ตลาดซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสในออสเตรเลีย

  1. ภาพรวมตลาดซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรส

ตลาดสินค้าซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสยังคงเป็นที่ต้องการของร้านค้าปลีกออสเตรเลียโดยมีราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อเป็นกลไกขับเคลื่อน ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2566 ตลาดค่อนข้างผันผวนเนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับลดลง ทำให้ราคาซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสที่เพิ่มขึ้นเริ่มชะลอตัวลง แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งในช่วงฤดูร้อนส่งผลต่อปริมาณการผลิตน้ำตาลและราคาอ้อยซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในการผลิตซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสมีผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสจึงยังทรงตัว

ตารางที่ 1 แสดงมูลค่าตลาดสินค้าประเภทซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสในออสเตรเลีย

ปี 2566 66/65 (%) 2571 71/70 (%)
ยอดจำหน่ายซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรส (ล้านเหรียญออสเตรเลีย) 3,201 4.7 3,260.5 1.9
ซอสปรุงรสและ Table sauces 1,474 4.9 1,509.1 2.4
ของผสมที่ใช้ปรุงอาหาร (Cooking ingredients and condiments) 619.1 5.1 616.7 -0.4
ซอสอื่น ๆ เช่น Dip , Pickled products 1,107.9 6.1 1,134.7 2.42

แหล่งที่มา: Euromonitor

ปี 2566 ตลาดสินค้าประเภทซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสออสเตรเลียขยายตัวทั้งในเชิงมูลค่าและเชิงปริมาณมีมูลค่า 3,201 ล้านเหรียญออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 และมีปริมาณ 297,600 ตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 โดยซอสพาสต้า น้ำปลา ซอสปรุงรสและซอสมะเขือเทศเป็นสินค้าที่มียอดขายเชิงปริมาณสูงสุด และซอสพริก ซอสมะเขือเทศ มัสตาร์ด น้ำซุปในการปรุงอาหารและน้ำปลา เป็นสินค้าที่มีมูลค่าขยายตัวสูงสุด

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของตลาดซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสยังขึ้นอยู่กับความต้องการบริโภคในประเทศ และการเพิ่มขึ้นของประชากรออสเตรเลีย (ผู้ย้ายถิ่นชั่วคราว) ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากข้อจำกัดด้านวีซ่าที่เข้มงวดขึ้น คาดการณ์ว่า ภายในปี 2571 การเติบโตของตลาดจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 โดยมูลค่าตลาดสินค้าประเภทซอสพริก มัสตาร์ด น้ำมันหอย น้ำปลา น้ำจิ้ม Mayonnaise และซอสมะเขือเทศมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี

  1. แนวโน้มตลาด

ตลาดซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสออสเตรเลีย มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ คือ

  • ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีก/ซุปเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจการซื้อสินค้าของชำ (Groceries) ที่ต้องซื้อประจำทุกสัปดาห์ ทำให้การเติบโตของยอดจำหน่ายสินค้าซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสผ่านช่องทางออนไลน์ชะลอตัวลง (เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤต COVID-19) สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมเปรียบเทียบราคาสินค้าโปรโมชั่นจากร้านค้าปลีกหลายๆแห่ง รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีเวลาน้อย ที่ไม่สะดวกในการเดินทาง
  • การทำตลาด Omnichannel เริ่มมีความยากลำบากสำหรับผู้ค้าปลีกและซุปเปอร์มาร์เก็ตในการแบกรับต้นทุนค่าบริการจัดส่ง (บางรายจำกัดมูลค่าการซื้อสินค้าหรือปรับขึ้นค่าบริการจัดส่งแทน)
  • ภาวะความกดดันด้านค่าครองชีพที่ชาวออสเตรเลียเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทำให้สินค้า Private label ของซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในออสเตรเลีย เช่น Woolworths, Coles และ Aldi ซึ่งเน้นใช้กลยุทธ์ด้านราคาเป็นหลักมีการเติบโตสูงในช่วงปี 2566-2567 เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง มีความหลากหลายให้เลือก และมีราคาถูกสามารถตอบสนองความต้องการของภาคครัวเรือนส่วนใหญ่ (ต้องการควบคุมค่าใช้จ่าย)
  • ผู้ผลิตในตลาดมีการพัฒนาทั้งด้านคุณภาพ บรรจุภัณฑ์ และความหลากหลายของรสชาติ อย่างต่อเนื่อง เน้นการทำตลาดอย่างยั่งยืนโดยให้ความสำคัญต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
  • การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ การเพิ่มจำนวนของผู้ย้ายถิ่นฐานชั่วคราว (นักเรียนต่างชาติและแรงงาน) และการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนเดี่ยว (ร้อยละ 24 เพิ่มจากร้อยละ 19) มีอิทธิพลอย่างมากต่อรูปแบบการบริโภคซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสของผู้บริโภค เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่นิยมปรุงอาหารที่บ้านหรือปรุงอาหารที่มีขั้นตอนน้อยที่สุด (Ready to cook) บรรจุภัณฑ์สินค้าขนาดเล็ก เปิด/ปิดง่าย ไม่เลอะเทอะและสะดวกในการจัดเก็บ เช่น ขวดซอสแบบบีบ (Squeeze bottle) ที่สามารถควบคุมปริมาณความต้องการได้ง่ายไม่เลอะเทอะ จึงเป็นที่นิยม

รูปแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสที่จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต

  1. พฤติกรรมการบริโภค

ผู้บริโภคมีการวางแผนการใช้จ่ายซื้อสินค้า สำรวจและเปรียบเทียบราคาจากผู้จำหน่ายหลายแห่งเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายมากขึ้น ปัจจัยด้านราคาสินค้าและความคุ้มค่าจึงเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจซื้อ

ความต้องการซื้อสินค้าซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสของผู้บริโภคยังคงคำนึงถึงประโยชน์ต่อสุขภาพ (Health-conscious) ที่เหมาะกับโภชนาการของตน เช่น สินค้าที่ปลอดจากสารปรุงแต่งต่างๆ เช่น สารปรุงแต่งรส กลิ่นและสี มีปริมาณเกลือและน้ำตาลต่ำ และใช้ส่วนผสมที่ปลอด GMO สินค้า Gluten-free และมีการแสดงรายละเอียดของส่วนผสมที่แสดงบนฉลากสินค้าที่โปร่งใส (Clean label)

ปัจจัยในการซื้อสินค้า

  • ปัจจัยด้านราคาสินค้าเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจซื้อ เป็นผลจาก สถานการณ์ความไม่มั่นคงในปัจจุบัน
  • ปัจจัยด้านคุณภาพสินค้า วัตถุดิบ/รายละเอียดของส่วนผสม และข้อความแจ้งเตือนส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้และความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน
  • แหล่งผลิตสินค้า
  • รายละเอียดของส่วนผสมบนฉลากและการแสดงความโปร่งใส
  • สินค้าซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสใหม่ที่จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต
  • สินค้าใหม่ที่จำหน่ายในตลาดมีการปรับสูตรและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับรูปแบบการบริโภคของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งโดยภาพรวม ผู้บริโภคจะเลือกสินค้าที่มีรสชาติดี ราคาถูก มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ง่ายต่อการรับประทานและพกพา ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และมีการแสดงฉลากที่โปร่งใส โดยไม่คำนึงถึงแบรนด์ทำให้สินค้าที่จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตประเภท Private label และสินค้า Home brand
  1. ช่องทางการจัดจำหน่าย

แม้ว่าปัจจุบันผู้บริโภคจะนิยมซื้อสินค้าจากร้านค้าปลีกมากขึ้น และการเติบโตของตลาดซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสผ่านช่องทางออนไลน์เริ่มลดลง เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา แต่ผู้จำหน่ายซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสออนไลน์ยังคงทำการตลาด E-commerce อย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นทางเลือกสำหรับครัวเรือนที่ไม่ต้องการรอคิวชำระค่าบริการและต้องการใช้เวลาร่วมกับครอบครัวในการทำกิจกรรมอื่นๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การซื้อสินค้าจากซุปเปอร์มาร์เก็ตยังคงเป็นช่องหลักในการซื้อซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรส ของผู้บริโภคออสเตรเลีย โดยเฉพาะการซื้อสินค้าจากร้านค้าลดราคาและร้านค้าส่งที่จำหน่ายสินค้าราคาประหยัด (Discounters) เช่น Aldi และ Costco ได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องจากมีราคาถูก ซึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากภาวะเงินเฟ้อและความกดดันด้านค่าครองชีพที่ภาคครัวเรือนออสเตรเลียกำลังเผชิญอยู่ ทำให้ปี 2567 มูลค่าตลาดซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสที่จำหน่ายในร้านค้าราคาถูก (Aldi และ Costco) และตลาดออนไลน์ (เว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย) มีการขยายตัวได้ดี

5. โอกาสและอุปสรรค

    • โอกาสทางการตลาด
  • ปี 2567 ผู้ชนะในรายการ MasterChef Australia 2024 (Season 16) ซึ่งเป็นรายการแข่งขันทำอาหารและได้รับความนิยมในออสเตรเลีย คือ น.ส.นาตาลี ไทยพัน (Nat Thaipun ชาวไทยที่เกิดและเติบโตในเมืองเมลเบิร์นออสเตรเลีย) ด้วยเมนูอาหารเด่นประจำภาค อาทิ ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม ข้าวจี่ และเมนูโดนใจคนท้องถิ่นด้วยเมนู ลาบจิงโจ้ จะเป็นพลัง Soft power ด้านอาหารไทยที่สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้ผู้บริโภคแสวงหาซอสและเครื่องปรุงรสเพื่อทำอาหารเมนูแปลกใหม่ รวมถึงกระตุ้นความอยากลองรับประทานอาหารไทย โดยเฉพาะเมนูอาหารพื้นเมืองที่สร้างความท้าทายและประสบการณ์ใหม่ๆ แก่ผู้บริโภครุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นความต้องการซื้อซอสและเครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น น้ำปลา น้ำมันหอย ซอสถั่วเหลือง รวมถึงซอสปรุงสำเร็จสูตรเมนูต่างๆ ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจร้านอาหารมากขึ้น
  • แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 เริ่มกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ แต่การปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านยังดำเนินต่อไป เป็นผลจากความกดดันด้านค่าครองชีพทำให้ภาคครัวเรือนต้องระมัดระวังการใช้จ่ายและลดการรับประทานอาหารนอกบ้านลง อีกทั้ง แนวโน้มการเติบโตของตลาดสินค้า Private label ของซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีการขยายตัวได้ดี จะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าที่ผลิต OEM จากไทย
  • ภาคครัวเรือนเดี่ยวนิยมซื้ออาหารนอกบ้านมากขึ้น (ร้านอาหารราคาประหยัด เช่น ร้าน Take away หรือ Food courts) ทำให้ตลาดให้บริการร้านอาหารฟื้นตัวและความต้องการสินค้าซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสในภาคธุรกิจบริการร้านอาหารเพิ่มขึ้น
    • อุปสรรคและความท้าทาย
  • กระแสการใส่ใจต่อสุขภาพของผู้บริโภคทำให้ผู้บริโภคหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือ น้ำตาลและสารปรุงแต่งรส สีและกลิ่นเป็นส่วนผสม เป็นหนึ่งในความท้าทายของผู้ผลิตในการพัฒนาสูตรสินค้าใหม่ๆเพื่อตอบโจทย์ทั้งด้านสุขภาพและราคาประหยัด
  • ตลาดซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสมีการแข่งขันด้านราคาสูง ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นประกอบกับผู้ผลิตจำเป็นต้องพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่ผู้ผลิตสินค้าต้องเผชิญ
  • การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ การเพิ่มขึ้น/ลดลงของผู้ย้ายถิ่นฐานชั่วคราว (นักเรียนต่างชาติและแรงงาน) มีอิทธิพลอย่างมากต่อความต้องการผู้บริโภค ปี 2567 จำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานชั่วคราวที่เดินทางเข้าออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 (570,000 คนต่อปี) ตอกย้ำปัญหาขาดแคลนที่พักอาศัยและราคาค่าเช่าในออสเตรเลียมากขึ้น รัฐบาลกลางออสเตรเลียได้มีมาตรการเข้มงวดในการอนุมัติวีซ่าเพื่อลดจำนวนผู้ย้ายถิ่นฐานชั่วคราวลงทุกปีโดยตั้งเป้าลดจำนวนให้เหลือประมาณ 250,000 คนภายในปี 2568 จะส่งผลให้ความต้องการสินค้าซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสโดยภาพรวมลดลง
  1. สถานกาณ์การแข่งขันในตลาดซอสและเครื่องปรุงรส

ตลาดซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสมีการแข่งขันด้านราคาสูง จากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ผู้ผลิตต้องพัฒนาสูตร/รสชาติและปรับปรุงบรรจุภัณฑ์สินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้ผลิตสินค้าบางรายสร้างโอกาสทางการตลาดโดยผสมผสานระหว่างความอยากรู้อยากเห็นและดึงประโยชน์ด้านสุขภาพมาเป็นจุดขาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมความท้าทาย ความแปลกใหม่และมีความสนใจอาหารนานาชาติที่มีเอกลักษณ์ รวมถึงดึงดูดความสนใจจากกลุ่มผู้ใส่ใจและให้ความสำคัญกับสุขภาพไปพร้อมกัน เช่น

  • Heinz ประสบความสำเร็จในเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ Heinz Mixed Sauce ที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการทดลองสินค้าใหม่ที่ซื้อจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ด้วยรสชาติและความแปลกใหม่กระตุ้นให้ผู้บริโภคแชร์ประสบการณ์การทดลองสินค้าบนสื่อโซเชียลมีเดีย อาทิ Tik Tok (#HeinzMixedSuces มีผู้ชมมากกว่า 14 ล้านวิว)
  • Masterfood เน้นการพัฒนาสูตรสินค้าและบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆให้เหมาะกับผู้บริโภคทุกกลุ่ม และการทำตลาดเพื่อสังคมในโครงการ MasterFoods Meals for Goals ร่วมกับทีม Mariners นักกีฬาท้องถิ่นออสเตรเลียและ Coast Shelter องค์กรการกุศลท้องถิ่นในการบริจาคอาหารให้กับทุกประตูที่ทำได้ ซึ่งในฤดูกาลนี้ทำได้ 43 ประตู รวมยอดบริจาคอาหาร 43,000 มื้อมีมูลค่า 34,400 เหรียญออสเตรเลีย
  • Aldi นำเสนอสินค้าที่เน้นรสชาติและคุณภาพดีในราคาประหยัด โดยโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์เปรียบเทียบราคาและความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับคู่แข่งในยุครัดเข็มขัดจึงทำให้ยอดขายของ Aldi เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ Aldi ยังได้รับอานิสงค์จากการตลาดแบบบอกต่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านหรือครัวเรือนขนาดใหญ่ที่ต้องวางแผนควบคุมค่าใช้จ่ายและมีอาหารเพียงพอกับสมาชิกทุกคนในบ้าน ที่แชร์ประสบการณ์ของตนผ่านสื่อโซเชียลของผู้บริโภค
  1. กฎระเบียบที่สำคัญเกี่ยวกับการนำเข้าซอสและเครื่องปรุงรสในตลาดออสเตรเลีย
  • การนำเข้าซอสและเครื่องปรุงรสไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาต หากไม่มีส่วนผสมของผักและผลไม้สด เนื้อ นม ไข่ในซอส แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายควบคุมอาหารนำเข้าปี 1992 รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าอาหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียจะดำเนินการสุ่มตรวจอาหารบางส่วน โดยตรวจสอบฉลากและลักษณะภายนอกและในบางกรณีอาจมีการเปิดเพื่อตรวจสอบรสชาติอีกด้วย ทั้งนี้ ส่วนผสมบางอย่างอาจถือว่ามีความเสี่ยงและมีโอกาสถูกตรวจสอบมากกว่า สินค้าที่ถือว่ามีความเสี่ยงสูงได้แก่ สินค้าซอสที่มีส่วนผสมของเนื้อวัว ซึ่งต้องได้รับการตรวจสอบเชื้อโรควัวบ้า รวมถึงเครื่องเทศบางชนิดเช่น พริกแห้ง พริกไทย ปาปริก้า ซึ่งต้องได้รับการตรวจสอบสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในอาหารก่อนการนำเข้า
  • ฉลากสินค้าเป็นภาษาอังกฤษและต้องแสดงรายละเอียดของสินค้า ดังนี้ ชื่อผลิตภัณฑ์ หากไม่ได้กำหนดชื่อให้ใช้คำอธิบายที่แสดงลักษณะของอาหาร, หมายเลขล็อตการผลิต, ชื่อและที่อยู่ของผู้จัดจำหน่ายสินค้า, คำเตือนและคำแนะนำ, รายการส่วนผสม, วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ, ข้อมูลทางโภชนาการ, อัตราร้อยละ, คำแนะนำสำหรับการใช้งานหรือการเก็บรักษา และ ประเทศแหล่งกำเนิดสินค้า
  1. สถิติการส่งออกและการนำเข้าสินค้าซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสของออสเตรเลีย
    • การส่งออกสินค้าซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสของออสเตรเลีย

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การส่งออกซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสของออสเตรเลียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการส่งออกสินค้าเครื่องปรุงรสและมัสตาร์ดมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 95 สำหรับการส่งออกสินค้าประเภทซอสมะเขือเทศและซอสถั่วเหลืองค่อนข้างผันผวนขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปริมาณวัตถุดิบในการผลิตโดยในปี 2566 การส่งออกซอสมะเขือเทศของออสเตรเลียลดลงถึงร้อยละ 49 ซอสถั่วเหลืองลดลงร้อยละ 64

กราฟที่ 2 แสดงมูลค่าและแหล่งส่งออกสินค้าซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสของออสเตรเลีย

แหล่งที่มา: Global Trade Atlas

ปี 2567 (ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน) ออสเตรเลียผลิตและส่งออกสินค้าซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสมีมูลค่า 66.57 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.54 (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566) โดยสินค้าร้อยละ 87 เป็นการส่งออกซอสและของผสมที่ใช้ปรุงรส รองลงมาคือ ซอสมะเขือเทศ มัสตาร์ดและซอสถั่วเหลือง โดยตลาดส่งออกหลัก คือ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ปาปัวนิวกินี จีนและไทย

  • การนำเข้าสินค้าซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสของออสเตรเลีย

ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ออสเตรเลียมีการนำเข้าซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างคงที่  (เพิ่มขึ้นเล็กน้อยและต่อเนื่อง) มีมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยมีแหล่งนำเข้าสำคัญ คือ ไทย นิวซีแลนด์ อิตาลี จีน และสหรัฐอเมริกา ในปี 2566 การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.96 เป็นการนำเข้าสินค้าประเภท Tomato Ketchup และซอสมะเขือเทศอื่นๆ และสินค้าประเภทผงละเอียดและผงหยาบของมัสตาร์ดปรุงแต่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.11 และร้อยละ 42 ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าซอสถั่วเหลือง ซอสและของผสมที่ใช้ปรุงรสลดลงเล็กน้อย (ส่วนใหญ่เป็นการลดนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา)

การนำเข้าสินค้าประเภทซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยประมาณ 65 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ปี 2566 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.75 จากการเพิ่มขึ้นของสินค้าประเภทน้ำปลา ซอสพริก น้ำมันหอย และน้ำจิ้ม แต่การนำเข้าซอสถั่วเหลือง ซอสมะเขือเทศลดลงเนื่องจากออสเตรเลียเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากจีนและสิงค์โปร์แทน

ปี 2567 (ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน) ออสเตรเลียนำเข้าสินค้าซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสมีมูลค่า 256.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.62 (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566) โดยออสเตรเลียเพิ่มการนำเข้าสินค้าประเภทซอสและของผสมที่ใช้ปรุงรส ซอสมะเขือเทศและซอสถั่วเหลืองแต่การนำเข้าสินค้าประเภทผงละเอียดและผงหยาบของมัสตาร์ดปรุงแต่งลดลงร้อยละ 24.83 ผลจากความต้องการบริโภคในประเทศลดลง

สำหรับการนำเข้าสินค้าประเภทซอส น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรสจากไทยในปี 2567 (ช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.26 จากการเพิ่มขึ้นของสินค้าประเภทน้ำปลา ซอสพริก น้ำมันหอย น้ำจิ้มและซอสถั่วเหลือง (มีสัดส่วนการนำเข้ารวมกันถึงร้อยละ 99.76) แต่การนำเข้าซอสมะเขือเทศสินค้าประเภทผงละเอียดและผงหยาบของมัสตาร์ดปรุงแต่งลดลงร้อยละ 18.8 และร้อยละ 2.35 ตามลำดับ มีสัดส่วนรวมกันเพียงร้อยละ 0.4 ทำให้ไม่กระทบต่อภาพรวมการส่งออกจากไทยมากนัก อีกทั้ง ออสเตรเลียนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากอิตาลีเป็นหลัก รายละเอียดแสดงในตารางที่ 3 และ 4

  1. ข้อเสนอแนะและแนวทางในการขยายตลาดในออสเตรเลีย
  • ผู้ประกอบการควรพัฒนาสินค้าใหม่ๆโดยการปรับปรุงสูตรสินค้าให้มีความหลากหลายโดยเฉพาะสินค้าประเภทซอสพริก น้ำปลา น้ำจิ้ม ที่มีแนวโน้มการเติบโตได้ต่อเนื่อง (ปัจจุบันชาวออสเตรเลียนิยมรับประทานอาหารรสเผ็ดมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากประชากรเชื้อสายเอเชียมีการเติบโตสูง ทำให้สินค้าซอสพริกที่จำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตมีความเผ็ดหลายระดับ)
  • เจาะกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มย่อยหรือผู้รักษ์สุขภาพมากขึ้น (Gluten Free, Vegan /ออร์แกนิกส์ และปลอดจากสารปรุงแต่งต่างๆ) เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวและความคุ้นเคยเกี่ยวกับแบรนด์สินค้าบนชั้นวาง ควบคู่ไปกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าไปสู่ความยั่งยืน (Sustainable packaging) โดยเน้นการใช้วัตถุดิบรีไซเคิลหรือภาชนะที่สามารถนำกลับไปใช้ได้ รวมถึงการปรับขนาด เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค
  • ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการทำตลาดอย่างซื่อสัตย์และแสดงรายละเอียดบนฉลากสินค้าอย่างโปร่งใส รวมไปถึงการทำตลาดเพื่อสังคมเพื่อสร้างความไว้วางใจและเชื่อถือในตราสินค้า ตลอดจนสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
  • ผู้ประกอบการควรพิจารณาทำการตลาดแบบ Social Marketing ในการเปิดตัวสินค้าใหม่/สูตรใหม่ในตลาดผ่าน Influencers เพื่อดึงดูดความสนใจและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้สูงสุด ควบคู่ไปกับการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญในออสเตรเลีย เช่น งานแสดงสินค้า Fine Food Australia งาน Naturally Good Expo และงาน Foodservice Australia เพื่อสร้างโอกาสในการได้พบปะผู้นำเข้า/บริษัทตัวแทนจำหน่ายและการเจรจาธุรกิจร่วมกัน
    • งานแสดงสินค้า Fine Food Australia เป็นงานแสดงสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย ซึ่งจัดขึ้นทุกปี (สลับระหว่างซิดนีย์และเมลเบิร์น) งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 5 กันยายน 2567 ที่ MCEC Melbourne ณ นครเมลเบิร์น และปี 2568 งานจะจัดขึ้นช่วงเดือนกันยายนที่นครซิดนีย์
    • งาน Naturally Good Expo เป็นงานเจรจาธุรกิจในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพที่มีวัตถุดิบจากธรรมชาติอาทิ สินค้าออร์แกนิกอาหารเสริม วิตามิน ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์ จัดขึ้นทุกปี ปี 2568งานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม 2568 ที่ ICC ที่นครซิดนีย์
    • งาน Foodservice Australia เป็นงานแสดงสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์ทำอาหาร และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำอาหาร รวมทั้งสัมมนาแลกเปลี่ยนความเห็น โดยมีกลุ่มผู้เข้าชมงานเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ Food Service (ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เบเกอร์รี่ และโรงแรม) จัดขึ้นทุกปีสลับระหว่างซิดนีย์และเมลเบิร์น ปี 2568 งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 20 พฤษภาคม 2568 ที่ MCEC Melbourne ณ นครเมลเบิร์น

……………………………………………………………………………………….

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์

แหล่งที่มา : Euromonitor         https://bicon.agriculture.gov.au        Global Trade Atlas

thThai