ข่าวที่กำลังเป็นที่จับตามองของทั่วโลกในขณะนี้ คงจะหนีไม่พ้นข่าวการเลือกตั้ง ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาทึ่กำลังใกล้เข้ามาในเวลาอีกเพียงไม่ถึง 100 วัน ซึ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567

 

โดยพรรครีพับลิกันนั้น ได้มีการประกาศชื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นตัวแทนผู้ท้าชิงของพรรค สำหรับพรรคเดโมแครต มีแนวโน้มว่าจะส่งนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีเข้าท้าชิงแทนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ถอนตัวไปก่อนหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจะได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการในระหว่างการประชุมใหญ่ของพรรคซึ่งจะจัดมีขึ้นที่นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ระหว่างวันที่ 19 – 22 สิงหาคม 2567

 

ทั้งนี้ นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางด้านการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในการทำแท้ง อีกทั้ง ยังมีส่วนในการบริหารจัดการนโยบายด้านผู้อพยพและความมั่นคงด้านพรมแดนสหรัฐฯ ในรัฐบาลยุคปัจจุบันด้วย

 

แม้ว่านโยบายด้านเศรษฐกิจของนางกมลา แฮร์ริส ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองจะยังไม่ค่อยเด่นชัดมากนักในขณะนี้ แต่หากพิจารณาจากในอดีตที่ผ่านมามีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับกลุ่มแรงงานระดับล่าง สิทธิผู้หญิง ธุรกิจรายย่อย และครอบครัวชนชั้นกลางเป็นหลัก นอกจากนี้ ในประเด็นด้านการค้ายังมีนโยบายสนับสนุนการแทรกแซงด้านเศรษฐกิจอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานางกมลา แฮร์ริส ได้กล่าวต่อกลุ่มผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งว่า จะสนับสนุนนโยบายการจ้างงานให้ลูกจ้างในการลาเพื่อไปดูแลครอบครัว และนโยบายด้านการดูแลเด็ก รวมถึงนโยบายการสนับสนุนกลุ่มชนชั้นกลาง

 

ความท้าทายทางเศรษฐกิจ

รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศในช่วงวิกฤต เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 40 ปี ในปี 2565 ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจน ธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นต้องดำเนินนโยบายปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในตลาด ส่งผลทำให้ความสามารถในการซื้อและผ่อนบ้านของชาวอเมริกันลดลง ซึ่งในระหว่างการดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีนางกมลา แฮร์ริสก็มีนโยบายในการลดราคายา และราคาการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต รวมถึงการให้เงินกู้ที่อาจจะไม่ต้องจ่ายคืน (Forgivable Loan) แก่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยผ่านโครงการคุ้มครองค่าจ้าง (the Paycheck Protection Program) โดยเฉพาะกลุ่มชนกลุ่มน้อย (Minority)

 

นโยบายด้านภาษี

ในฐานะรองประธานาธิบดีนางกมลา แฮร์ริส สนับสนุนให้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีรายได้ธุรกิจ (Corporation) และครอบครัวที่มีรายได้สูงเพิ่มขึ้น ในขณะที่ยังคงรักษาหรือปรับลดอัตราภาษีสำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 400,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี นอกจากนี้ ในอดีตนางกมลา แฮร์ริสยังเคยสนับสนุนการผลักดันกฏหมาย LIFT Act ให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลสำหรับคนโสด 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ และคู่สมรส 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งมีความเป็นสูงไปได้ที่นโยบายด้านการลดภาษีและการให้สิทธิ์ลดหย่อยภาษีจะถูกนำมาใช้

 

นโยบายที่อยู่อาศัย

ปัจจุบันราคาอสังหาริมทรัพย์ ในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากส่งผลทำให้ราคาค่าเช่าบ้านปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นจุดอ่อนทางการเมืองของรัฐบาลปัจจุบัน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่นางกมลา แฮร์ริส จะนำนโยบายด้านการให้สิทธ์ลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่จ่ายค่าเช่าบ้านเมื่อเทียบกับค่าเช่าบ้านในสัดส่วนสูงดังที่เคยผลักดันมาแล้วในอดีต

 

นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ

นางกมลา แฮร์ริส มีนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศคัดค้านการทำข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศกับประเทศคู่ค้า โดยในอดีตในสมัยที่ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกได้เคยแสดงท่าทีคัดค้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา เนื่องจากความกังวลด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแรงงานในประเทศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อมาสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงการคัดค้านข้อตกลงทางการค้าสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (U.S.-Mexico-Canada Agreement หรือ USMCA) ที่เดิมคือข้อตกลงทางการค้าเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาเหนือ (North America Free Trade Agreement หรือ NAFTA)

 

นโยบายด้านค่าจ้างแรงงาน

นางกมลา แฮร์ริส มีแนวนโยบายลดความเหลื่อมล้ำและลดช่องว่างของค่าจ้างแรงงาน โดยเคยเสนอการปรับกิจการที่จ่ายค่าจ้างไม่เท่ากันระหว่างหญิงชายเพื่อลดความไม่เท่าเทียมกัน อีกทั้ง ยังเคยเสนอการเพิ่มอัตราค่าจ้างครู และสนับสนุนกิจการของกลุ่มชาวอเมริกันผิวดำ

 

นโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม

นางกมลา แฮร์ริส มีนโยบายลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลและสนับสนุนพลังงานสะอาด โดยเพิ่มการลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับพลังงานสะอาดในประเทศ นอกจากนี้ ยังไม่สนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันแบบแฟรกกิ้ง (Fracking) บนพื้นที่ขุดเจาะที่รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเจ้าของเนื่องจากปัจจัยด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสนับสนุนรัฐบัญญัติลดอัตราเงินเฟ้อ (the Inflation Reduction Act) ในการให้สิทธิ์ลดภาษีรถยนต์พลังงานไฟฟ้า พลังงานทดแทน และโครงการสนับสนุนระบบห่วงโซ่อุปทานการผลิตแบตเตอรรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญอีกด้วย

 

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้มีอิทธิพลต่อแนวโน้มทิศทางด้านเศรษฐกิจเฉพาะภายในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสหรัฐฯทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดของโลกมีปริมาณความต้องการการบริโภคสินค้าและบริการเป็นมูลค่าสูง การเปลี่ยนแปลงของนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศย่อมมีอิทธิพลต่อมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในอนาคต ซึ่งการติดตามแนวนโยบายทางเศรษฐกิจของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ละรายจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถวิเคราะห์และวางแผนกลยุทธ์เพื่อรับมือกับแนวโน้มด้านเศรษฐกิจและการค้าได้ในอนาคต

 

ทั้งนี้ ปัจจัยด้านภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในตลาดปัจจุบันเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไปจะต้องดำเนินมาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันเนื่องมาจากแนวโน้มการชะลอการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการของภาคประชาชน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้สหรัฐฯ จะมีการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในตลาดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น

 

นอกจากนี้ หากพรรคเดโมแครตได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้ น่าจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เช่น ชิ้นส่วนและรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แผงและเซลล์ผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งโดยรวมน่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่มสินค้าเซลล์และแผงผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ของไทยที่ถูกเพิกถอนออกจากรายการสินค้าที่ได้รับการยกเว้น และถูกจัดเก็บภาษีภายใต้มาตรการปกป้อง (Safeguard) ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2567 นั้น อาจจะไม่ได้รับอานิสงส์มากนัก

 

โดยรวมไม่ว่าตัวแทนจากพรรคใดจะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปน่าจะยังคงดำเนินนโยบายตอบโต้การค้าเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดสำหรับผู้ประกอบการไทยในอนาคตด้วย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเหล็ก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงเซลล์และแผงผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นต้น

 

******************************

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

 

thThai