อุตสาหกรรมเคมีของเยอรมนีกำลังกลับมามั่นใจกับอนาคตมากขึ้น โดยสมาคมอุตสาหกรรมเคมี (VCI – Verband der chemischen Industrie) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ได้ออกมาเปิดเผยรายงานครึ่งปีแรกว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์ดีกว่าที่คาดไว้ แต่ก็ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดตามที่หวังไว้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ด้านนาย Markus Steilemann ประธาน VCI เปิดเผยว่า “แม้สถานการณ์จะกลับมาดีขึ้นบ้าง แต่เราก็ยังไม่อาจพูดได้ว่าธุรกิจของเราอยู่ในช่วงขาขึ้นได้” อุตสาหกรรมเคมีถือเป็นตัวชี้วัดหลักของภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โดยอุตสาหกรรมเคมีนับเป็นผู้ผลิตต้นน้ำและกลางน้ำที่สำคัญให้กับอุตสาหกรรมแปรรูปเกือบทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นตัวแปรแรกที่ทำให้เราสามารถรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา หลาย ๆ บริษัทยังคงหวังว่า เศรษฐกิจน่าจะกลับเติบโตในช่วงกลางปีและครึ่งปีหลัง แต่ปัจจุบันก็ยังมีบริษัทเคมีภัณฑ์เพียง 29% เท่านั้นที่รู้สึกว่า สภาวะเศรษฐกิจกลับมาเจริญเติบโตขึ้อีกครั้ง โดยครึ่งหนึ่งของบริษัทเคมีภัณฑ์คาดว่า ความต้องการสินค้าน่าจะดีขึ้นอย่างช้า ๆ แต่น่าจะมีความชัดเจนขึ้นในปีหน้า บริษัทเคมีภัณฑ์มากถึง 20% ไม่คาดหวังอะไรเลยจนถึงปี 2026 สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของอุตสาหกรรมเคมีมีความไม่แน่นอน โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2024 เริ่มกลับมามีสัญญาณที่ดีของหลายส่วนภาคธุรกิจออกมาแสดงให้เห็น แต่สถานการณ์และสัญญาณต่าง ๆ ก็กลับมาแย่ลงอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2024 ยกตัวอย่างเช่นนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ภาคการส่งออกของเยอรมนีลดลงอย่างรวดเร็ว มากกว่าครั้งใด ๆ สำนักงานสถิติประจำประเทศเยอรมนี (Statistisches Bundesamt) ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ยอดการส่งออกในเดือนพฤษภาคม 2024 เทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลงถึง 3.6% หรืออยู่ที่ 131.6 พันล้านยูโรเท่านั้น จากการสำรวจในปัจจุบันโดยสถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจ ของมหาวิทยาลัยมิวนิค (Ifo – Institut für Wirtschaftsforschung an der Universität München) พบว่า ขณะนี้ภาคการส่งออกของเยอรมนีกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปีโดยไม่มีแรงผลักดันใด ๆ แสดงออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม ผู้เชี่ยวชาญยังสังเกตเห็นแนวโน้มเดียวกันในภาคอุตสาหกรรมเคมีด้วย นักวิเคราะห์ของธนาคาร Baader Bank ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวว่า “เศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมเคมีเริ่มกลับฟื้นตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงฤดูใบไม้ผลิเนื่องจากลูกค้าเริ่มกลับมาสั่งสินค้าไปเติมในโกดังสินค้าของพวกเขาอีกครั้ง โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขากลัวปัญหาคอขวดด้านอุปทานเนื่องมาจากความขัดแย้งในแถบทะเลแดง” แต่ในตอนนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า “บริษัทเคมีภัณฑ์เริ่มกลับมาระมัดระวังตัวในการคาดหวังด้านโอกาสในการประกอบธุรกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ”
อย่างไรก็ตาม VCI ก็ยังคงยึดค่าประมาณการณ์สำหรับทั้งปีที่เพิ่มปรับขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดย VCI คาดว่า หลังจากปี 2024 ยอดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้น 1.5% และปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 3.5% และหากพิจารณาตัวเลขให้ละเอียดยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมเคมียังห่างไกลจากความแข็งแกร่งของช่วงปีก่อน ๆ นี้มาก โดยปริมาณการผลิตในช่วงครึ่งปีแรกยังคงต่ำกว่าปริมาณของปี 2021 ถึง 11% กล่าวคือ ก่อนช่วงสงครามยูเครนจะปะทุขึ้น และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการ์ที่เกี่ยวข้อง นั้นหมายความว่า ปริมาณการผลิตของโรงงานที่ตั้งอยู่ในเยอรมนียังไม่ถูกใช้งานเท่ากับช่วงก่อนเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บริษัทเคมีภัณฑ์หลายแห่งในเยอรมนีผลิตสินค้าแบบขาดทุน โดยตั้งแต่กลางปี 2021 – สิ้นปี 2023 การใช้กำลังการผลิตโรงงานเคมีลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 79% หรือต่ำกว่าเกณฑ์จุดคุ้มทุน (Break-Even Point) ที่อยู่ระหว่าง 82% – 85% ซึ่งประมาณ 46% ของบริษัทที่สำรวจโดย VCI คาดว่า ปีนี้รายได้ของพวกเขาจะยังคงลดลง การปรับราคาเพิ่มขึ้นอาจช่วยลดปัญหานี้ได้บ้าง แต่การดำเนินการดังกล่าวก็กระทำได้ยาก เนื่องจากลูกค้าก็ยังไม่มีความแน่นอนในการประกอบธุรกิจ ในทางตรงกันข้ามราคาผู้ผลิต (Producer Prices) ในช่วงครึ่งแรกของปีลดลง 4% ทำให้บริษัทเคมีภัณฑ์ต้องระมัดระวังในการลงทุนใหม่ ๆ และหากพวกเขาต้องใช้จ่ายเงินกับการลงทุนกับโรงงานและเครื่องจักรใหม่ โรงงานและศูนย์การผลิตในประเทศต่างประเทศก็มักจะได้รับประโยชน์มากเป็นพิเศษ อย่างในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อุตสาหกรรมเคมีได้ลงทุนในต่างประเทศเป็นมูลค่าสูงถึง 12 พันล้านยูโร ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ถึง 8% ในทางกลับกัน จากการสำรวจของสมาชิกของ VCI พบว่า การลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักรใหม่ในประเทศเยอรมนีลดลง 2% การเปลี่ยนแปลงทิศทางการไปสู่การลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม นาย Steilemann กล่าวว่า “นี่ไม่ใช่เทพนิยายแต่เป็นเรื่องจริง” อย่างไรก็ตาม เขายังไม่เห็นคลื่นของการอพยพออกจากประเทศเยอรมนี หรือการเลิกจ้างงานอย่างมีนัยสำคัญใดๆ ในอุตสาหกรรมเคมีที่มีการจ้างงานมากกว่า 560,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามนาย Steilemann ก็ออกมาเตือนว่า “สัญญาณของการผ่อนปรนเล็กน้อยนี้จะต้องไม่ถูกบดบังโดยปัญหาเกี่ยวกับที่ตั้งในประเทศ” ทั้งนี้ มี 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้บริษัทเคมีภัณฑ์ชะลอตัวกับการลงทุนในประเทศเป็นพิเศษ
- ระบบราชการที่ซับซ้อนและกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้น
แทบทุกบริษัทในเยอรมนีต่างก็บ่นเกี่ยวกับปัญหาระบบราชการที่ซับซ้อนและกฎระเบียบที่มาเกินความจำเป็น ซึ่งในอุตสาหกรรมเคมีเองก็กำลังเผชิญหน้ากับกฎระเบียบใหม่ ๆ มากมายจากรัฐบาลเยอรมนีและสหภาพยุโรป (EU) โดยจากมุมมองของพวกเขาแล้ว การประกอบธุรกิจในเยอรมนีไม่เพียงแต่ยุ่งยาก แต่มีต้นทุนที่สูงอีกด้วย โดย VCI คาดว่า ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านระบบราชการและข้อกำหนดด้านเอกสารคิดเป็นยอดจำหน่าย 5% ของบริษัทเคมีภัณฑ์ในปัจจุบันเลยทีเดียว
- ต้นทุนแรงงานสูง
ปัจจุบันมีบริษัทเคมีภัณฑ์เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่รู้สึกว่าขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยปัญหาหลักมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับค่าแรงที่สูงและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในปลายเดือนมิถุนายน 2024 มีการเจรจาร่วมของภาคอุตสาหกรรมกับสหภาพแรงงานได้ตกลงที่จะขึ้นค่าจ้าง โดยสหภาพแรงงานแสดงความประสงค์ให้มีการขึ้นค่าจ้างเพิ่ม 7% หลังจากการเจรจาก็สามารถสรุปได้ที่จะมีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 6.85% โดยแบ่งการขึ้นเงินค่าจ้างเป็น 2 ระยะ และมีการขยายเวลาการทยอยขึ้นเงินค่าจ้างออกไป 20 เดือน อย่างไรก็ตามแต่ละบริษัทสามารถเลื่อนการขึ้นค่าแรงออกไปได้สูงสุด 3 เดือนแต่พวกเขาต้องมีเหตุผลทางเศรษฐกิจประกอบอย่างชัดเจน
- ต้นทุนพลังงานที่สูง
การเพิ่มขึ้นอย่างมากของราคาก๊าซและไฟฟ้ากลายเป็นสาเหตุหลักของวิกฤตอุตสาหกรรมเคมีที่เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานจำนวนมหาศาล หลังการระบาดของเชื้อโควิด-19 และสงครามยูเครน ตอนนี้ราคาก๊าซและค่าไฟฟ้าก็ได้ลดลงอย่างรวดเร็วอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม 45% ของบริษัทเคมีภัณฑ์ในเยอรมนียังคงเห็นว่า ตนเองยัง “ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง” จากค่าไฟฟ้าและค่าก๊าซ เพราะปัจจุบันราคาก๊าซและไฟฟ้าในเยอรมนีสูงกว่าในต่างประเทศ อาทิ ในสหรัฐอเมริกา และเอเชีย หลายเท่า ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่า อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ที่ใช้พลังงานมากในการผลิต เช่น ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์พื้นฐาน จะถูกย้ายฐานการผลิตออกจากเยอรมนี ซึ่ง VCI ก็กลัวว่าสถานการณ์จะเดินไปในทิศทางดังกล่าวเช่นกัน
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเคมียังกังวลเกี่ยวกับอนาคตในเยอรมนีด้วยเหตุผลอื่นอีกด้วย การที่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์จะสามารถประสบความสำเร็จในเยอรมนีได้นั้น อุตสาหกรรมฯก็ต้องการลูกค้าที่มีความแข็งแกร่งจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญ อย่างเช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ การก่อสร้าง และอิเล็กทรอนิกส์ พวกเขาเป็นลูกค้าสำคัญของอุตสาหกรรมสารเคมีพิเศษ ซึ่งในระดับโลกอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เยอรมันยังคงเป็นผู้นำในด้านดังกล่าว โดย VCI เกรงว่า หากเศรษฐกิจยุโรปอ่อนแออย่างถาวร ห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดอาจถูกย้ายไปยังภูมิภาคอื่นแทนที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าใน EU
จาก Handelsblatt 16 สิงหาคม 2567