อินโดนีเซียใช้บท “พี่ใหญ่” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แสวงหาโอกาสด้านการค้าร่วมกับกลุ่มประเทศแอฟริกา

ประเทศอินโดนีเซีย ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมผู้นำ อินโดนีเซีย-แอฟริกา (Indonesia-Africa Forum – IAF) ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2567 ระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา อย่างเป็นทางการที่เกาะบาหลี โดยมีคณะผู้แทนและผู้นำจากประเทศต่างๆ มากกว่า 1,500 คน เข้าร่วมประชุม

 

การเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ อินโดนีเซียคาดหวังว่า อินโดนีเชียจะดำเนินบทบาทเป็นผู้นำในการสร้างโอกาสในการพัฒนาประเทศทั้งในทางเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านต่างๆ ให้แก่ กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาอย่างที่ จีนเคยทำเปรียบเสมือนในบทบาทที่เป็นพี่ใหญ่ของประเทศกลุ่มนี้ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ แต่ด้วยจังหวะเวลาของการจัดประชุมนี้ไม่เอื้ออำนวยนัก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้นำประเทศและตัวแทนรัฐบาลจากแอฟริกาเข้าร่วมประชุมน้อยลงจากการประชุมครั้งก่อน อันเนื่องมาจากผู้นำประเทศและตัวแทนจากประเทศต่างๆ มากกว่า 50 คนได้พากันไปเข้าร่วมงานประชุมที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่ใหญ่กว่าจัดขึ้นในประเทศจีน

 

ตัวแทนจากประเทศสมาชิกประชาคมแอฟริกาตะวันออกที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ประธานาธิบดี Hussein A. Mwinyi จากแซนซิบาร์ ประเทศแทนซาเนีย (เขตปกครองหนึ่งในประเทศแทนซาเนีย) นาย Opiyo Wandayi เลขาธิการคณะรัฐมนตรีด้านพลังงานและปิโตรเลียม เป็นผู้แทนจากประเทศเคนยา และประธานาธิบดี Paul Kagame ผู้นำประเทศรวันดา ที่ถือเป็นดาวเด่นจากทวีปแอฟริกาในการประชุมครั้งนี้ ซึ่ง ประธานาธิบดี Paul Kagame ของรวันดานั้น เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมที่บาหลีแล้ว ผู้นำรวันดาจะเดินทางไปเข้าร่วมประชุมความร่วมมือจีน-แอฟริกา (Forum on China–Africa Cooperation) ที่จัดขึ้นในปักกิ่ง ประเทศจีนด้วย นอกจาก 3 ผู้นำประเทศที่กล่าวมาแล้ว ประเทศสำคัญอื่นๆ ที่ส่งตัวแทนเข้าประชุม ได้แก่ ไลบีเรีย กาน่า และซิมบับเว เป็นต้น

 

ปกติในเวทีการเมืองระหว่างประเทศหรือเศรษฐกิจระหว่างประเทศของโลก อินโดนีเซียยังไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศแถวหน้าในระดับเช่นเดียวกันกับ จีน ในขณะที่ ประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา อินเดีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ทูร์เคีย เกาหลีใต้ หรือรัสเซีย ต่างได้พยายามหาส่วนแบ่งทางธุรกิจจากกลุ่มประเทศแอฟริกาโดยใช้วิธีการเดิมๆ อย่าง เช่น ความช่วยเหลือ ความร่วมมือด้านความมั่นคง ความร่วมมือด้านธุรกิจ และการพยายามเป็นเจ้าภาพในการประชุมร่วมกับกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา

 

ในปี พ.ศ. 2562 อินโดนีเซียได้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (LDKPI) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Indonesia Aid โดยระบุว่า เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้ความร่วมมือช่วยเหลือและเพื่อการพัฒนาที่ได้ขยายขอบเขตไปถึง 23 ประเทศ จากทั้งหมด 54 ประเทศในแอฟริกา คิดเป็นร้อยละ 42 ของประเทศในภูมิภาค นับถึงในปัจจุบัน และเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ประเทศรวันดาและอินโดนีเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการหารือทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาคแอฟริกานั้น มีความเข้มข้นมากขึ้นจากสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยทั้งสองประเทศได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างอินโดนีเซียและสำนักงานตำรวจแห่งชาติรวันดาในการปราบปรามกลุ่มอาชญากรข้ามชาติและเสริมสร้างศักยภาพให้แข็งแกร่งขึ้น

 

ส่วนการประชุมครั้งล่าสุด ที่บาหลีนี้ มุ่งเป้าไปที่ “Bandung Spirit for Africa’s Agenda 2063” เน้นความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้เจริญมากขึ้นของแอฟริกา เช่น การเน้นประเด็นที่เกี่ยวกับสุขภาพ พลังงาน ความมั่นคงทางด้านอาหารในทุกมิติ และการพัฒนาการทำเหมืองแร่ เป็นต้น โดยในการประชุมครั้งนี้ เคนยา ได้มีการลงนามตาม ข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง Kenya BioVax Institute ซึ่งเป็นบริษัทผลิตวัคซีนของรัฐบาลเคนยา และ PT Bio Farma บริษัทผลิตวัคซีนของอินโดนีเซีย โดยข้อตกลงดังกล่าว จะเป็นกรอบแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีนสำหรับมนุษย์ รวมถึงการพัฒนากำลังคนในการผลิตสารชีวภาพ ตลอดจนความร่วมมือทางด้านเทคนิคระหว่างสองประเทศอีกด้วย

 

โดยภาพรวมจากการประชุมนี้ อินโดนีเซียกล่าวว่า ประสบความสำเร็จในการบันทึกความร่วมมือทางธุรกิจ 32 ราย เกิดมูลค่าทางธุรกิจมากกว่า  3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ประเทศอินโดนีเซียได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาที่เชื่อถือได้ สำหรับประเทศกำลังพัฒนา แม้ความร่วมมือทางธุรกิจดังกล่าว อาจจะยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการ แต่ชาวอินโดนีเซียได้กำลังเริ่มทำการตลาดประชาสัมพันธ์จุดแข็งของประเทศให้เป็นที่รับรู้ในเวทีโลกโดยเฉพาะกับประเทศในแอฟริกา

 

ทั้งนี้ หากกล่าวถึง ด้านความมั่นคงด้านอาหาร อินโดนีเซียได้ให้การสนับสนุนการจัดหาอาหารเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งในหลายประเทศ เช่น เคนยา เอธิโอเปีย และมาดากัสการ์ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินโครงการฟื้นฟูศูนย์ฝีกการอบรมด้านการเกษตรใน แกมเบีย และแทนซาเนีย

 

ตัวอย่างความร่วมมือทางธุรกิจในการประชุมครั้งนี้ อินโดนีเซียได้สรุปข้อตกลงการลงทุนในภาคพลังงานกับแทนซาเนียหลายฉบับ อาทิ เช่น (1) PT Essa Industries ของอินโดนีเซียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ Tanzania Petroleum Development Corporation (TPDC ในการพัฒนาด้านพลังงานก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) (2) Tanzania Fertiliser Regulatory Authority (TFRA)  และTanzania Investment Centre (TIC) ลงนามกับหน่วยงานของอินโดนีเซียมีแผนที่จะจัดตั้งโรงงานปุ๋ยในแทนซาเนียมูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ (3) บริษัท Electric Supply Company ของแทนซาเนียและ Persero ของอินโดนีเซียได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพ

 

ปัจจุบันอินโดนีเซียกำลังให้ทุนสนับสนุนการฝึกอบรม ทั้งระยะสั้นและระยะยาวแก่ชาวแทนซาเนีย ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ การประมง การท่องเที่ยว การเพาะเลี้ยงปลา การเกษตร และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร “สอดคล้องกับความพยายามของทั้งสองประเทศในการสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

 

ความเห็นของ สคต.

 

อินโดนีเชียให้ความสำคัญในความสัมพันธ์กับประเทศในแอฟริกา จะเห็นได้จากที่ อินโดนีเชีย มีสถานทูตในแอฟริกาถึง 17 แห่ง (ประเทศไทยเพียง 7 แห่ง) และการที่มีคณะผู้นำรัฐบาลในระดับรัฐมนตรี เยือนประเทศในแอฟริกาเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง แสดงให้เห็นความสำคัญที่เขาให้กับแอฟริกาในการที่จะเป็นทั้ง แหล่งการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ และตลาดการลงทุนและการค้า โดยภาคธุรกิจทีมีการลงทุนใหญ่ในแอฟริกา อาทิ เช่น Indomie ผู้ผลิตสินค้าบะหมี่สำเร็จรูปในโลก มีโรงงานในเคนยา และไนจีเรีย เป็นต้น ทำให้ปัจจุบัน แอฟริกาได้รู้จักประเทศอินโดนีเชียมากที่สุดในกลุ่มประเทศ ASEAN ด้วยกลยุทธ์ทางการทูตเชิงการค้าและการพัฒนาดังกล่าว

 

สำหรับประเทศไทยนั้น หากเรายังไม่มีการขยับตัวทั้งในด้านการค้าและการลงทุน และการทูตเชิงการค้ากับแอฟริกาให้มากขึ้น ตลาดแอฟริกาจะเป็นตลาดที่เราจะยิ่งเข้ามาได้ยากลำบากมากขึ้น ดังนั้น เป็นท่าทีที่สำคัญของรัฐบาลไทยที่จะต้องหากลยุทธ์หรือวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจของเราเข้ามาทำการค้าและการลงทุนในแอฟริกาได้มากขึ้นในอนาคต ซึ่ง สคต. มีความเห็นว่า เราควรมีการทูตเชิงรุกและเริ่มนับหนึ่งในการเจรจาการค้ากับแอฟริกาอย่างจริงจังต่อไป ไม่เช่นนั้น แล้วเราอาจเป็นผู้มาทีหลังและไม่มีบทบาทในแอฟริกาอย่างที่เราควรจะเป็นก็ได้

 

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 

ที่มา : The EastAfrican

 

 

 

thThai