การบริโภคอาหารแช่แข็งในอิตาลี ขยายตัว 2.4% สูงเป็นประวัติการณ์

จากรายงานประจำปีของสถาบันอาหารแช่แข็งของอิตาลี (Iias-Istituto Italiano Alimenti Surgelati) พบว่า ในปี 2566 อิตาลีมีการบริโภคอาหาร/ผลิตภัณฑ์แช่แข็งมากกว่า 1 ล้านตัน คิดเป็นการบริโภคเฉลี่ย/หัว/ปี ที่สูงถึง 17.2 กิโลกรัม/คน ขยายตัวเพิ่มขึ้น +2.4% (ภายในระยะเวลา 1 ปี) ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่มีแนวโน้มที่ดีมาก โดยการบริโภคอาหารแช่แข็งที่บ้านมีปริมาณมากกว่า 645,000 ตัน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 10% เมื่อเทียบกับปี 2562 สำหรับมูลค่าการซื้อขายอาหาร/ผลิตภัณฑ์แช่แข็งในอิตาลีมีมูลค่าสูงถึง 5.8 พันล้านยูโร ขยายตัวเพิ่มขึ้น +6.5% แต่การจำหน่ายพิซซ่าแช่แข็ง และอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็ง กลับมีการชะลอตัวในการบริโภค โดยช่องทางการจำหน่ายสินค้า/ผลิตภัณฑ์แช่แข็งมีการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของผู้บริโภค ได้แก่ ร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต มูลค่าจำหน่ายลดลง -1.1% การจัดส่งถึงบ้าน (delivery) มูลค่าจำหน่ายลดลง -8% และอีคอมเมิร์ซ มูลค่าจำหน่ายลดลง -5% ในขณะที่ ร้านอาหาร บาร์ กลับมีมูลค่าจำหน่ายเพิ่มขึ้น +5.3% โดยสถาบันอาหารแช่แข็งของอิตาลี เปิดเผยข้อมูลว่า การบริโภคอาหารแช่งแข็งในอิตาลียังคงมีแนวแนวโน้มที่ดีตลอดช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 โดยปริมาณการบริโภคอาหารแช่แข็งที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ ผักแช่แข็ง มีปริมาณมากกว่า 215,000 ตัน (-1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565) โดยผักแช่แข็งที่พร้อมรับประทานได้รับการบริโภค เพิ่มขึ้น +3.7% ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของ “อาหารเพื่อความสะดวกสบาย” โดยความง่ายในการบริโภคผักแช่แข็ง ได้ส่งผลให้มันฝรั่งกลายเป็นผักแช่แข็งที่ติดอันดับ 2 โดยมีการปริมาณการซื้อถึง 110,500 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น +8% และผลิตภัณฑ์ปลาแช่แข็งมีปริมาณ 92,500 ตัน
ปี 2566 การบริโภคอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็ง มีปริมาณการบริโภคกว่า 66,600 ตัน ลดลง -1.1% (แต่เพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ใน 3 นับตั้งแต่ปี 2562) สำหรับการบริโภคพิซซ่าแช่แข็งมีปริมาณ 63,500 ตัน ลดลง -6.2% เมื่อเทียบกับปี 2565 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระบวนการผลิตอาหารแช่แข็งมีการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น รูปแบบและส่วนผสมใหม่ๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองกับความต้องการที่แตกต่างกันของผู้บริโภค สำหรับการบริโภคอาหารจานพิเศษแช่แข็ง อาทิ แพนเค้กและผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีปริมาณ 33,300 ตัน และเนื้อสัตว์แช่แข็ง มีปริมาณการบริโภค 15,700 ตัน ลดลง -3%
Mr. Giorgio Donegani ประธาน สถาบันอาหารแช่แข็งของอิตาลี (Iias) ได้ให้ข้อมูลว่า ปี 2566 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายสำหรับภาคอุตสาหกรรมอาหาร นับตั้งแต่ในช่วงเดือนแรกของปี 2566 การจัดหาวัตถุดิบที่ค่อนข้างลำบากอันมีผลมาจากสถานการณ์ทางภูมิอากาศที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้การเพาะปลูกประสบปัญหาด้านผลผลิตที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ปัญหาการขนส่งระดับโลกที่ส่งผลให้ต้นทุนของวัตถุดิบ/สินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ส่งผลให้ราคาสินค้า/บริการมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัญหาต่าง ๆ ข้างต้นจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอาหาร แต่ปี 2566 การบริโภคอาหารแช่แข็งในอิตาลีก็ยังคงมีแนวโน้มที่สดใส โดยแรงผลักดันที่สำคัญที่ทำให้การบริโภคอาหารแช่แข็งในอิตาลียังคงเป็นบวกนั้น คือ การรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งถือเป็นการปรับสมดุลช่องว่างที่เกิดจากธุรกิจค้าปลีก
(ซึ่งก่อนหน้านั้นการบริโภคอาหารนอกบ้านจะมีความนิยมน้อยกว่าการซื้ออาหารบริโภคเองจากร้านค้าปลีก) ทั้งนี้ โดยภาพรวมแล้วการบริโภคอาหารแช่แข็งในอิตาลีมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก มาจากปัจจัยของช่วงที่เกิดการ ล็อกดาวน์ระยะเวลา 2 ปี (พ.ศ. 2563-2564) ซึ่งส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศเติบโตอย่างโดดเด่น ขยายตัวเพิ่มขึ้น +14% ในปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาลอิตาลีได้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งผู้บริโภคได้หันมาเลือกซื้อสินค้าอาหารที่ปรุงง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้น
ความคิดเห็นของ สคต. ณ เมืองมิลาน
1. ในอดีตผู้บริโภคส่วนใหญ่ในอิตาลีมีความเชื่อและนิยมเลือกบริโภคสินค้าอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการแช่แข็ง แช่เย็น หรือแปรรูป เนื่องจากมีความเชื่อว่าอาหารที่มีความสดให้ประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการสูงสุด แต่ปัจจุบันพบว่า ตลาดอาหารแช่แข็งในอิตาลีถือเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาและแข่งขันทางนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคที่ต้องการอาหารที่มีความปลอดภัยสูง และมีคุณภาพใกล้เคียงกับอาหารสด รวมถึงมีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพที่ครบสมบูรณ์ ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าอาหารแช่แย็น แช่แข็งมายังอิตาลีมีจำนวนหลายรายการ ได้แก่ กุ้ง ปลาหมึก และปลา โดยปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าอาหารแช่แย็น แช่แข็ง มายังอิตาลี มูลค่า 75.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -26% ในขณะที่ ปี 2567 (มกราคม – มิถุนายน) ไทยส่งออกอาหารแช่เย็น แช่แข็งดังกล่าวมาอิตาลี มูลค่า 51.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว +2.65% โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด คือ ปลาหมึก มีชีวิต สด แช่แย็น แช่แข็ง (เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยมายังอิตาลี) มูลค่า 46.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หดตัวลดลง -5.49%)
2. ตลาดอาหารอิตาลีถือเป็นตลาดที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในด้านคุณภาพและวัตถุดิบสำหรับการประกอบอาหาร โดยจะพบว่าอาหารพร้อมรับประทาน อาหารแช่แข็งจากไทยมีวางจำหน่ายในอิตาลีเพิ่มมากขึ้น แต่การบริโภคยังจำกัดอยู่กับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในอิตาลี ที่นับวันจะหันมาสนใจอาหารเอเชียเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ ชาวอิตาเลียนเองก็เริ่มเปิดกว้างและหันมาสนใจอาหารเอเชียเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน มีความเห็นว่า ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณานำเสนอสินค้าอาหารแช่แข็งในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม เน้นความสะดวกในการนำไปใช้ และราคาที่สามารถแข่งขันได้ในตลาด จะทำให้สินค้าอาหารแช่แข็งไทยสามารถบุกเข้าตลาดอิตาลีได้เพิ่มขึ้น และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าท้องถิ่นได้อีกด้วย โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนร้านอาหารไทยและร้านอาหารเอเชียเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก รวมถึงร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตมีการวางจำหน่ายสินค้าอาหารไทยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อบริโภคได้สะดวกขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวข้างต้นถือเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่จะทำให้ความต้องการบริโภคอาหารแช่แข็งจากไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดอิตาลีไม่มากก็น้อย
——————————————————————-
ที่มา: 1. Surgelati: i consumi raggiungono per la prima volta i 17,2 chili a testa (+2,4%) – Il Sole 24 ORE
2.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือกับกรมศุลกากร
3. รูปภาพประกอบโดย Muhammed A. Mustapha on Unsplash

thThai