สนามบินริกาของลัตเวีย ห่วงโลกร้อน ตั้งเป้าปล่อยก๊าซ CO2e เป็นศูนย์ภายในปี 2578

European Green Deal เป็นแผนนโยบายการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวให้สหภาพยุโรปมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยการเปลี่ยนความท้าทายใหม่ของโลกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจึงได้ประกาศเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี 2573 (2030) และจะมุ่งไปสู่ทวีปที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (2050) เป้าหมายดังกล่าวทำให้สหภาพยุโรปเริ่มปฏิรูปกฎระเบียบ และมาตรการต่างๆ ครอบคลุมในทุกมิติ

สนามบินริกาของลัตเวีย ห่วงโลกร้อน ตั้งเป้าปล่อยก๊าซ CO2e เป็นศูนย์ภายในปี 2578

สนามบินริกา (RIX) ของลัตเวียตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการรับมือกับสภาวะอากาศสุดขั้ว เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุรุนแรง ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงในปัจจุบัน อันเป็นผลจากภาวะโลกร้อน จึงพร้อมตอบแนวนโยบายของสหภาพยุโรปเพื่อเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยผู้บริหารสนามบินริกาได้เห็นชอบปรับแผน road map การดำเนินการไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้เร็วขึ้นเป็นภายในปี 2578 (2035) แม้ว่า แต่เดิม Airports Council International Europe (ACI Europe) ได้ประกาศที่จะไปสู่เป้าหมายการกําจัดคาร์บอน หรือ “NetZero 2050” ในปี 2593 สนามบินริกา และสนามบินอื่นๆ ในภูมิภาคยุโรป ต่างเชื่อว่า หากดำเนินการตามแผนงานอย่างจริงจังแล้ว สามารถบรรลุเป้าหมายได้ก่อนในปี 2578

สนามบินริกาของลัตเวีย ห่วงโลกร้อน ตั้งเป้าปล่อยก๊าซ CO2e เป็นศูนย์ภายในปี 2578

สนามบินริกาของลัตเวียนับเป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่การปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์อย่างจริงจัง เมื่อปี 2566 สนามบินริกาถูกจัดอันดับโดย Institute of Corporate Sustainability and Responsibility ของลัตเวีย ให้อยู่ในกลุ่ม Diamond Category ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูง และมุ่งลดคาร์บอนเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืน มีดัชนีแห่งความยั่งยืนหรือ Sustainability Index อยู่ในระดับสูงสุด สนามบินริกาได้วางแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในสนามบินให้มากขึ้น พร้อมกับปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ทำความร้อนของสนามบิน ตลอดจนเปลี่ยนการใช้เครื่องยนต์ที่สันดาปภายใน (internal combustion engines : ICE) เพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การตั้งเป้าที่จะซื้อ green energy เพื่อนำมาใช้ในสนามบินเพิ่มขึ้นปีละ 10% ควบคู่ไปกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์จาก solar park ของสนามบิน ซึ่งคาดว่าจะเป็นสัดส่วนสูงถึง 14%ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2569 (2026)

 

สำหรับแผนงานระยะสั้น ในปีนี้ สนามบินริกาได้เปลี่ยนรถบัสรับ-ส่งผู้โดยสารเครื่องยนต์สันดาปมาเป็นรถบัสไฟฟ้าหรืออีวี และปีหน้า 2568 (2025) ทางสนามบินจะทยอยเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์สำหรับอากาศยานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอย่างน้อยปีละ 10% จนถึงปี 2578 สนามบินจะยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลอย่างสิ้นเชิง

 

ข้อมูลเพิ่มเติม/ข้อคิดเห็นของสคต.
ปัจจุบัน การรับมือกับปัญหาโลกร้อน ตลอดจนภัยธรรมชาติที่เกิดจากอุณหภูมิโลกแปรปรวน เป็นโจทย์ท้าทายสำหรับประชาคมโลก โดยหลายประเทศ ทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กำลังเร่งปรับปรุงนโยบายปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศของตนเองเพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยที่อยู่ในข่ายที่ปล่อยคาร์บอนสูง จำเป็นต้องรีบเร่งปรับตัวให้ทันกับทั่วโลกที่เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำอย่างไรให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ท่ามกลางความเข้มข้นของกฎระเบียบและมาตรการทางการค้า อย่างเช่นมาตรการ CBAM ที่มีนัยต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต

 

ที่มา: The Baltic Times 2024-08-15

thThai