เดือนมิถุนายน-สิงหาคม เป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดของจีน ไอศกรีม ในฐานะเป็น 1 ในอาหารที่ช่วยคลายความร้อนที่ดีของผู้บริโภค ทำให้หน้าร้อนเป็นช่วง “High Season” ของการบริโภคไอศกรีม ไม่ว่าในช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ก็ตาม สถิติที่เปิดเผยโดยสถาบัน iimedia Research แสดงให้เห็นว่า มูลค่าทางตลาดของอุตสาหกรรมไอศกรีมของจีนอยู่ที่ประมาณ 160,000 ล้านหยวน มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสถิติจาก Euromonitor ระบุว่า ยอดขายไอศกรีมของจีนในปี 2566 ที่ผ่านมา รวมเป็นมูลค่า 57,478 ล้านหยวน คาดว่าปี 2571 จะทะลุถึง 70,000 ล้านหยวน สำหรับปี 2567 นี้ ไม่ว่าความต้องการทางตลาด หรือพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีน ก็มีความแตกต่างกับปีอื่นๆ ที่ผ่านมา

 

ปี 2567 นี้ ต่างกับรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยประเด็น “雪糕刺客” หรือ “ไอศกรีมลอบสังหาร” (หมายถึงจำพวกไอศกรีมที่มีราคาสูง ได้วางจำหน่ายรวมกับไอศกรีมทั่วไป ทำให้ผู้บริโภคสับสน จนในที่สุดต้องยอมจ่ายเงินซื้อไอศกรีมในราคาที่สูงกว่าที่คาดหลายเท่าตัว) ไม่ได้เป็นประเด็นร้อนในกลุ่มผู้บริโภคอีก แต่มีประเด็นอื่นๆ อย่างเช่น “ไอศกรีมกลับมาสู่ ยุค 5 หยวน” ได้ขึ้นเป็นแทรนด์แทน โดยสังเกตได้จากร้านค้าปลีก หรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ ของกรุงปักกิ่ง ราคาจำหน่ายไอศกรีมส่วนใหญ่จะมีราคาไม่เกินแท่งละ 10 หยวน และจากการจัดลำดับไอศกรีมที่ขายดีที่สุดของ Taobao และ Tmall (สถิติวันที่ 28 มิถุนายน 2567) แสดงให้เห็นว่า ไอศกรีมที่ขึ้นแท่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแบบเดิมๆ ที่ผู้บริโภครู้จักเป็นอย่างดี หรือสินค้าใหม่ ส่วนใหญ่ราคาโดยเฉลี่ยอยู่ที่แท่งละ 3-6 หยวน เท่านั้น

 

นาย Zhu Dan Peng นักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมอาหารของจีนระบุว่า ภาพรวมการจำหน่ายไอศกรีมของปีนี้ไม่ได้ต่างกับปีที่ผ่านมามากเท่าไร กล่าวคือไอศกรีมที่มีราคาสูง หรือต่ำมากเกินไป จะไม่ค่อยเป็นที่นิยม ซึ่งสถานการณ์นี้ถือว่าเป็นผลการแข่งขันของวงการไอศกรีม และเป็นการตอบสนองความต้องการให้มีความแตกต่างของตลาด ก่อนหน้านี้  ไอศกรีมบางชนิดมีราคาแพงถึงแท่งละหลักสิบ หรือหลักร้อย และยังต้องต่อแถวแย่งซื้อ ทำให้ผู้บริโภคมีความคาดหวังสูงกับไอศกรีมเหล่านั้น  แต่เมื่อได้บริโภคแล้ว รู้สึกว่าไม่ได้มีความแตกต่างกับไอศกรีมทั่วไป ทำให้ผู้บริโภคหมดความรู้สึกแปลกใหม่ จึงทำให้ไอศกรีมเหล่านี้เสียชื่อ ในขณะเดียวกัน มีแบรนด์ไอศกรีมใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดเพิ่ม การแข่งขันมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น บางแบรนด์จึงเลือกใช้วิธี “ลดราคา” เพื่อ      ดึงดูดผู้บริโภค แต่ปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อคุณภาพของไอศกรีมมากขึ้น ดังนั้น นอกจากมีราคาจำหน่ายที่สมเหตุสมผลแล้ว ยังควรปรับปรุงคุณภาพสินค้า ถึงสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น

 

ไอศกรีมที่มีรสชาติแบบดั้งเดิม เช่น รสช็อกโกแลต รสวานิลลา รสสตรอเบอร์รี่ เป็นต้น ยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภค แต่ไอศกรีมรสอื่นๆ เช่น รสชาแดงผสมเนย รสชาเขียว รสโยเกิร์ต รสทุเรียน ก็เป็นที่นิยมมากขึ้น นอกจากนี้ ไอศกรีมรสแปลกใหม่อื่นๆ อย่างรสเบียร์ รสซีอิ๊วโมจิ ก็ดึงดูดผู้บริโภคที่ชอบทดลองอาหารแปลกใหม่ อย่างไรก็ตาม ความนิยมของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกัน อาทิ กลุ่มที่เกิดหลังปี 2543 นิยมรสคุกกี้ รสมัทฉะ รสเกลือทะเล กลุ่มเกิดระหว่างปี 2533-2542 นิยมรสมัทฉะ รสชาแดงโกโก้ ในส่วนของกลุ่มที่เกิดระหว่างปี 2523-2532 นิยมรสแอปเปิ้ล รสชีสองุ่น และรสนม เป็นต้น

 

นอกจากรสชาติแล้ว ผู้ผลิตยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของไอศกรีม เช่น ให้สื่อถึงวัฒนธรรม หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจีน อาทิ ไอศกรีมที่มีทรงเป็นรูปหอสักการะฟ้าเทียนถานของกรุงปักกิ่ง รูปหอคอยหวงเฮ่อของเมืองอู่ฮั่นมณฑลหูเป่ย เป็นต้น  โดยเน้นวางจำหน่ายในสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ซึ่งแม้ว่าจะมีราคาจำหน่ายที่ค่อนข้างสูง แท่งละไม่ต่ำกว่าหลัก 10 หยวน แต่ยังคงได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เนื่องจากสามารถใช้ในการถ่ายรูป และลงในแพลตฟอร์มโซเซียล เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าได้เดินทางมาเยือนสถานที่ท่องเที่ยวนั้นแล้ว นอกจากนี้ บางเมืองของจีน ยังได้จำหน่ายไอศกรีมที่เป็นทรงดอกไม้ที่สวยงาม เช่น ไอศกรีมดอกไฮเดรนเยียของเมืองซูโจว ไอศกรีมดอกศรีตรังของนครคุนหมิง ไอศกรีมดอกโบตั๋นของเมืองลั่วหยาง ซึ่งดอกไม้เหล่านี้ทำจากวัตถุดิบที่สามารถรับประทานได้ อย่างถั่วเขียว ถั่วแดง เผือกบด เป็นต้น และมีไอศกรีมบางประเภทได้ร่วมมือกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเกมส์และแอนิเมชั่น อย่าง League of Legends , Kung Fu Panda , B.Duck , Minions , Pokemon เป็นต้น โดยมีการใช้ IP ที่เป็นที่นิยมรู้จักกว้างขวาง ซึ่งได้ดึงดูดสายตาของทั้งผู้บริโภคในท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว

 

ที่มา: https://image.so.com

 

นาย Hong Shi Bin นักวิจารณ์ด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจมีความเห็นว่า สำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ในปัจจุบัน ไอศกรีมรูปแบบใหม่ๆ ดังกล่าว ไม่เพียงเป็นของหวานที่ช่วยคลายความร้อน ยังเป็นสิ่งที่สามารถนำไปเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มโซเซียล เพื่อสื่อให้เห็นถึงบุคลิก อุปนิสัย ความชอบส่วนบุคคล และเป็นการสร้างสังคมในหมู่เพื่อนที่มีความชอบเดียวกัน

 

อย่างไรก็ตาม ไอศกรีม แม้ว่ามีรสชาติที่หวานและอร่อย แต่รับประทานบ่อยจะมีโอกาสเกิดปัญหาทางสุขภาพ ซึ่งปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น จึงมีการจับตามองถึงปริมาณน้ำตาล ไขมันที่ใช้ในการผลิตไอศกรีม ซึ่งตลาดเริ่มนิยมไอศกรีมที่มีน้ำตาลน้อย ไขมันต่ำ โปรตีนสูง ซึ่งเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพ และหุ่น

 

ความเห็นจากสคต.เซี่ยเหมิน: ปัจจุบัน ไอศกรีมในจีนยังคงเป็นสินค้าที่จำหน่ายตามฤดูกาล โดยส่วนมากจำหน่ายได้ดีในช่วงหน้าร้อน แต่เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่นกำลังกลายเป็นกลุ่มบริโภคหลักของไอศกรีม ทำให้ไอศกรีมเริ่มเป็นสินค้าที่ไม่ได้จำกัดโดยฤดูกาล แต่กลายเป็นอาหารที่นิยมรับประทานตลอดทั้งสี่ฤดู ซึ่งได้ขยายตลาดบริโภคมากขึ้น และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ตลาดจีนยังถือว่ามีโอกาสมาก เนื่องจากการบริโภคไอศกรีมต่อหัวต่อปีของจีนยังต่ำกว่าของประเทศดังกล่าวมาก

 

ตลาดจีนมีจำหน่ายไอศกรีมทั้งเป็นแบรนด์ของจีน เช่น Mengniu ,Yili,Baxy,Bright และแบรนด์นำเข้า เช่น Haagen-Dazs,Magnum,Wall’s เป็นต้น โดยในครึ่งแรกของปี 2567 จีนนำเข้าไอศกรีม (Hs Code 210500) รวมมูลค่าทั้งสิ้น 63.64 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.29 (YoY) โดยนำเข้าจากประเทศฝรั่งเศสมากเป็นอันดับที่ 1 รวมมูลค่า 24.11 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาได้แก่ สหรัฐอเมริกา(7.18 ล้านเหรียญสหรัฐ) นิวซีแลนด์(6.88 ล้านเหรียญสหรัฐ) ญี่ปุ่น (4.98 ล้านเหรียญสหรัฐ) และเกาหลีใต้ (4.29 ล้านเหรียญสหรัฐ)

 

สำหรับการนำเข้าไอศกรีมจากไทยในครึ่งแรกของปี 2567 มีมูลค่าเป็น 1.34 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.32 (YoY) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.1 ของการนำเข้าไอศกรีมทั้งหมดของจีน โดยมีด่านนำเข้าสำคัญ ได้แก่ มณฑลฝูเจี้ยน คิดเป็นมูลค่า 0.75 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 4.82 มณฑลกว่างตง 0.31 ล้านเหรียญสหรัฐ และมณฑลหยูนหนาน มูลค่านำเข้า 0.16 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น จากข้อมูลสถิติชี้ให้เห็นว่า สินค้าไอศกรีมนำเข้าจากไทย ยังมีโอกาสขยายตัวและมีแนวโน้มในทางที่ดีเพิ่มขึ้น

 

ที่มา

http://www.ce.cn/xwzx/gnsz/gdxw/202407/22/t20240722_39076734.shtml

https://m.thepaper.cn/newsDetail_forward_28074014

https://www.163.com/dy/article/J7F4B66E05118O92.html

https://www.163.com/dy/article/H8P53CLV05198R91.html

เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน

25 กรกฎาคม 2567

thThai