ในช่วงครึ่งปีแรก ปี 2567 เศรษฐกิจออสเตรเลียมีการเติบโตในอัตราชะลอตัวลง โดยมีการขยายตัวในช่วงไตรมาสเดือนมีนาคมเพียง 0.1% และขยายตัวตลอดทั้งปีที่ 1.1% เนื่องจากการบริโภคในประเทศที่ซบเซา ผลจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพียง 0.4% แม้ว่าอัตราการเติบโตของประชากรจะเพิ่มขึ้น 2.5% ทำให้ปี 2567 ประชากรออสเตรเลียมีจำนวน 26.8 ล้านคน แต่การใช้จ่ายสินค้าและบริการในประเทศเป็นไปอย่างรัดกุม เนื่องจากความกดดันด้านค่าครองชีพที่เกิดจากภาวะเงินเฟ้อ อีกทั้ง ยังมีดัชนีชี้วัดอื่นๆที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมมีดังนี้
- ดัชนีราคาผู้บริโภคไตรมาสเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 1% และ 3.8% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของราคาค่าสินค้าและบริการ เช่น ราคาบ้าน อาหารและเครื่องดื่ม ยาสูบ นำ้มัน ผักและผลไม้ ค่าเช่าที่พักและค่าประกัน ธนาคารกลางออสเตรเลียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 4.35% (6 ครั้งติดต่อกัน) และยังไม่มีแนวโน้มปรับลดลงในอีก 6 เดือนข้างหน้าเนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง
- อัตราค่าจ้างแรงงานไตรมาสเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 8% และ 4.1% ต่อปี เป็นการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานภาคเอกชน (เพิ่มสูงกว่าภาครัฐเป็นครั้งแรก)
- อัตราการว่างงานเดือนกรกฎาคม 2567 เพิ่มขึ้นที่ 2% มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 24,000 รายและผู้มีงานทำมีจำนวน 58,000 ราย อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (2 เดือนติดต่ิอกัน) บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานยังตึงตัว โดยมีทั้งผู้ที่มีงานทำและผู้ที่กำลังหางานจำนวนมากในตลาดแรงงาน
- ไตรมาสเดือนมีนาคมอัตราการออมเงินภาคครัวเรือนลดลง 9% ของรายได้ เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน (+1.5%) ที่สูงกว่าการเติบโตของรายได้ครัวเรือน (+1.1%) ทำให้ภาคครัวเรือนมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าลดลง 0.6% และเน้นการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็น เช่น ค่าพลังงาน ค่าเช่าที่พักอาศัย/ผ่อนบ้าน ค่าบริการขนส่งและบริการสุขภาพ
- ภาคการค้าออสเตรเลียชะลอตัวลง ผลจากการส่งออกสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 5% จากการส่งออกก๊าซเหลวธรรมชาติ แต่การส่งออกภาคบริการลดลงเนื่องจากจำนวนนักเดินทางและนักเรียนต่างชาติที่เดินทางมาออสเตรเลียไตรมาสเดือนมีนาคมเริ่มลดลง สำหรับการส่งออกสินค้า (ม.ค.-มิ.ย. 2567) ลดลง 10.57% โดยมีคู่ค้าสำคัญของออสเตรเลียได้แก่ 1) จีน (-9.43%) 2) ญี่ปุ่น (-24.25%) 3) เกาหลีใต้ (-9.83%) 4) สหรัฐอเมริกา (+1.15%) 5) อินเดีย (-15.18%)
- ในขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 1% จากการนำเข้ายารักษาโรค เสื้อผ้าและรองเท้า และเครื่องใช้ในครัวเรือนโดยการนำเข้าสินค้า (ม.ค.-มิ.ย. 2567) เพิ่มขึ้น 2.48% แหล่งนำเข้าสำคัญได้แก่ 1) จีน (+2.97%) 2) สหรัฐอเมริกา (+3.95%) 3) เกาหลีใต้ (+3.77%) 4) ญี่ปุ่น (-1.53%) 5) ไทย (+15.81%)
………………………………………………………………………………………..
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทส ณ นครซิดนีย์
ที่มา : Australian Bureau of statistics