สัญญาณทางเศรษฐกิจเช็กปรับตัวดีขึ้น

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 สำนักงานสถิติเช็ก (Czech Statistical Office: CSÚ) เปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกของเดือนพฤษภาคม 2567 ว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน แม้ว่าตัวเลขจะชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนๆ ในการเปรียบเทียบแบบเดือนต่อเดือน โดยยอดขายลดลงร้อยละ 0.1 แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ Jana Gotvaldová หัวหน้าฝ่ายสถิติการค้า การขนส่ง และบริการของ CSÚ กล่าวว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่มีส่วนในการกระตุ้นยอดค้าปลีกคือการค้าออนไลน์ และการสั่งซื้อทางไปรษณีย์ ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 14.5 โดยยอดขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 5 (เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ยาและเวชภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9) ยอดขายอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2

 

Petr Dufek หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Banka Creditas กล่าวถึงยอดขายเครื่องสำอางที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากนัก และในวันนี้ ร้านค้าเหล่านี้มียอดขายสูงกว่าปี 2019 ถึงร้อยละ 30 ในทางกลับกัน ยอดขายเสื้อผ้าและรองเท้าลดลงถึง 1 ใน 4 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน”

 

Tomáš Volf นักวิเคราะห์ของ Citfin กล่าวถึงอีกมุมมองด้านเศรษฐกิจว่า ชาวเช็กระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักมาจากความกังวลอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงินในอนาคต “แม้จะมีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดในสหภาพยุโรป แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะส่งเสริมการใช้จ่ายของครัวเรือน ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อผันผวนระหว่างร้อยละ 2 ถึง 3 และค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่งเริ่มเพิ่มขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้”

 

จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยสำนักงานแรงงาน (ÚP) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 อัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2567 ยังคงทรงตัวที่ร้อยละ 3.6 เช่นเดียวกับในเดือนพฤษภาคม 2567 มีผู้หางานผ่านสำนักงานแรงงานมากกว่า 272,000 คน ซึ่งน้อยกว่าเดือนก่อนประมาณ 1,600 คน จำนวนตำแหน่งงานว่างลดลงเหลือ 263,552 ตำแหน่ง นับเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน โดยมีจำนวนตำแหน่งงานว่างน้อยกว่าผู้หางาน นอกจากนี้ การสำรวจล่าสุดที่จัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษา RSM ครอบคลุมธุรกิจ 350 แห่ง พบว่าร้อยละ 47 ของบริษัทเช็กได้ขึ้นค่าจ้างให้พนักงานแล้วในปีนี้ ในขณะที่อีกร้อยละ 16 กำลังวางแผนที่จะดำเนินการดังกล่าว การสำรวจนี้พบว่าการเพิ่มค่าจ้างอยู่ระหว่างร้อยละ 5 – 10 โดยอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่มีการขึ้นค่าจ้างมากที่สุด ตามมาด้วยภาคการค้าปลีก สำหรับภาคธุรกิจไอทีและเทคโนโลยี การให้คำปรึกษา และการเงิน การเพิ่มอัตราค่าจ้างส่วนบุคคลโดยรวมจะเกินร้อยละ 10 นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่า บริษัทร้อยละ 82 ไม่มีแผนที่จะเลิกจ้างพนักงาน และการเลิกจ้างเกิดขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 7 ของกรณีทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามหากกล่าวโดยสรุป แม้ว่าบริษัทเช็กจะมีการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่แนวโน้มโดยรวมถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง และเป็นความท้าทายอย่างต่อเนื่องของธุรกิจในการสร้างสมดุลระหว่างข้อจำกัดทางการเงินกับการรักษาพนักงานที่พึงพอใจและมีประสิทธิผล โดยมุ่งเน้นการรักษาผู้มีความสามารถโดยไม่ใช้ทรัพยากรทางการเงินมากเกินไป

 

ข้อคิดเห็น/เสนอแนะของ สคต.

ปี 2566 สาธารณรัฐเช็ก นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่า 237,563 ล้านเหรียญสหรัฐ จากประเทศ เยอรมนี จีน โปแลนด์ สโลวาเกีย เนเธอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรเลีย ฮังการี ฝรั่งเศส และเบลเยียม ตามลำดับ โดยนำเข้าจากประเทศไทย คิดเป็นมูลค่า 785 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ จากข้อมูลทางเศรษฐกิจเช็กที่กล่าวข้างต้นไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการค้าปลีกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราการว่างงานที่ลดลง เป็นตัวบ่งชี้แนวโน้มทางเศรษฐกิจขาขึ้นและถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ในการขยายการส่งออกสินค้ามายังตลาดสาธารณรัฐเช็กเพิ่มเติม ดังนั้น ผู้ประกอบการควรติดตามความเคลื่อนไหวของตลาด และศึกษาแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาดต่อไป

thThai