ในปี 2566 การส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่ แบตเตอรี่ลีเธียม และผลิตภัณฑ์โซลาร์เซลล์ของจีน หรือที่เรียกว่า ‘ซินซานย่าง (新三样) /3 สิ่งใหม่/ New Trio’ มียอดการส่งออกทะลุล้านล้านหยวนเป็นครั้งแรกของมณฑลซานตง ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อุตสาหกรรม‘ซินซานย่าง’ ได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว กลุ่มอุตสาหกรรมเกิดใหม่ระดับไฮเอนด์ อัจฉริยะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 การส่งออกสินค้ากลุ่ม ‘ซินซานย่าง’ของมณฑลซานตง ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 กลายเป็นแรงม้าใหม่สำหรับการเติบโตทางการค้าระหว่างประเทศของมณฑลซานตง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ‘ซินซานย่าง’ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และโซลาร์เซลล์ ของจีน เป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ กลายเป็นตัวแทนใหม่ในการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตของจีนเพื่อก้าวไปสู่ระดับไฮเอนด์ อัจฉริยะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่มณฑลซานตงเป็นมณฑลแห่งอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ มณฑลซานตงจึงได้มุ่งพัฒนา‘ซินซานย่าง’อย่างแข็งขัน โดยยกระดับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลก จากข้อมูลของสำนักงานพาณิชย์มณฑลซานตง เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้ากลุ่ม ‘ซินซานย่าง’ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.4 ในที่นี้ รถยนต์ไฟฟ้า ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.4 แบตเตอรี่ลิเธียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.8 และโซลาร์เซลล์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.2 ซึ่งเบื้องหลังการขยายตัวที่น่าทึ่งนี้คือความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งของมณฑลซานตงในการปรับปรุงและพัฒนาการค้าระหว่างประเทศให้มีการเติบโตอย่างเต็มที่
การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ ‘ซินซานย่าง’ ของมณฑลซานตงมีชัยในตลาดต่างประเทศ
การส่งออก ‘ซินซานย่าง’ ของมณฑลซานตง ยังคงเดินหน้าขยายตลาดโลก รถบัสพลังงานใหม่ของบริษัท Zhongtong ของเมืองเหลียวเฉิงถูกส่งออกไปแล้วกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ผ่านท่าเรือชิงต่าวไปยัง ยุโรป อาทิ ฟินแลนด์ และเบลเยียม รวมถึงเอเชียกลาง และตะวันออกกลาง ฯลฯ บริษัท ฯ มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้าแรงสูงแบบบูรณาการควบคุมรถทั้งคัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแถวหน้าของอุตสาหกรรม โดยเทคโนโลยีนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงการออกแบบยานพาหนะสำหรับสภาพถนนที่ต่างกัน และใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน (6G) ซึ่งสามารถประหยัดพลังงานกว่ารถของบริษัทอื่นร้อยละ 5-10
การพัฒนาของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมของมณฑลซานตงค่อนข้างมีความแข็งแกร่ง ในปี 2566 ส่งออกแบตเตอรี่ลิเธียมของมณฑลซานตงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 120 และในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.8 โดยฐานการผลิตสำคัญอยู่ที่เมืองจ่าวจวง เมืองรื่อจ้าว เมืองเยียนไถ่ และเมืองตงหยิง โดยเฉพาะเมืองจ่าวจวงได้กลายเป็นหนึ่งในฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมที่สำคัญของจีน ส่งออกไปยังกว่า 40 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ฯลฯ ตัวอย่างบริษัทสำคัญของเมืองจ่าวจวง เช่น บริษัท HAIDI ENERGY มีความเชี่ยวชาญด้าน R&D และการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมคุณภาพสูงที่ใช้กับรถ Automated Guided Vehicle (AGV) หุ่นยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เรือยอช์ต และรถกอล์ฟ โดยร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์ถูกส่งออกไปทั่วโลก โดยแบตเตอรี่ที่ออกแบบใหม่ที่ใช้กับรถ AGV ได้รับคำสั่งซื้อจากประเทศเยอรมนี เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีบริษัท Sinoma Lithium Batterry Separator Co.,Ltd. ที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนากระบวนการ “Wet bi-directional synchronous stretching” ซึ่งถือเป็นบริษัทชั้นน้ำระดับสากล ทั้งด้านกำลังการผลิตต่อไลน์และความเป็นอัจอริยะ มียอดใบสั่งซื้อสูงกว่าบริษัทแถวหน้าอย่าง บริษัท CATL บริษัท BYD บริษัท Panasonic และบริษัท LG ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 3 มาหลายสมัย
ในส่วนโซลาร์เซลล์ บริษัท Shandong Ronma Solar Co.,Ltd ตั้งอยู่ในเมืองตงหยิง ได้มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศบราซิล เนเธอร์แลนด์ อินเดีย แอฟริกาใต้ และอุซเบกิสถาน โดยมีตัวเลขการส่งออกสะสม 350 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.295 ล้านล้านบาท) หลายปีมานี้บริษัทได้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้วกว่า 300 ล้านหยวน (150,000 ล้านบาท) มีทีมงาน R&D 50 คน มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียง 9 ท่าน เป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี อีกทั้งทางบริษัทยังได้มีความร่วมมือระยะยาวกับสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง อาทิ สถาบันวิจัยไฟฟ้าโซลาร์เซลล์มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง และมีการยื่นขอสิทธิบัตรกว่า 60 ฉบับ
บริษัท Blue Carbon ผู้ผลิต ‘ซินซานย่าง’ ที่สำคัญของเมืองรื้อจ้าว ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ฯครอบคลุมการประกอบแผงโซลาร์เซลล์ การผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม การผลิตเครื่องใช้ในบ้าน และอื่นๆ อีกมากมาย ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ได้เพิ่มการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 5 เดือนแรกของปีมียอดการค้าระหว่างประเทศสูงกว่า 300 ล้านหยวน (150,000 ล้านบาท)
มณฑลซานตงส่งเสริมผู้ประกอบการ‘ซินซานย่าง’ ตั้งกลุ่มผลักดันออกสู่ตลาดโลก
การเติบโตอย่างรวดเร็วของ ‘ซินซานย่าง’ นอกจากจะต้องการการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องภายในองค์กรเอกชนแล้ว พร้อมกันนั้นก็ต้องมีการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากภาครัฐมณฑลซานตง ทั้งในด้านนโยบาย การสร้างความเข้มแข็งให้แก่คลัสเตอร์ และส่งเสริมความต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทาน โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มณฑลซานตงได้ดำเนินการตามมาตรการในการผลักดันผู้ประกอบการต่าง ๆ รวมถึงกลุ่ม ‘ซินซานย่าง’ เพื่อเดินหน้าขยายตลาด ‘แบรนด์ของดีซานตง’ ไปทั่วโลก ขณะนี้มีบริษัท 6,500 แห่งเข้าร่วมกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การประชุมส่งเสริมการพัฒนาตลาด การประชุมจับคู่ธุรกิจซินซานย่างในเอเชียกลาง และการจัดนิทรรศการในต่างประเทศ โดยในปีนี้มณฑลซานตงตั้งเป้าหมายการจัดนิทรรศการในต่างประเทศทั้งหมด 263 โครงการ ในจำนวนนี้มีประเทศแถบเส้นทาง BRI 48 โครงการ และ RCEP 33 โครงการ รวมถึงการสร้างความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานเพื่อรับมือกับสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนแปลง โดยบูรณาการด้านเงินลงทุน และการขนส่งผ่านทางท่าเรือและรถไฟ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการส่งออกให้แก่กลุ่มซินซานย่างอย่างเข้มแข็ง
ความเห็นของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
‘ซินซานย่าง’ กลายเป็นสินค้ากลุ่มใหม่ (รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียม และโซลาร์เซลล์ ที่เป็นผลิตภัณฑ์ไฮเอนด์ อัจฉริยะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม) ที่จีนมุ่งใช้เป็นตัวขับเคลื่อนตัวเลขเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ แทนสินค้าเดิมหรือเรียกว่า ‘เหล่าซานย่าง’ (อาทิ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า) สำหรับมณฑลซานตง ‘ซินซานย่าง’ ถือเป็นตัวขับเคลื่อนตัวเลขการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญ รัฐบาลมณฑลซานตงได้ขานรับการสนับสนุนสินค้า‘ซินซานย่าง’อย่างแข็งขัน มีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการ‘ซินซานย่าง’อย่างเต็มที่ทำให้ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของมณฑลซานตงมีทิศทางที่สดใส
การขยายตัวของอุตสาหกรรม ‘ซินซานย่าง’ ส่งผลกระทบเชิงบวกของไทยในด้านห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกี่ยวเนื่อง เช่น การส่งออกยางพาราที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการผลิตยางล้อ รวมทั้งมูลค่าจากขยายการลงทุนมายังไทยเพื่อรองรับอุปทานส่วนเกินของจีนและลดความกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แม้ว่าสินค้ากลุ่ม ‘ซินซานย่าง’ จะเป็นที่ต้องการของตลาดโลกและไทยที่กำลังมุ่งไปสู่การใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการและภาครัฐต้องหันมาปรับแผนปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับการขยายตลาดการค้าและการลงทุนของจีน อาทิ การปรับตัวในภาคอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อรองรับระบบไฮบริดและ EV มาตรการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และโซล่าร์เซลล์ของไทย ข้อระวังในการใช้ไทยเป็นทางผ่านการลงทุนเพื่อส่งออกสินค้าของจีนที่อาจนำไปสู่ข้อพิพาทในการเก็บภาษีทุ่มตลาดย้อนหลังของสหรัฐฯ ซึ่งกระทบต่อผู้ส่งออกไทย รวมทั้งแนวทางบริหารจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป
แหล่งที่มา : https://sd.dzwww.com/sdnews/202407/t20240705_14450479.htm