มาเลเซียเชิญธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน 2024

ที่มา : สำนักข่าว Bernama

ธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องในไทยได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดมาเลเซีย-จีน (Malaysia-China Summit: MCS) 2024 เพื่อประโยชน์จากทั้งธุรกิจของมาเลเซียและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของจีนในงาน MCS 2024: Networking Engagement Series ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ประธานคณะกรรมการจัดงาน MCS 2024 ดาโต๊ะ ตัน ยิว ชอง กล่าวว่า การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อกำหนดทิศทางในอนาคตของความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยแก้ไขปัญหาสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือ และการพัฒนาทั่วอาเซียน

“การทำความเข้าใจภูมิทัศน์ของมาเลเซียและจีนสามารถช่วยให้ธุรกิจของไทยนำทางและเติบโตในตลาดเหล่านี้ได้” เขากล่าวกับสำนักข่าว Bernama ภายหลังงาน MCS 2024 Networking Engagement Series

เขากล่าวว่าในงาน MCS 2024 นั้นจะครอบคลุม 5 เสาหลักยุทธศาสตร์ อันได้แก่ เทคโนโลยีแห่งอนาคต การเดินทางและการเชื่อมต่อในอนาคต โอกาสในอนาคต การเติบโตในอนาคต และความรู้และประสบการณ์ในอนาคต รวมถึง “มุ่งหวังที่จะบรรลุเป้าหมายการค้าและการลงทุนมูลค่า 2 พันล้านริงกิตในช่วงสามวัน
ของงาน MCS 2024”

การประชุมสุดยอดสามวันซึ่งจัดโดย Qube Integrated Malaysia ร่วมกับ Malaysia External Trade Development Corporation จะเริ่มในวันที่ 17 ธันวาคมที่ศูนย์นิทรรศการและการค้าระหว่างประเทศแห่งมาเลเซีย (Malaysia International Trade and Exhibition Centre) โดยงานนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างมาเลเซียและจีน โดยมุ่งหวังที่จะกระชับความร่วมมือและบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน

ขณะเดียวกัน ดาทุก โจจี ซามูเอล เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย กล่าวว่า MCS 2024 จะถือเป็นเวทีสำคัญสำหรับการเสริมสร้างการบูรณาการของอาเซียน

เขากล่าวว่า “การจัดงานดังกล่าวถือเป็นโอกาสอันดีที่ไม่เคยมีมาก่อนสำหรับธุรกิจของไทยในการมีส่วนร่วม ร่วมมือกัน และสำรวจการเติบโตใหม่กับคู่ค้าจากมาเลเซีย จีน และประเทศอาเซียนอื่นๆ”และกล่าวเสริมเช่นกันว่าธุรกิจไทยสามารถเชื่อมโยงกับผู้แสดงสินค้ามากกว่า 500 รายและผู้เข้าชมงานกว่า 10,000 รายโดยการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดนี้

“MCS 2024 จะเปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างๆ ของไทยได้ขยายการเข้าถึงตลาด สร้างความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ และได้รับข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าเกี่ยวกับแนวโน้มและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น” เขากล่าว

 

บทวิเคราะห์ผลกระทบ

          ไทยและมาเลเซียมีความสัมพันธ์ทวิภาคีทางการค้าที่แข็งแกร่งเป็นอย่างมาก การที่มาเลเซีย-จีนจะจัดการฉลองการความสัมพันธ์ร่วมกันและทำการเชื้อเชิญไทยเข้าร่วมด้วยในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ จะเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ไทยจะได้นำเสนอธุรกิจรวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้แก่มาเลเซีย จีน และภูมิภาคอาเซียนตามจุดมุ่งหวังของมาเลเซียที่จะกระชับความร่วมมือและบูรณาการทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน

โดยในปี 2560 ถึงปี 2566 มาเลเซียและไทยยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีที่แข็งแกร่ง โดยมีมูลค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 24.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แม้ว่าจะลดลงเล็กน้อยในปี 2566 เนื่องจากการชะลอตัวของการค้าโลกที่เกิดขึ้น แต่กระนั้นมาเลเซียก็ยังคงเป็นคู่ค้าชั้นนำของอาเซียนของไทย ซึ่งหากการเข้าร่วมของไทยในงานดังกล่าวนี้สัมฤทธ์ผล ก็จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่ไทยได้เป็นอย่างมากในด้านต่างๆ อาทิเช่นเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

 

 

ความคิดเห็น สคต.

          นับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีและเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศไทยที่จะได้ทำการขยายตลาด ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยมิใช่แค่เพียงภายในมาเลเซีย แต่หากรวมถึงจีนในอนาคตเช่นกัน เนื่องจากไทยและมาเลเซียเป็นคู่ค้าที่สำคัญและแข็งแกร่งเป็นอย่างยิ่งโดยสังเกตได้จากการที่ไทยเป็นคู่ค้าระดับโลกรายใหญ่เป็นอันดับที่สี่ของมาเลเซียและใหญ่เป็นอันดับที่สองในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่มาเลเซียเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยในภูมิภาคอาเซียน

ทางสคต. ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์จึงเล็งเห็นโอกาสอันดีเช่นนี้และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการประสานและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจที่จะส่งออกสินค้าด้วยความยินดียิ่งเพื่อเพิ่มการค้าขายและเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

thThai