องค์กร Fairtrade Germany เรียกร้องให้แก้ไขกฎระเบียบอินทรีย์ฉบับใหม่และขยายระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน

สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต

 

สหภาพยุโรปเพิ่มความเข้มงวดกฎเกณฑ์สำหรับการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์จากประเทศนอกสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป การนำเข้าสินค้าอินทรีย์จากประเทศที่สามที่ไม่มีกรอบความตกลงทางการค้า จะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบอินทรีย์ฉบับใหม่[1] แทนกฎระเบียบเดิมซึ่งยอมรับการเทียบเคียงมาตรฐานที่หน่วยตรวจรับรองจัดทำขึ้นมา

 

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ภาคเกษตรอินทรีย์ไม่สามารถปรับตัวได้ทันตามกรอบเวลาที่กฎระเบียบอินทรีย์ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ถึงแม้จะมีการขยายระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน  เช่น มาตรการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยรับรองภาครัฐและเอกชนในประเทศที่สาม (control authorities and control bodies) ซึ่งขยายออกไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2024 (จากเดิมวันที่ 31 ธันวาคม 2023) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กฎระเบียบอินทรีย์ฉบับใหม่นี้ ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างเพียงพอในภาคส่วนอาหารหรือในวงการผู้ผลิต องค์กร Fairtrade Germany จึงเรียกร้องเร่งด่วนให้สหภาพยุโรปเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอย่างน้อย 15 เดือน (มีผลบังคับใช้อย่างเร็วที่สุดวันที่ 31 ธันวาคม 2025) เนื่องจากกฎระเบียบดังกล่าวไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงและเป็นอุปสรรคต่อการดำรงอยู่ของผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา และอาจนำไปสู่การล่มสลายของห่วงโซ่อุปทานเกษตรอินทรีย์และแฟร์เทรดจากประเทศซีกโลกใต้ (ประเทศกำลังพัฒนา) ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ขั้นต้นที่สำคัญของสหภาพยุโรป

 

Claudia Brück คณะกรรมการบริหาร องค์กร Fairtrade Germany กล่าวว่า “ในช่วงเวลาที่ต้องรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น วิกฤตสภาพภูมิอากาศและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เกษตรกรรายย่อยไม่ควรต้องแบกรับภาระเพิ่มเติมจากกฎระเบียบที่ซับซ้อนของสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มเติมและเป็นการเพิกเฉยต่อความเป็นจริง”

 

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือผู้ผลิตรายย่อยที่ทำงานร่วมกันในรูปแบบกลุ่มซึ่งมีสมาชิกทำเกษตรทั้งแบบอินทรีย์และแบบทั่วไป จะไม่ได้รับอนุญาตให้มีสมาชิกที่ทำเกษตรแบบทั่วไปอีกต่อไปหากต้องการส่งออกสินค้าอินทรีย์ไปยังสหภาพยุโรป นอกจากนี้ สมาชิกแต่ละรายสามารถเพาะปลูกได้ไม่เกิน 5 เฮกตาร์ และมียอดจำหน่ายไม่เกิน 25,000 ยูโร โดยกลุ่มจะมีสมาชิกได้สูงสุด 2,000 คน กฎเกณฑ์เหล่านี้จะจำกัดการเติบโตของธุรกิจ ขัดแย้งกับนโยบายการพัฒนาในปัจจุบันที่องค์กรฯ ได้แนะนำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อส่งเสริมการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้มากขึ้น

 

กลุ่มผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองในปัจจุบันส่วนใหญ่จะต้องจัดตั้งนิติบุคคลใหม่โดยเฉพาะสำหรับการรับรองของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นความท้าทายที่สำคัญและสร้างต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมาก นี่คือสาเหตุที่ประมาณร้อยละ 60 ของผู้ผลิตกาแฟและโกโก้ออร์แกนิกที่ได้รับการรับรองแฟร์เทรด รวมถึงร้อยละ 95 ของผู้ผลิตกล้วยออร์แกนิกรายย่อยที่ได้รับการรับรองแฟร์เทรด ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบอินทรีย์ฉบับใหม่ของสหภาพยุโรปได้

 

นอกจากนี้ องค์กรฯ ยังเรียกร้องให้ชี้แจงข้อกำหนดใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์และสารที่อนุญาตให้ใช้สำหรับการผลิตอินทรีย์ รวมถึงเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการตรวจสอบสารตกค้างก่อนนำเข้าสหภาพยุโรป เนื่องจากปัจจุบันยังขาดโครงสร้างพื้นฐานของห้องปฏิบัติการที่จำเป็น โดยค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบเหล่านี้ไม่ควรสร้างภาระเพิ่มเติมให้กับเกษตรกร และยังเรียกร้องให้สหภาพยุโรปจัดให้มีมาตรการสนับสนุนในรูปแบบของคำแนะนำด้านเทคนิคและการจัดหาเงินทุนแก่องค์กรผู้ผลิต ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการช่วยให้เกษตรปฏิบัติตามข้อกำหนด แต่ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์ด้วย

 

จากข้อมูลของ “Lebensmittelzeitung” ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมคาดว่า กฎระเบียบอินทรีย์ฉบับใหม่จะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าอินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยราคาจะเพิ่มขึ้น 100 – 500 เปอร์เซ็นต์

****************************************************

ที่มา: Fairtrade Deutschland, Lebensmittelzeitung

 

[1] Regulation (EU) 2018/848 ว่าด้วย กฎระเบียบอินทรีย์ (ฉบับใหม่) ด้านการควบคุมและมาตรการอื่น ๆ เพื่อรับรองการตรวจสอบย้อนกลับ การผลิต และการติดฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์

 

thThai