ผลกระทบต่อการค้าและระบบห่วงโซ่อุปทานในสหรัฐฯจากเฮอริเคน

แผนที่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจาก Hurricane Helene (ภาพจาก National Hurricane Center)

เนื้อหาสาระข่าว: เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้เกิดภัยพิบัติจากพายุเฮอริเคนเฮลีน (Hurricane Helene) ซึ่งถือว่าเป็นพายุเฮอริเคนที่มีความอันตรายสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ในรอบ 50 ปีในสหรัฐฯ โดยพายุก่อตัวขึ้นในบริเวณอ่าวเม็กซิโก ได้ขยายตัวกำลังแรงขึ้นและพัดขึ้นฝั่งด้วยความแรงระดับ 4 ทางตอนบนของรัฐฟลอริดาในเวลาต่อมา ซึ่งเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคนดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่หลายรัฐในสหรัฐฯด้วยกัน อาทิ รัฐจอร์เจีย รัฐแทนเนสซี รัฐอแลแบมา รัฐเซาท์แคโรไลนา และรัฐนอร์ทแคโรไลนา โดยมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักมากที่สุดในบริเวณรอยต่อรัฐจอร์เจีย-นอร์ทแคโรไลนาและพื้นที่ใกล้เคียง มีการประเมินมูลค่าความเสียหายรวมทั้งหมดกว่า 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 230 ราย และยังให้เกิดผลกระทบในทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลต่อเนื่องกันในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) และการขนส่งสินค้าภายในประเทศที่สร้างผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการค้าของสหรัฐฯ

รายงานข่าวประจำสัปดาห์นี้จะเป็นการสังเคราะห์ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในด้านสภาพภูมิอากาศ ด้านการขนส่งและระบบห่วงโซ่อุปทานที่ได้ให้สัมภาษณ์ใน Inside Supply Management Magazine โดย Institute of Supply Management ได้แก่ 1) Dr. Sara Saberi ผู้เชี่ยวชาญด้าน Operation and Industrial Engineering ประจำ Worcester Polytechnic Institute 2) Dr. Robert Handfield Executive Director ประจำ Poole College of Management Supply Chain Resource Cooperative ณ North Carolina State University และ 3) Mr. Joel N. Myers ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร AccuWeather

ผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค

ผลกระทบจากพายุเฮอริเคนที่ทำให้โครงสร้างพื้นฐานทั่วไปในชีวิตประจำวันของผู้คน ตั้งแต่ ถนนหนทางที่ถูกตัดขาด น้ำประปา ไฟฟ้า สัญญาณอินเทอร์เน็ตและมือถือที่ขาด สภาวะน้ำท่วมรุนแรง ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่ไม่อาจรับมือกับความรุนแรงของเฮอริเคนไหวเสียหายไป ซึ่งรวมถึงสนามบิน ท่าเรือ ระบบขนส่งทางราง ที่ย่อมได้รับผลกระทบเสียหายไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การสั่งปิดสนามบินบางแห่งและยกเลิกเที่ยวบินบางเส้นทางชั่วคราว และการที่บางส่วนของถนนทางหลวงระหว่างรัฐ (Interstate) หมายเลข 40 (I-40) และหมายเลข 26 (I-26) ซึ่งถือได้ว่าเป็นถนนทางหลวงเส้นสำคัญในภาคการขนส่งส่วนใหญ่ในชายฝั่งตะวันออก (East Coast) ของสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบก็อาจทำให้ต้องใช้เวลาหลักเดือนในการปรับปรุงซ่อมแซมกว่าจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งทั้งหมดจะทำให้เกิดการหยุดชะงัก (Disruption) ในระบบห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งสินค้าไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาในสินค้าและบริการบางภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ (Southeastern) ของสหรัฐฯ

ที่มากไปกว่านั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นภาวะหยุดชะงักในท่าเรือสำคัญหลายแห่ง อาจจะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าภายในสหรัฐฯเอง แต่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศในทะเลแคริบเบียนหลายประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าอีกทอดหนึ่งต่อจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะจากท่าเรือในฟลอริดา และเมืองท่าสำคัญอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ตลอดจนระบบคลังจัดเก็บสินค้าและโครงสร้างการขนส่งภายในที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักและต้องรอคอยเวลาปรับปรุงซ่อมแซมจนกว่าจะใช้งานได้เต็มกำลังตามปกติ ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานการค้าและการขนส่งสินค้าระหว่างสหรัฐฯ – ภูมิภาคแคริบเบียนอีกทอดหนึ่งด้วย

 

กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบ

สำหรับภายในสหรัฐฯเองนั้น การที่พื้นที่ทางตะวันตกของรัฐนอร์ทแคโรไลนาได้รับผลกระทบเสียหายอย่างหนักจะให้อุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) โซลาร์เซลล์ หรือ Solar Panel และสายไฟเบอร์ออฟติค (Fiber Optic Cables) เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตแร่ควอตซ์ (Quartz) ที่สำคัญของสหรัฐฯ รวมถึงเวชภัณฑ์อย่างสาร/ยาสำหรับฉีดเข้าหลอดเลือด (Intravenous Fluids) ซึ่งมีแหล่งผลิตสำคัญในรัฐนอร์ทแคโรไลนาเช่นกันนั้นกำลังจะเข้าสู่ภาวะสินค้าขาดแคลน นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสิ่งก่อสร้างและรถยนต์ซึ่งต้องพึ่งพาสินค้าวัตถุดิบ (Raw Material) จากต่างประเทศเป็นส่วนมากนั้นก็เป็นอีกกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักมากเช่นกัน

สินค้าทั่วไปในกลุ่มที่มีความจำเป็นต่อการยังชีพและฟื้นฟูสภาพร่างกาย / บ้านเมือง อาทิ อาหาร น้ำดื่ม พลังงาน อุปกรณ์ทำความสะอาด และเวชภัณฑ์ ซึ่งกำลังจะถูกจัดส่งไปยังพื้นที่ที่ประสบภัยต่าง ๆ ในปริมาณมหาศาลเพื่อให้ความช่วยเหลือก่อนนั้น ก็อาจทำให้เกิดสภาวะขาดแคลนสินค้ากลุ่มเดียวกันในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และยาบางประเภทที่มีความจำเป็นที่ต้องจัดส่งในระยะยเวลาที่จำกัด ผลกระทบจากการหยุดชะงักเส้นทางการขนส่งบางจุดก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้อีกทอดหนึ่งเช่นกัน

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

                   พื้นที่ชายฝั่งติดอ่าวเม็กซิโก หรือ Gulf Coast รวมถึงบริเวณชายฝั่งของรัฐฟลอริดาต่างก็เป็นพื้นที่ที่ชาวอเมริกันทราบกันดีว่าเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดเฮอริเคนขนาดใหญ่ได้ค่อนข้างบ่อย และมีความรุนแรงค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูมรสุม (หรือฤดูเฮอริเคนซึ่งเป็นที่เรียกติดปากของชาวฟลอริดา) จะอยู่ระหว่างช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี (อ้างอิงจากศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติสหรัฐฯ) ซึ่งในปีนี้ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ได้เผชิญกับเฮอริเคนลูกใหญ่ระดับ 4 ไปแล้ว 1 ครั้ง และกำลังจะมาอีกลูกหนึ่งภายในสัปดาห์นี้ก็คือพายุเฮอริเคน (Hurricane Milton) ซึ่งก็มีการคาดการณ์ว่าจะเป็นการซ้ำเติมความเสียหายเดิมที่บางพื้นที่จะถูกพายุขึ้นฝั่งซัดซ้ำจากของเดิมที่พึ่งจะเสียหายไป จุดประสงค์ในการเน้นความสำคัญของพายุเฮอริเคนนั้นเพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงข้อความตระหนักประการหนึ่งในการแสวงหาโอกาสทางการค้ากับสหรัฐฯในเขตพื้นที่ที่ได้กล่าวไป เพื่อเป็นการทำความเข้าใจและเตรียมการรับมือกับความเสี่ยงในระบบห่วงโซ่อุปทานที่อาจเกิดขึ้นได้จากภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเฮอริเคน ที่แม้จะไม่มีบ่อย แต่หากมีครั้งหนึ่งก็ยังความเสียหายวงกว้างทีเดียว

ที่มา: Institute of Supply Management
เรื่อง: “Back-to-Back Hurricanes Wreak Havoc on Supply Chains”
โดย: Sue Doerfler
สคต. ไมอามี /วันที่ 9 ตุลาคม 2567

thThai