รัฐบาลสิงคโปร์ได้ผลักดันภาคการผลิตผ่านนโยบาย Manufacturing 2030[1] โดยตั้งเป้าที่จะขยายมูลค่าภาคการผลิต 50% ภายในปี 2573 เพื่อให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมทางธุรกิจ และแหล่งรวมบุคลากรที่มีศักยภาพ (Talent Hub) สำหรับการผลิตขั้นสูงระดับโลก ซึ่งภาคการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสิงคโปร์ และคิดเป็น 18.6% ของ GDP สิงคโปร์ในปี 2566 และอุตสาหกรรม
เซมิคอนดักเตอร์คิดเป็น 40% ของมูลค่าเพิ่มการผลิต (Manufacturing Value Added) โดยรวมของสิงคโปร์[2] ทั้งนี้ สิงคโปร์ยังได้ดึงดูดการลงทุนในการขยายอุตสาหกรรมแผงวงจรชิปและเซมิคอนดักเตอร์เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจการค้าสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 บริษัทสหรัฐฯ Applied Materials (AM) หนึ่งในซัพพลายเออร์เครื่องจักรที่ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำของโลก และมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 20% ของโลก โดยมีสำนักงานใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในสิงคโปร์ได้ประกาศว่า บริษัทวางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิต การว่าจ้างงาน[3] และศูนย์วิจัยในสิงคโปร์เป็นสองเท่าในปีต่อๆ ไป นอกจากนี้ บริษัทยังได้ประกาศขยายศูนย์นวัตกรรมมายังสิงคโปร์ โดยมุ่งเน้นไปที่บรรจุภัณฑ์ขั้นสูงของเซมิคอนดักเตอร์เพื่อเพิ่มสมรรถนะและประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน โดยไม่เพิ่มขนาดและต้นทุนอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 บริษัทเซมิคอนดักเตอร์เยอรมัน Siltronic ได้เปิดโรงงานผลิตขั้นสูงแห่งที่สามในสิงคโปร์สำหรับการผลิตเวเฟอร์ซิลิคอนสำหรับเซมิคอนดักเตอร์เพื่อใช้ในมือถือ ยานพาหนะไฟฟ้า และศูนย์ข้อมูล โดยคาดว่าโรงงานแห่งนี้จะผลิตเวเฟอร์ได้มากถึง 100,000 แผ่นต่อเดือนภายในสิ้นปี 2567 และจะเป็นการผลิตเวเฟอร์แบบ Epitaxy[4] เป็นครั้งแรกในสิงคโปร์ โรงงานแห่งนี้มีพนักงาน 300 คน แต่คาดว่าจะมีจำนวนถึง 600 คนภายในปี 2571
รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นาย Heng Swee Keat กล่าวในงานพิธีเปิดบริษัท Siltronic ว่า การปฏิวัติทางดิจิทัลและการปฏิวัติเขียว (Green Revolution)[5] ทำให้ตลาดเซมิคอนดักเตอร์มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น การสร้างโลกที่ชาญฉลาดขึ้น ปลอดภัยขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั้นอาศัยการผลิตชิปเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะชิปที่ถูกพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้น หลายประเทศทั่วโลกต่างตระหนักถึงศักยภาพของสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ในการเสริมสร้างเศรษฐกิจและปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่มากขึ้น ทั้งนี้ สิงคโปร์ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรจากทั่วโลกเพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)[6] ของเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ และก่อให้เกิดการสร้างงานที่ดีและคุณภาพสูงให้กับชาวสิงคโปร์
ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
ในปี 2566 มูลค่ายอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 530,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 นอกจากนี้ เทรนด์การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้ผลักดันความต้องการในสินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์พยายามดึงดูดการลงทุนมายังสิงคโปร์ผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มาตรการทางภาษี แรงงานทักษะสูง และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ฯลฯ เพื่อให้สิงคโปร์เป็นหนึ่งในฐานการผลิตของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์โลก
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ที่สำคัญของภูมิภาค มีโอกาสในการเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพื่อป้อนสู่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม และฐานการผลิตให้กับบริษัทชั้นนำของโลก ทั้งนี้ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาคและโลกอย่างใกล้ชิด
[1] เป็นหนึ่งในภารกิจภายใต้แผนวิสัยทัศน์ด้านเศรษฐกิจสิงคโปร์ (Singapore Economy 2030) ประกอบไปด้วย ภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคการค้า และภาคธุรกิจ
[2] ข้อมูลจาก Economic Development Board (EDB)
[3] ขณะนี้บริษัทมีพนักงานมากกว่า 2,500 คน
[4] Epitaxy เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการกระตุ้นการนำไฟฟ้าของแผ่นเวเฟอร์
[5] การนำเอาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี มาเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตสินค้าเกษตร
[6] การวิเคราะห์กิจกรรมภายในองค์กร โดยมีเป้าหมายที่พัฒนาปรับปรุงเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและประสิทธิภาพให้สูงสุดทางธุรกิจ