการดึงดูดผู้มีความสามารถจากต่างประเทศ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังโดดเด่นในแง่ของทัศนคติและค่านิยม ซึ่งรวมถึงการยอมรับมุมมองเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ความยืดหยุ่น และความสามารถในการปรับตัว พร้อมด้วยระบบคุณค่าที่สนับสนุนความสามารถในการแข่งขัน
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
ประเทศไทยติดอันดับที่ 25 เลื่อนขึ้นมา 5 อันดับจากปี 2566 โดยมี 2 ปัจจัยที่ไทยมีอันดับดีขึ้นในปีนี้คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น 11 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 5 และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจที่ดีขึ้น 3 อันดับ เป็นอันดับที่ 20 โดยมีปัจจัยมาจากการค้าระหว่างประเทศที่ดีขึ้นมาอยู่ในอันดับ 6 ในขณะที่ ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานมีอันดับคงเดิมในอันดับที่ 24 และ 43 ตามลำดับ หากประเทศไทยจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และแข่งกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ประเทศไทยอาจจะต้องจัดการปัญหาการท้าทายด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การศึกษา ที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 54 การจัดการด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 55 เป็นต้น
แหล่งที่มาข้อมูล/ภาพ : https://www.straitstimes.com/business/s-pore-reclaims-top-spot-in-world-competitiveness-ranking-after-three-years https://imd.widen.net/content/rjlc6fl2jl/pdf/booklet_wcy_2024.pdf