ความนิยมดื่มชาไร้คาเฟอีนในญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ โดยเฉพาะ ชารอยบอส (Rooibos) ที่ดีต่อสุขภาพ ขณะที่การบริโภคชาอื่นๆ ที่มีคาเฟอีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตชาแห่งญี่ปุ่น พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555 – 2565) การบริโภคชาอู่หลงลดลงถึงร้อยละ 51 ชาเขียว และชาดำ ลดลงร้อยละ 19 และร้อยละ 11 ตามลำดับ

 

ชารอยบอสไม่มีคาเฟอีน และมีสรรพคุณที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะสตรี สตรีมีครรภ์ เด็ก และผู้ที่รักสุขภาพ โดยมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยลดการอักเสบ ช่วยผ่อนคลายระบบประสาททำให้นอนหลับง่าย มีรสชาติดี และสามารถนำไปผสม (Blend) กับผลไม้ หรืออื่นๆ ได้ง่าย จากคุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ของญี่ปุ่น เช่น Asahi, Suntory, Ito En และ Kirin ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากชารอยบอสเพิ่มขึ้น

 

หนึ่งในผู้นำตลาดชารอยบอสของญี่ปุ่น คือ บริษัท Itochu Shokuryo โดยเริ่มจับตลาดสินค้านี้ เมื่อปี 2561 และในปี 2564 ขยายธุรกิจให้ครอบคลุมการจัดหาวัตถุดิบให้กับสินค้า Private Brand ของร้านสะดวกซื้อ Family Mart และผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่อื่นๆ ปัจจุบัน มีปริมาณการจำหน่ายมากกว่า 600 ตัน และตั้งเป้าหมายในการเพิ่มการจำหน่ายชารอยบอสในรูปแบบวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ชาบรรจุขวดเป็น 3 เท่า ภายในปี 2573 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของตลาด นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้พัฒนาชารอยบอสกลิ่นผลไม้ (เช่น พีช และลิ้นจี่) และผลิตภัณฑ์สำหรับดื่มร้อน เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการความหลากหลาย

 

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นนำเข้าชารอยบอสมากที่สุดในโลก โดยนำเข้าจากแอฟริกาใต้เป็นหลัก ปริมาณการนำเข้ารวมในปี 2566 กว่า 2,815 ตัน (ขยายตัวร้อยละ 32 เทียบกับปี 2561) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ของการบริโภคชารอยบอสทั่วโลก

 

ที่มา : https://www.nikkei.com/article/DGXZQOUC13C7W0T10C24A9000000/

https://www.rtroom.co.jp/smp/freepage_detail.php?cid=0&fid=18

 

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา

thThai