อินโดนีเซียอาจประกาศมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) สินค้าผ้าและพรม

รัฐบาลอินโดนีเซียอาจประกาศมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (มาตรการ Safeguard : SG) ในสินค้ากลุ่มผ้า สิ่งทอและพรม หรือวัสดุปูพื้นอื่นๆ ภายในประเทศในช่วงต้นสัปดาห์หน้า กล่าวโดยคณะกรรมการความมั่นคงทางการค้าของอินโดนีเซีย (KPPI)
นาง Franciska Simanjuntak ประธานคณะกรรมการ KPPI กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่าหน่วยงานยังคงรอให้กระทรวงการคลังสรุปกฎระเบียบสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งสองชนิด
“คาดว่าภายในหนึ่งหรือสองสัปดาห์ มาตรการนี้จะถูกประกาศ” นาง Franciska กล่าว อ้างอิงจาก Kompas.com
รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังวางแผนที่จะใช้มาตรการทางภาษีนำเข้า (Safeguard Duties) ในอัตรา 100 ถึง 200 เปอร์เซ็นต์ต่อสินค้าจีนหลายรายการ ซึ่งมาตรการนี้เป็นผลสืบเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่สหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนหลายรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้า เหล็ก ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และเซรามิก ทำให้จีนมองหาประเทศอื่นๆ เพื่อระบายสินค้า ทำให้สินค้าจีนไหลทะลักเข้ามายังอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียเน้นย้ำว่ามาตรการนี้นอกจากจะใช้กับสินค้าจีนแล้ว อินโดนีเซียจะนำไปใช้กับประเทศอื่นๆ ที่เห็นว่าจำเป็นด้วย
หน่วยงานอินโดนีเซียอยู่ระหว่างสืบสวนผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เช่น เข็มขัดและสายรัดสังเคราะห์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น เสื้อผ้าและอุปกรณ์เครื่องแต่งกาย ซึ่งอาจนำไปสู่การประกาศมาตรการ Safeguard เพิ่มเติม
ในขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์เส้นใยโพลีเอสเตอร์แบบสั้น (PSF) และเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์แบบม้วน (SDY) จะมีการประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) แต่นาง Franciska ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะประกาศเมื่อใด
มาตรการ AD และ SG มีความคล้ายคลึงกัน แต่มาตรการประเภทแรกมุ่งเป้าไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่งที่เข้ามาทุ่มตลาดภายในประเทศ ในขณะที่มาตรการประเภทหลังใช้กับสินค้านำเข้าทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงประเทศต้นทางวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสินค้าภายในประเทศ
คณะกรรมการตอบโต้การทุ่มตลาดของอินโดนีเซีย (KADI) ได้สรุปการสืบสวนเกี่ยวกับเซรามิกแล้ว และประกาศใช้มาตรการ AD สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวในภายหลังว่าผู้นำเข้าบางรายอาจได้รับอัตราอากรที่ต่ำกว่าหากรายใดให้ความร่วมมือในการไต่สวนการทุ่มตลาดของรัฐบาล สำหรับรายที่ไม่ให้ความร่วมมืออาจได้รับอัตราที่สูงถึงร้อยละ 199.88
นาง Franciska ประธานคณะกรรมการ KPPI เน้นย้ำว่านโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับกฎการค้าระหว่างประเทศ และหน่วยงานไม่กังวลเกี่ยวกับมาตรการตอบโต้ที่อาจเกิดขึ้นจากประเทศที่ได้รับผลกระทบ และยอมรับว่าประเทศเหล่านั้นมีสิทธิที่จะกำหนดมาตรการที่คล้ายกันต่ออินโดนีเซียเช่นกัน
นาง Franciska เสริมว่ามาตรการทางการค้าของอินโดนีเซียทั้งหมดได้รายงานไปยังองค์การการค้าโลก ภาคธุรกิจโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการทางการค้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตในท้องถิ่นจากการไหลเข้าของสินค้าจากต่างประเทศซึ่งนำไปสู่การปิดโรงงานในหลายพื้นที่ของอินโดนีเซียส่งผลให้แรงงานจากภาคอุตสาหกรรมสูญเสียงาน

ความคิดเห็นของสำนักงาน
มาตรการ SG ในสินค้ากลุ่มสิ่งทอและสินค้าอื่นๆ ในของอินโดนีเซียสะท้อนให้เห็นถึงการตอบสนองเชิงกลยุทธ์ต่อสถานการณ์ทางการค้าโลก เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มาตรการเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในท้องถิ่นจากกำลังการผลิตส่วนเกินและอุปทานล้นตลาด อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย
มาตรการเหล่านี้อาจนำไปสู่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและลดความสามารถในการแข่งขันในตลาดอินโดนีเซียของผู้ส่งออกไทยที่ต้องเผชิญกับอากรที่สูงขึ้นส่งผลให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น
แม้ว่ามาตรการ SG มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย แต่อินโดนีเซียควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง รวมถึงผลกระทบต่อความร่วมมือทางการค้ากับประเทศต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลอินโดนีเซียควรสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศและรักษาแนวทางปฏิบัติทางการค้าที่เปิดกว้างและเป็นธรรม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีในภูมิภาคและพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศควบคู่ไปด้วย

thThai