1. ภาพรวมตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิวในสิงคโปร์
ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า มูลค่าการขายสินค้าผลิตภัณฑ์ดูแลผิวในสิงคโปร์ในปี 2566 อยู่ที่ 804.8 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 3.8% (YoY) โดยประกอบไปด้วยสินค้ากลุ่มดูแลผิวหน้า 681.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โตขึ้น 3.9% (YoY) สินค้าดูแลผิวกายอยู่ที่ 62.3 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โตขึ้น 2.4% (YoY) สินค้าดูแลผิวมืออยู่ที่ 3.9 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 2.6% (YoY) และเซทดูแลผิวอยู่ที่ 57.2 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 3.3% (YoY)
ในปี 2566 ภาพรวมความต้องการซื้อสินค้าดูแลผิวเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นหมวดที่ใหญ่ที่สุดในผลิตภัณฑ์การดูแลผิว การเติบโตดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหลายปัจจัย รวมถึงความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับความงาม สุขภาพ และความเป็นอยู่ ควบคู่ไปกับความชอบส่วนบุคคลและพฤติกรรมผู้บริโภค ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการขยายตัวนี้ ได้แก่ ความต้องการผิวที่กระจ่างใส และคงความอ่อนวัยในหมู่ชาวสิงคโปร์ ก่อให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าดูแลผิวที่ให้ผลลัพธ์จับต้องได้ ซึ่งทั้งแบรนด์ในสิงคโปร์และแบรนด์ต่างประเทศต่างแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยผู้บริโภคชาวสิงคโปร์จะมีตัวเลือกที่หลากหลายตั้งแต่แบรนด์ที่ได้รับความน่าเชื่อถือในสิงคโปร์ไปจนถึงแบรนด์เฉพาะกลุ่ม (Niche Brands) ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ
อินฟลูเอนเซอร์ได้เข้ามามีบทบาทในส่วนของการตัดสินใจเลือกซื้อของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แพลตฟอร์มอย่าง Instagram ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มการตลาดที่มีศักยภาพ ช่วยให้แบรนด์ต่างๆ มีส่วนร่วมกับกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง และเน้น

ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ นอกจากนี้ ข้อมูลออนไลน์ต่างๆ ยังมีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ตั้งแต่การรีวิวสินค้าไปจนถึงการแจกแจงส่วนผสมอย่างละเอียด ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลมากมายในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ในขณะที่ ตลาดมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แบรนด์ต่างๆ จะต้องปรับตัวและมีการนำนวัตกรรมมาใช้ในสินค้าเพื่อดึงดูดและรักษาความภักดีของผู้บริโภค

ในสิงคโปร์ ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์คุ้นเคยกับกิจวัตรการดูแลผิวที่มีขั้นตอนต่างๆ มากมาย ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเทรนด์ต่างๆ เช่น สูตรการดูแลผิว 10 ขั้นตอน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคได้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การดูแลผิวแบบเรียบง่าย (Skin Minimalism) มากขึ้น มาจากความต้องการผิวที่เปล่งประกายตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีขั้นตอนการบำรุงที่ซับซ้อน เทรนด์ Skin Minimalism ยังส่งผลทำให้ผู้บริโภคมองหาขั้นตอนการบำรุงที่ทำให้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้น จึงทำให้เต็มใจที่จะจ่ายไปกับสินค้าคุณภาพสูง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ความเต็มใจที่จะลงทุนจ่ายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการดูแลผิวที่เพิ่มมากขึ้น และความต้องการสินค้าที่ดีต่อผิวอย่างแท้จริง ประกอบกับชาวสิงคโปร์ได้กลับคืนสู่วิถีชีวิตที่เร่งรีบและมีเวลาจำกัด เทรนด์ดังกล่าวจึงได้รับความสนใจจากตลาดมากขึ้นจากแนวความคิดที่ว่า น้อยแต่ดีกว่า ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่จำเป็น เช่น คลีนเซอร์ โทนเนอร์ เซรั่ม มอยส์เจอร์ไรเซอร์ และครีมกันแดด กำลังมีความสำคัญมากขึ้นในการดูแลผิวแบบมินิมอล เพราะถูกมองว่าสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในด้านข้อจำกัดด้านเวลาและไลฟ์สไตล์ที่ยุ่งวุ่นวายได้

ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวในสิงคโปร์

การบรรยายส่วนผสมได้มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคชาวสิงคโปร์สามารถเข้าถึงข้อมูลของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและส่วนผสมได้ง่าย ผู้บริโภคจำนวนมากจึงมีความฉลาดในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มากขึ้น แทนที่จะยึดติดกับแนวปฏิบัติแบบดั้งเดิมในการซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิวครบวงจรจากแบรนด์เดียว ตอนนี้ ผู้บริโภคจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผิวและส่วนผสมที่แบรนด์ใช้ โดยเฉพาะส่วนผสมอย่างวิตามินซี ไนอาซินาไมด์ และเรตินอล ที่ได้รับการยอมรับถึงประสิทธิภาพในการจัดการกับข้อกังวลต่างๆ ในการดูแลผิว ผู้บริโภคมีความสนใจในส่วนผสมเหล่านี้มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในการดูแลผิวของตน เช่น การปรับผิวให้กระจ่างใส และจัดการกับสัญญาณแห่งวัย เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคในสิงคโปร์ยังให้ความสำคัญกับส่วนผสมจากธรรมชาติและสินค้ากลุ่ม Clean Beauty ในการเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวอีกด้วย เช่น ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติและออร์แกนิคเพิ่มมากขึ้น โดยผู้บริโภคกระตือรือร้นค้นหาตัวเลือกดังกล่าวทางออนไลน์ แบรนด์สิงคโปร์  Sigi Skin คือตัวอย่างหนึ่งของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ปราศจากสารพิษโดยสิ้นเชิง

2. โอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวในสิงคโปร์

เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งเกิดจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งมีกำลังซื้อค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น ด้วยเหตุนี้ ผู้บริโภคจึงหันมาสนใจผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ให้ประโยชน์หลากหลาย หรือสินค้ากลุ่มเวชสำอางมากขึ้น

แนวโน้มที่เกิดขึ้นใหม่ในวงการดูแลผิวในสิงคโปร์คือความนิยมที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ที่ให้ประโยชน์ หรือใช้งานได้หลากหลาย จะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ไฮบริดระหว่างผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเครื่องสำอาง เช่น Bobbi Brown Intensive Serum Foundation SPF40 และ Clinique Anti-Blemish Solutions Liquid Makeup โดยการใช้ส่วนผสมออกฤทธิ์ในเครื่องสำอางทำให้เกิดการแข่งขันกับแบรนด์ดูแลผิวแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ ความสนใจของผู้บริโภคในการปรับสีผิวได้กระตุ้นให้แบรนด์เครื่องสำอางได้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวโดยตรง ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแบรนด์ดูแลผิวอาจจะต้องคิดค้นและปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนไปของชาวสิงคโปร์

นอกจากความกังวลในเรื่องของการรักษาความชุ่มชื้นและการต่อต้านริ้วรอยแห่งวัย แต่ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ยังมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการให้ความสำคัญของการซ่อมแซม การปลอบประโลม และการรักษาผิว ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์มองหาสินค้าดูแลผิวกลุ่มนี้มากขึ้น และครอบคลุมไปถึงแนวทางปฏิบัติในการดูแลผิวแบบองค์รวม ที่ไม่ใช่แค่ผิวดี แต่ยังมีสุขภาพดีอีกด้วย สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้คนดูแลสุขภาพโดยรวมได้ดีขึ้น รวมถึงผิวหนังด้วย เนื่องจากผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสุขภาพผิวที่ดี จึงมีความต้องการผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีประสิทธิภาพในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาเพิ่มมากขึ้น แบรนด์ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ซึ่งเป็นที่รู้จักในด้านการซ่อมแซมและรักษาสุขภาพผิว เช่น แบรนด์ CeraVe, La Roche-Posay และ Bioderma ต่างพยายามเข้ามาในตลาดสิงคโปร์ที่มีความต้องการด้านเวชสำอางเพิ่มมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมสูตรมุ่งเน้นการซ่อมแซมผิว

แนวโน้มของการปรับเปลี่ยนการดูแลผิวเฉพาะบุคคลได้รับสิงคโปร์แสดงให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในการดูแลผิวที่ปรับให้เหมาะกับการใช้งานของผู้บริโภค เทรนด์ดังกล่าวส่งผลให้
แบรนด์ต่างๆได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้คำแนะนำเป็นรายบุคคล เพื่อให้เกิดประสบการณ์เฉพาะบุคคลแก่ลูกค้า เช่น แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว Skin Inc ที่มีฟีเจอร์การใช้งาน “ปรับแต่งผลิตภัณฑ์ดูแลผิวเฉพาะคุณ” (Customize Your Skincare) ผ่านเว็บไซต์ โดยผู้บริโภคจะเข้าไปทำแบบประเมินคำถามที่เกี่ยวข้องกับสภาพผิว ข้อกังแล และเป้าหมาย และเมื่อได้ข้อมูลคำตอบแบรนด์ Skin Inc จะสร้างกิจวัตรการดูแลผิวที่ปรับแต่งตามความต้องการของผู้ใช้แต่ละคน แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวสิงคโปร์ Alcheme นำเสนอบริการที่คล้ายกัน ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคสามารถปรับแต่งได้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวตามความต้องการและความชอบเฉพาะได้ นอกเหนือจากแบรนด์เฉพาะกลุ่มที่พยายามบุกเบิกตลาดกลุ่มนี้ แบรนด์ผู้เล่นหลักอย่าง L’Oreal และ Vichy ยังได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนในแบบเฉพาะตัวอีกด้วย โดยทางแบรนด์ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นในการวิเคราะห์ผิว ที่ใช้เทคโนโลยี AI ในการช่วยให้ผู้ใช้สามารถประเมินสภาพผิวได้โดยตรงผ่านการถ่ายรูปตัวเอง โดยการวิเคราะห์ดังกล่าวจะเกิดจากสภาพผิว โทนสีผิว และข้อกังวลต่างๆ โดยแอพฯ เหล่านี้จะให้คำแนะนำเป็นรายบุคคลตามความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และกิจวัตรการดูแลผิวเฉพาะรายบุคคล

3. ส่วนแบ่งทางการตลาดของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวในสิงคโปร์

ในปี 2566 แบรนด์ SK II มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดอยู่ที่ 7.1% และแบรนด์ Lancome, Clarins, Shiseido อยู่ที่3.4-3.7% ตามมาด้วยแบรนด์ Estee Lauder และ Kiehl’s อยู่ที่ 3%

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นสคต.

ผู้บริโภคสิงคโปร์เป็นตลาดที่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลมากมายในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ก่อให้เกิดการศึกษาผลิตภัณฑ์ อ่านฉลาก และการเปรียบเทียบราคา ในขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับสินค้าที่มาจากธรรมชาติ เทรนด์ Clean Beauty และเวชสำอางมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาความต้องการและแนวโน้มของตลาดเป้าหมายเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งศึกษาข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวของสิงคโปร์[1] เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

ที่มาข้อมูล : Euromonitor

[1] กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวของสิงคโปร์ – https://www.hsa.gov.sg/cosmetic-products/overview

thThai