“ท่าเรือกวนเหล่ย” พร้อมรองรับการนำเข้าผลไม้อย่างเป็นทางการ สคต.คุนหมิง

“ท่าเรือกวนเหล่ย” พร้อมรองรับการนำเข้าผลไม้อย่างเป็นทางการ สคต.คุนหมิง

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ท่าเรือกวนเหล่ยได้เปิดใช้งานสถานที่ควบคุมตรวจสอบจำเพาะผลไม้นำเข้าอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับว่าเป็นสถานที่ควบคุมตรวจสอบจำเพาะผลไม้นำเข้าบนเส้นทางการขนส่งทางน้ำแห่งแรกในมณฑลยูนนาน เพื่อเปิดช่องทางการขนส่งทางน้ำช่องทางใหม่ในการนำเข้าผลไม้จากประเทศเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ประเทศจีน

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ท่าเรือกวนเหล่ยได้รับการอนุมัติสถานที่ควบคุมตรวจสอบจำเพาะผลไม้นำเข้าจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน และในวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 ก็ได้ผ่านการตรวจรับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 นายหม่า จวิ้น รองอธิบดีกรมพาณิชย์มณฑลยูนนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการด่านมณฑลยูนนาน เป็นประธานเปิดใช้งานสถานที่ควบคุมตรวจสอบจำเพาะผลไม้นำเข้า ณ ท่าเรือกวนเหล่ย อย่างเป็นทางการ อีกทั้งผลไม้นำเข้าล็อตแรกได้ผ่าน              การตรวจสอบและพิธีการทางศุลกากรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“ท่าเรือกวนเหล่ย” พร้อมรองรับการนำเข้าผลไม้อย่างเป็นทางการ สคต.คุนหมิง

ท่าเรือกวนเหล่ยตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน เป็นท่าเรือสำคัญในแม่น้ำโขงระหว่างประเทศในคาบสมุทรอินโดจีน – ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน เป็นหนึ่งโครงการสำคัญของแผนการพัฒนาด่านในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ของจีน การก่อสร้างสถานที่ควบคุมตรวจสอบจำเพาะผลไม้นำเข้า ณ ท่าเรือกวนเหล่ย ไม่เพียงแต่ช่วยปรับปรุงการทำงานของท่าเรือกวนเหล่ย แต่ยังเป็นการส่งเสริมการส่งออกผลไม้และผลผลิตทางการเกษตรจากประเทศตามแนวแม่น้ำโขงไปยังประเทศจีน ขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนานกับต่างประเทศ รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศจีนกับต่างประเทศด้วย

จากข้อมูล พบว่า สถานที่ควบคุมตรวจสอบจำเพาะผลไม้นำเข้าที่ท่าเรือกวนเหล่ยถูกสร้างขึ้นใหม่จากสิ่งอำนวยความสะดวกเดิม โดยมีแท่นตรวจสอบ ห้องเย็นจัดเก็บสินค้าที่ยังไม่ตรวจปล่อย ห้องเย็นควบคุมภายใต้ศุลกากร ห้องบำบัดด้วยความเย็น (Cold Treatment) ห้องเก็บผลไม้ที่เสียและเน่า        ห้องรมยา ห้องบำบัดที่ไม่เป็นอันตราย ห้องปฏิบัติการ มีช่องการตรวจสอบกักกันผลไม้แบบเปิด 8 ช่อง สามารถนำตู้คอนเทนเนอร์เข้าจอดได้พร้อมกัน 8 ตู้ สำหรับในพื้นที่กลางแจ้งมีตู้คอนเทนเนอร์และพื้นที่ชาร์จไฟมีจำนวนรวม 25 จุด สามารถชาร์จไฟตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 นิ้ว และ 40 นิ้วได้ นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังมีท่าเทียบเรือตู้คอนเทนเนอร์ 1 แห่ง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับเรือบรรทุกระวาง 500 ตัน

นายเจียง ซิงเพ่ย รองผู้อำนวยการด่าน กรมศุลกากรนครคุนหมิง เผยว่า “ในระหว่างการเยือนประเทศจีนของนายกรัฐมนตรีไทยเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการส่งออกสินค้าผัก ผลไม้และสินค้าอื่น ๆ ผ่านทางท่าเรือเชียงแสนทางภาคเหนือของประเทศไทยไปยังท่าเรือกวนเหล่ยนั้น ทำให้ศุลกากรนครคุนหมิงให้ความสำคัญ และประสานงานกับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน เพื่อเร่งผลักดันการก่อสร้างและเปิดใช้งานสถานที่ควบคุมตรวจสอบจำเพาะผลไม้นำเข้าที่ท่าเรือกวนเหล่ย ภายใต้      การสนับสนุนของรัฐบาลมณฑลยูนนาน ซึ่งในขณะนี้ท่าเรือกวนเหล่ยได้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น และถือว่าเป็นเส้นทางการขนส่งทางน้ำในการนำเข้าผลไม้ มีบทบาทเชิงบวกในการพัฒนาเศรษฐกิจและความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง”

ในช่วงบ่ายวันที่ 3 สิงหาคม 2567 บริษัท Xishuangbanna Jinggu Agricultural Development Co., Ltd. (西双版纳精谷农业开发有限公司) ได้นำเข้าทุเรียนไทยจำนวน 1 ตู้ น้ำหนัก 16.8 ตัน ซึ่งถือเป็นตู้ปฐมฤกษ์ที่ด่านท่าเรือกวนเหล่ยได้นำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ หลังจากได้รับการอนุมัติเป็น “ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้” จากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน โดยได้ขึ้นเรือที่ท่าเรือเชียงแสน และขนส่งมาถึงท่าเรือกวนเหล่ยในวันที่ 5 สิงหาคม 2567 เวลา 12.30 (เวลาจีน) ใช้เวลาในการขนส่ง 1.5 วัน นอกจากนี้ สำนักข่าว China Daily รายงานว่า ในช่วงไม่กี่วันนี้ มีหลายบริษัทได้ยื่นขออนุมัติ         การตรวจสอบกักกันผลไม้จากศุลกากร เป็นผลไม้ทุเรียน มังคุด แตงโม และกล้วย ปริมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 20,000 ตัน คาดการณ์ว่าผลไม้ที่นำเข้าผ่านท่าเรือกวนเหล่ยจะมีปริมาณสูงถึง 150,000 ตัน     ในปี 2568 และในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ตัน

          ความคิดเห็น สคต.

          มณฑลยูนนานมีข้อได้เปรียบทางด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนถึง 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ลาว และเมียนมา และมีตำแหน่งอยู่ใกล้กับไทยมากที่สุด           ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไทยไปยังมณฑลต่าง ๆ ที่อยู่ทางเหนือและตะวันออกของจีน อีกทั้งเป็น Gateway และ Logistics Hub มีเส้นทางขนส่งที่เชื่อมโยงกับไทยทั้งทางบก ทางน้ำ            ทางอากาศ ซึ่งสินค้าผลไม้ของไทยที่นำเข้ามาในมณฑลยูนนานส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าผ่านด่านโม่ฮาน     แต่การเปิดใช้งานสถานที่ควบคุมตรวจสอบจำเพาะผลไม้นำเข้า ณ ท่าเรือกวนเหล่ยจะเป็นการขยายช่องทางและเพิ่มเส้นทางการขนส่งสินค้าผลไม้นำเข้าจากไทยเข้าสู่จีนได้เป็นอย่างดี

 

*****************************************

แหล่งที่มา: https://baijiahao.baidu.com/s?id=1806557035041352907&wfr=spider&for=pc

สคต.คุนหมิง

 

thThai