เนื้อหาสาระข่าว: ในช่วงสัปดาห์เดียวกันนี้มีรายงานเกี่ยวกับผู้บริโภคในสตลากสหรัฐฯ ที่น่าสนใจอยู่ 2 รายงานด้วยกัน โดยรายงานฉบับแรกชี้ถึงผู้บริโภคกลุ่มฮิสแปนิก (อาจเรียกว่าเป็นกลุ่มลาติโนก็ได้ ซึ่งเจาะจงถึงกลุ่มประชากรที่มีเชื้อสายมาจากชาวลาตินอเมริกาและมักจะใช้ภาษาสเปนในการสื่อสารเป็นหลัก) ว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งด้านการใช้จ่ายในตลาดสหรัฐฯ และฉบับที่สองจะเกี่ยวกับพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าแลเสื้อผ้าหรูหราของผู้บริโภคสหรัฐฯ จึงได้นำมารวบเข้าด้วยกัน ดังนี้
- ผู้บริโภคกลุ่มฮิสแปนิกทรงอิทธิพลในตลาดสหรัฐฯ
จากรายงานล่าสุดโดย Circana บริษัทวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในชิคาโก เผยว่ากลุ่มผู้บริโภคชาวฮิสแปนิกเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการขยายตัวของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (CPG) ในสหรัฐฯ ถึง 16% โดยแนวโน้มการใช้จ่ายในกลุ่มนี้แตกต่างจากผู้บริโภคที่ไม่ใช่ฮิสแปนิก ทั้งในด้านมูลค่า ปริมาณการขาย รวมถึงช่องทางการเลือกซื้อสินค้า โดยรายงานสองฉบับใหม่นี้ ได้แก่ “ตอนที่ 1: ทำความรู้จักกับผู้บริโภค CPG ชาวฮิสแปนิกในสหรัฐฯ” และ “ตอนที่ 2: แนวโน้มการซื้อสินค้า CPG ของชาวฮิสแปนิก” ได้วิเคราะห์ถึงอิทธิพลของกลุ่มประชากรฮิสแปนิกในสหรัฐฯ ที่มีต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าในหลายหมวดหมู่ เช่น ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ผลิตภัณฑ์ซักผ้า และน้ำดื่มบรรจุขวด
ชาวฮิสแปนิกขณะนี้มีสัดส่วนประชากรในสหรัฐฯ สูงถึงร้อยละ 20 และมีสัดส่วนในการขยายตัวของประชากรถึงร้อยละ 71 ของการขยายตัวของประชากรทั้งประเทศในระหว่างปี 2022-2023 นอกจากนี้ กว่าร้อยละ 25 ของประชากรในกลุ่ม Gen Z และ Gen Alpha นั้นถูกระบุว่าเป็นชาวฮิสแปนิก ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพระยะยาวของกลุ่มผู้บริโภคอันทรงอิทธิพลในตลาดสหรัฐฯ กลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี
Sally Lyons Wyatt รองประธานบริหารและหัวหน้าที่ปรึกษาหลักของ Circana กล่าวว่า “ครัวเรือนชาวฮิสแปนิกเป็นพลังขับเคลื่อนการขยายตัวของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคโดยมีสัดส่วนร้อยละ 14 ของครัวเรือนในสหรัฐฯ แต่กลับมีการขยายตัวถึงร้อยละ 16 บรรดาผู้ค้าปลีกและแบรนด์ต่างๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการและค่านิยมของผู้บริโภคฮิสแปนิก เช่น การนำเสนอผลิตภัณฑ์ในหมวดสินค้าเพื่อความงามและสินค้าส่วนบุคคลที่มาจากธรรมชาติและใช้บรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืน หรือการจัดจำหน่ายสินค้าในบรรจุภัณฑ์รวมหลายรสชาติไว้ด้วยกันสำหรับครัวเรือนขนาดใหญ่ จะสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ได้ในอนาคต” โดยประเด็นสำคัญจากรายงานฉบับนี้ มีดังนี้
– การใช้จ่ายกับสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้น: การใช้จ่ายกับสินค้าอุปโภคบริโภคของครัวเรือนชาวฮิสแปนิกมีการขยายตัวทั้งในด้านมูลค่า (3.5% เทียบกับ 2.6%) และปริมาณ (1.7% เทียบกับ -0.3%) ที่สูงกว่าครัวเรือนที่ไม่ใช่ชาวฮิสแปนิก แม้ว่าชาวฮิสแปนิกส่วนใหญ่จะมีรายได้ต่ำกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐก็ตาม
-
- หมวดสินค้าที่กลุ่มฮิสแปนิกครองตลาด: ครัวเรือนชาวฮิสแปนิกมีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของสินค้าอุปโภคบริโภคในหมวดสินค้าครัวเรือน อาทิ อาหารเด็ก น้ำดื่มบรรจุขวด ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด และผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง
- ความพึงใจเชิงวัฒนธรรม: ชาวฮิสแปนิกที่ยังยึดถือตามวัฒนธรรมดั้งเดิมให้ความสำคัญกับสินค้าที่มาจากธรรมชาติ มีส่วนประกอบจากพืช และบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน โดยเฉพาะในหมวดสินค้าเพื่อความงามและสินค้าส่วนบุคคล และยังชอบผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านที่มีกลิ่นหอม
Marshal Cohen หัวหน้าที่ปรึกษาด้านการค้าปลีกของ Circana กล่าวเสริมว่า “ผู้บริโภคกลุ่มฮิสแปนิกยังคงมีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของตลาดในหมวดหมู่สำคัญๆ ของสินค้าทั่วๆ ไป โดยเฉพาะในหมวดแฟชั่นและสินค้าตกแต่งบ้าน ความเข้าใจถึงโอกาสที่อยู่เบื้องหน้าตนของบรรดาผู้ค้าปลีกและผู้ผลิตนั้นมีความสำคัญยิ่งยวดต่อการขยายตัวของกิจการค้าปลีก และจะยิ่งมีความสำคัญยิ่งๆ ขึ้นไปอีกเมื่อประชากรกลุ่มฮิสแปนิกขยายตัว บรรดานักการตลาดยังคงทุ่มทุนเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มประชากรหลากหลายกลุ่ม และโอกาสที่มีอยู่ในผู้บริโภคกลุ่มฮิสแปนิกนี้ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเป้าหมายหลักด้วย”
ที่มา: CoroladoBiz เรื่อง: “Report highlights U.S. Hispanics’ influence on consumer spending” โดย: CoroladoBiz Staff
- ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ยังชอบจับจ่ายของหรูหราจากตามร้านค้า
ในแต่ละปี จะมีผู้บริโภคสหรัฐฯ ร้อยละ 70 ที่ซื้อสินค้าหรูหรา และพอใจจะจับจ่ายในร้านเป็นหลัก
-
- ผู้บริโภคร้อยละ 57 นิยมซื้อสินค้าหรูหราในร้าน
- ผู้บริโภคร้อยละ 54 ซื้อในโอกาสพิเศษต่างๆ หรือซื้อของเป็นรางวัลให้กับตนเอง
จากการสำรวจโดย LoopMe บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการโฆษณาสินค้ามีแบรนด์ พบว่าผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70) ซื้อสินค้าหรือเสื้อผ้าหรูหราอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยหนึ่งในสามของการใช้จ่ายมีมูลค่าอย่างน้อย 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้ง
สำหรับผู้บริโภคที่นิยมสินค้าระดับสูงนั้น มักพึงใจกับประสบการณ์ในการจับจ่ายในร้านค้ามากกว่าด้วยสถิติร้อยละ 57 ที่นิยมเลือกซื้อสินค้าหรูหราจากร้านค้า แม้ผู้ค้าปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon จะพยายามเจาะตลาดสินค้าหรูราก็ตาม แต่ร้อยละ 30 ของผู้บริโภคก็ยังคงนิยมซื้อจากร้านค้าของแบรนด์โดยตรง และอีกร้อยละ 27 จะเลือกซื้อจากห้างสรรพสินค้าหรือผู้ค้าปลีกรายอื่นๆ
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าระดับสูงในทุกระดับราคาก็ยังคงเป็น ราคา (ร้อยละ 50) และคุณภาพ (ร้อยละ 47) เป็นหลัก นอกจากนี้ LoopMe ยังพบว่า ช่วงเวลา นับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรูหราด้วย โดยมีข้อมูลดังนี้:
-
- มีร้อยละ 54 ซื้อในโอกาสพิเศษต่างๆ หรือซื้อของเป็นรางวัลให้กับตนเองเมื่อประสบความสำเร็จ
- มีร้อยละ 30 ซื้อในช่วงลดราคา
- มีร้อยละ 16 ซื้อเป็นประจำเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตตามปกติ
- มีร้อยละ 13 ซื้อในช่วงเทศกาลวันหยุด
- มีร้อยละ 11 ซื้อเมื่อมีการเปิดตัวสินค้ารุ่มใหม่ๆ
Lisa Coffey เจ้าหน้าที่บริหารรายได้ของ LoopMe กล่าวว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวโน้มและการใช้ hashtag เน้นสิ่งที่น่าสนใจบนสื่อสังคมออนไลน์ได้กระตุ้นให้ผู้คน “เอาใจใส่ตนเอง” หรือใช้จ่ายกับ “ของหรูเล็กๆ” กันมากขึ้นและสำหรับกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ แล้ว ดูเหมือนว่าการลงทุนกับสินค้าหรูหรานี้ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการจับจ่ายประจำปีของพวกเขาไปแล้ว ด้วยปัจจัยด้าน ราคาและคุณภาพ ที่มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อ และพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในช่วงลดราคาครั้งใหญ่ แบรนด์ควรรักษาการถูกพบเห็นได้แบบต่อเนื่อง (‘always-on’) เพื่อเสริมสร้างความน่าสนใจและดึงดูดลูกค้าใหม่ด้วย”
LoopMe ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคในสหรัฐฯ จำนวนทั้งสิ้น 5,377 รายในเดือนสิงหาคม 2567 เพื่อชี้วัดถึงพฤติกรรมและความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าและเสื้อผ้าหรูหรา โดยสัดส่วนเป็นร้อยละอาจไม่รวมกันแล้วไม่เท่ากับ 100 เนื่องจากการสำรวจเปิดโอกาสให้ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกตอบในแต่ละคำถามได้หลายตัวเลือก
ที่มา: MorningStar เรื่อง: “70% of US Consumers Buy Luxury Goods Each Year, With an In-Store Experience Preferred” โดย: Business Wire
ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: จากรายงานทั้ง 2 ฉบับ ผู้ประกอบการไทยที่มองว่าตลาดสหรัฐฯ คือตลาดเป้าหมาย ก็อาจดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ผู้ซื้อในสหรัฐอเมริกา รวมถึงผู้จัดจำหน่ายหลัก ผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง และตัวแทนจำหน่าย มีความสนใจในการสั่งซื้อจากประเทศไทยมากยิ่งขึ้นได้ ดังนี้:
- เตรียมความพร้อมในสิ่งที่ผู้ซื้อในสหรัฐฯ มองหาอยู่ ซึ่งในปัจจุบันมีประเด็นหลักๆ อยู่เพียงไม่กี่ประเด็นที่ผู้ผลิตทุกรายควรใส่ใจนำมาปรับให้ผลิตภัณฑ์ของตนตอบโจทย์เท่าที่จะทำได้ก่อน แล้วจึงค่อยใช้ความแตกต่างที่เหนือกว่ามาแข่งขันกับผู้ขายรายอื่นๆ ปัจจัยที่ผู้ซื้อสหรัฐฯ ใส่ใจมากในปัจจุบัน อาทิ มีแหล่งผลิตในสหรัฐฯ (ประเด็นนี้อาจต้องตัดออกไป แต่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในสหรัฐฯ เองก็ใช่ว่าจะแข่งขันได้เมื่อนำปัจจัยทั้งหมดมาร่วมพิจารณาเลือกซื้อโดยผู้ซื้อ) หรือแหล่งผลิตที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ หรืออยู่ใกล้สหรัฐฯ มีคุณภาพสูงและเสมอต้นเสมอปลาย กระบวนการผลิตและวัสดุที่นำมาใช้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืน ฯลฯ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ หากมีใบรับรองอย่างเป็นทางการระดับสากล จะช่วยได้มาก มีการสำรวจหลายชิ้นจากหลายๆ สำนักยืนยันแล้วว่า ผู้บริโภคยอมจ่ายแพงกว่าราคาปกติหากมีคุณสมบัติดังกล่าวเหล่านี้
- รู้จักและเข้าใจกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายของผู้ซื้อที่ตนนำเสนอ ผู้ซื้อเหล่านี้ย่อมต้องศึกษา เข้าใจและเสาะหาสินค้าที่จะมาตอบสนองความต้องการของบรรดาผู้บริโภคเป้าหมายของเขา ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนา ออกแบบและนำเสนอให้ผู้ซื้อพิจารณาก็ย่อมจะต้องสามารถตอบโจทย์ของผู้ซื้อดังกล่าวได้ด้วย ชาวสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ใช้จ่ายกันหนักมากและสังสรรค์กันในทุกเทศกาล การวางแผนจะนำเสนอสินค้าสำหรับเทศกาลต่างๆ นั้นจะต้องวางแผนการผลิต ออกแบบและนำเสนอล่วงหน้าประมาณเกือบๆ 1 ปี (สินค้าที่เสนอในปีนี้ มักจะเป็นคอลเลคชั่นของแต่ละเทศกาลในปีถัดไป) ผู้ประกอบการไทยสามารถเรียนรู้และศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเป้าหมายจากหลายๆ ช่องทาง ซึ่งในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์นั้นน่าจะเป็นแหล่งข้อมูลและเวทีประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิผลสูงสุดสำหรับผลิตภัณฑ์หลายๆ ชนิด นอกจากนี้อาจติดตามเทรนด์ แนวโน้มและรสนินิยมต่างๆ ของตลาดเป้าหมายจากร้านค้าออนไลน์ของแบรนด์ดังต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีกันแทบจะทุกแบรนด์ งานแสดงสินค้า แสดงแฟชั่นโชว์ งานมหกรรมศิลป์ อย่าง Art Basel ตลอดไปจนถึงบรรดานิตยสารในแวดวงของสินค้าและเสื้อผ้าหรูหราระดับนานาชาติ ประเด็นหนึ่งที่อยากจะเน้นนั่นคือวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวสหรัฐฯ ที่แต่ละกลุ่มก็มีรสนิยมที่แหวกแตกต่างกันไป จากรายงานที่นำเสนอนี้ กลุ่มฮิสแปนิกมีพลังอำนาจที่สูงมากและจะขยายตัวต่อเนื่องจนในวันหนึ่งอาจเป็นกลุ่มประชากรหลักของสหรัฐฯ ก็เป็นไปได้ในอีกไม่นาน จึงขอยกตัวอย่างกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายกลุ่มนี้ ซึ่งสตรีในกลุ่มนี้จะมีทรวดทรงองค์เอว ส่วนโค้งเว้าที่โดดเด่น และนิยมเสื้อผ้าที่สามารถอวดเรือนร่างอันโดดเด่นเย้ายวนของตน ทั้งในโอกาสปกติ ในงานสังสรรค์และแม้แต่ในสถานที่ทำงานซึ่งแม้จะมีการใส่ชุดสากลมีเสื้อสวมทับบ้าง แต่ก็มักจะอดไม่ได้ที่จะมีการเผยบางส่วนแต่พองาม ส่วนการแต่งกายของบุรุษนั้นก็มักจะเรียบๆ เปิดเผยมัดกล้ามของตนบ้าง ในส่วนความหรูหรา ก็มักเน้นที่วัสดุและลวดลายผ้า เป็นต้น เสื้อผ้าที่มิดชิด หนา เสื้อทรงโคร่งแบบที่มักจะพบเห็นได้ตามร้านค้าเสื้อผ้าชุดทำงานสตรีในไทย ก็อาจจะไม่เหมาะกับกลุ่มนี้ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้วย Catalog ของเสื้อผ้าแฟชั่นที่จำหน่ายอยู่ในไทยอยู่แล้ว ก็อาจไม่เข้าตาผู้ซื้อ ผู้ผลิตไทยจึงควรจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรม เทรนด์และไลฟ์สไตล์ของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายในสหรัฐฯ แล้วนำเอาคุณค่าของงานฝีมือไทยมาปรับใช้ในการผลิตสินค้าและเสื้อผ้าแนวหรูหราตามแนวทางความนิยมของกลุ่มเป้าหมาย โดยอาจเน้นย้ำถึงเอกลักษณ์ของงานฝีมือไทยในสื่อประชาสัมพันธ์ โดยการชูคุณภาพของงานฝีมือและความพิเศษเฉพาะตัวของสินค้าหรูหราไทย ใช้การเล่าเรื่องเพื่อแสดงให้เห็นถึง ความชำนาญและภูมิปัญญาด้านการผลิต การออกแบบ และวัฒนธรรมไทย ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ โดยอาจต้องมีการจัดทำ คลิปวิดีโอแนะนำสินค้า เอกสารเผยแพร่ และตัวอย่างผลิตภัณฑ์ นำเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่กลุ่มเป้าหมายนิยมใช้ในการเกาะติดเทรนด์ใหม่ๆ อาทิ TikTok, Instagram, ฯลฯ เพื่อแสดงถึงความเป็นต้นตำรับและเอกลักษณ์ของวัสดุไทย การออกแบบ และเทคนิคการผลิต ช่วยสร้างความเชื่อมั่นทางอารมณ์แก่ผู้ซื้อชาวอเมริกัน
- สำหรับสินค้าและเสื้อผ้าหรูหรานั้น อาจต้องกำหนดทิศทางให้ชัดเจนเสียก่อนว่าจะสร้างแบรนด์ของตนเองหรือจะผลิตให้แบรนด์อื่น ในบรรดาแบรนด์ดังระดับโลกนั้น จะมีทีมงานที่เสาะหาวัสดุใหม่ๆ ที่มีความพิเศษบางอย่างอยู่เสมอ หากผู้ผลิตไทยมีการพัฒนาวัสดุในรูปแบบที่พิเศษๆ ก็อาจนำไปเสนอบรรดาผู้ซื้อเหล่านั้นได้ หรืออาจหาทางร่วมมือกับผู้ค้าปลีกและแบรนด์ในสหรัฐฯ เพื่อออกแบบ “คอลเลกชันร่วม” ที่ตอบโจทย์ของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายโดยใช้วัสดุ การออกแบบหรือภูมิปัญญาไทย ทำให้สินค้ามีความน่าสนใจต่อผู้บริโภคชาวอเมริกันมากขึ้นแต่หากจะสร้างแบรนด์ของตนเองแล้ว การสร้างการรับรู้ในงานแสดงสินค้าหรูระดับนานาชาติ โดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าหรูระดับใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น NY NOW, MAGIC Las Vegas, AmericasMart GA ฯลฯ เพื่อแสดงสินค้าหรูหราไทยให้กับกลุ่มผู้ซื้อที่หลากหลาย รวมถึงผู้ค้าปลีก ผู้ค้าส่ง และผู้จัดจำหน่ายในสหรัฐฯ หากสามารถมีการสาธิตการผลิตงานฝีมือไทยเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อในงานต่างๆ เหล่านั้นก็ยิ่งดี โดยเฉพาะใน AmericasMart ในรัฐจอร์เจียนั้น ยังมีห้องแสดงสินค้าทั้งแบบถาวร และแบบเฉพาะงาน โดยผู้จัดจะมีการจัดงานเปิดตลาดสินค้าแต่ละช่วงเฉพาะเป็นบางหมวด ซึ่งให้ผู้ร่วมแสดงสินค้าสามารถเช่าใช้เฉพาะในงานได้ แต่สำหรับห้องแสดงสินค้าแบถาวร นั้นสามารถเปิดแสดงได้ทั้งปี ซึ่งเท่ากับว่าได้ร่วมออกงานทุกๆ งานไปด้วย ในขณะที่ราคาเช่าพื้นที่ห้องแสดงสินค้าแบบถาวรนี้ กลับมีสนนราคาใกล้เคียงกับค่าเช่าบูธในงานเปิดตลาดแต่ละงานที่จัดในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่วัน หากได้ทำเลที่ดีก็ยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้น นอกจากนี้ แม้ไม่ได้นำสินค้าไปจัดแสดง ก็ยังอยากกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยให้เดินชมงานเหล่านี้ รวมถึงงานแฟชั่น งานแสดงผลงานศิลปะของแต่งบ้าน ฯลฯ ที่สอดคล้องกับสินค้าของตน เพื่อติดตามแนวโน้มความนิยมที่ไม่เคยหยุดนิ่งซึ่งบรรดาผู้ค้าปลีกรายใหญ่และแบรนด์ดังๆ ก็มักจะชี้นำแนวโน้มความนิยมผ่านช่องทางเหล่านี้
- การนำเสนอสินค้าที่น่าสนใจในสหรัฐฯ เช่น การมีสตูดิโอตามแหล่งสินค้าแฟชั่น หรือในระหว่างกิจกรรมพิเศษต่างๆ อย่าง งานแฟชั่นโชว์ งานแสดงสินค้าตกแต่งและงานศิลป์ นอกจากนี้สตูดิโอบางแห่งยังได้นำเสนอสินค้าของตนพร้อมบริการปรับแต่งสินค้า โดยมีคอลเลคชั่นหลักๆ เสนอ พร้อมแนวทางการปรับแต่งชิ้นงานแต่ละชิ้นที่ทำให้แตกต่างไปจากชิ้นอื่นๆ ในคอลเลคชั่นเดียวกัน รวมถึงการทำ Limited Edition ที่อาจเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้นไปได้อีก
- สร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับผู้ค้าปลีกและผู้จัดจำหน่ายในสหรัฐฯ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ยังเข้าไม่ถึงผู้ซื้อตัวจริง ควรเน้นดำเนินกิจกรรมการตลาดแบบธุรกิจถึงธุรกิจ (B2B) ที่ตรงเป้าหมาย หาโอกาสร่วมกิจกรรมของกรมฯ หากมีการจัดการอบรมหรือให้คำแนะนำโดยผู้ซื้อรายใหญ่หรือผู้เชี่ยวชาญสินค้าระดับโลก รวมถึงโอกาสสัมมนาในต่างประเทศร่วมกับผู้ค้าปลีกหรือบรรดาแบรนด์ดังระดับโลก การร่วมกิจกรรมการแสดงสินค้าระดับนานาชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่ง กรมฯ ก็ยังมีโครงการ SMEs Pro-Active ที่ให้ทุนสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการรายย่อยและระดับกลางอยู่อย่างต่อเนื่อง ติดตามแนวโน้มการเลือกใช้วัสดุ แนวทาง รูปแบบการออกแบใหม่ๆ ของแบรนด์ดังระดับโลก สำหรับผู้ที่พร้อมนำเสนอสินค้า ก็ยังสามารถขอให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศช่วยสื่อสารแบบเฉพาะเจาะจงถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ในสหรัฐฯ อาทิ การจับคู่ธุรกิจผ่านการประชุมออนไลน์กับผู้ซื้อตัวต่อตัว การสัมมนาทางเว็บ หรือการนำเสนอผ่านช่องทางที่ช่วยสร้างความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือได้อื่นๆ ในกรณีนี้ สคต. ไมอามีขอแนะนำให้พิจารณาเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในรูปแบบการจับคู่ธุรกิจที่จัดโดย eCRM ที่ผู้เข้าร่วมงานจะมีโอกาสนำเสนอสินค้าของตนต่อผู้ซื้อตัวจริงโดยตรงและยังมีโอกาสร่วมกิจกรรมสร้างความสนิทสนมในงานด้วย (ขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สคต. ไมอามี) อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมเช่นนี้ อาจต้องมีความพร้อมทั้งในด้านสินค้า และการดำเนินการในระดับหนึ่ง
- ศึกษาและทำความเข้าใจในโครงสร้างราคาของสินค้า และเสนอราคาที่แข่งขันได้และมีแรงจูงใจที่น่าดึงดูดใจมากเป็นพิเศษหากเป็นการนำแบรนด์ของผู้ประกอบการไทยเองไปจัดจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ พึงจะต้องเน้นนโยบายที่จะสร้างความสัมพันธ์แบบระยะยาวให้ได้เป็นหลัก และพึงตระหนักว่าสินค้าไทยที่จะนำมาจำหน่ายในสหรัฐฯ จะต้องผ่านการขนส่งในระยะทางไกลซึ่งย่อมต้องส่งผลต่อราคาจำหน่ายสินค้าในตลาดสหรัฐฯ แน่นอน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การขนส่งทางอากาศและทางเรือสินค้ามีราคาสูง สำหรับสินค้าหรูหรานั้นอาจมีช่องให้สามารถขยับขยายในการตั้งราคาได้ง่ายกว่าสินค้าพื้นฐานอื่นๆ แต่กระบวนการในการนำเสนอรูปแบบการตั้งราคาที่ดึงดูดใจและอธิบายถึงความคุ้มค่าอย่างชัดเจนให้ได้นั้น สำคัญยิ่ง เช่น อัตราส่วนระหว่างราคาและคุณภาพที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับแบรนด์สินค้าหรูหราระดับโลกอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ซื้อเห็นความคุ้มค่าในผลิตภัณฑ์จากไทย และหากจำหน่ายภายใต้ชื่อแบรนด์ของตนเอง ก็จำเป็นจะต้องสร้างแรงจูงใจในการซื้อมากขึ้น เช่น การนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบพรีวิวสำหรับผู้ค้าปลีกหรือการเสนอส่วนลดปริมาณสำหรับผู้ค้าส่ง ตลอดไปจนถึงความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์สินค้าและชื่อแบรนด์ด้วย ซึ่งในปัจจุบันสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิผลและด้วยต้นทุนที่ไม่สูงเกินเอื้อม ซึ่งแนวทางการเจรจาจะต้องไม่เน้นที่กำไร-ขาดทุนเป็นครั้งๆ ไป เช่นการส่งออกสินค้าแบบรับจ้างผลิตภายใต้แบรนด์ของผู้ซื้อ
- กลยุทธ์การตลาดแบบต่อเนื่อง (‘Always-On’) สำหรับ B2B เมื่อสามารถเข้าถึงผู้ซื้อแล้ว ขายของได้แล้ว อย่าหยุดแค่นั้น ควรย้ำเตือนสื่อสารความเคลื่อนไหวของตนเอง โดยการส่งข้อมูลอัปเดตให้กับพันธมิตรในสหรัฐฯ อย่างสม่ำเสมอ เช่น คอลเลกชันใหม่ นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ และข้อเสนอพิเศษ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมที่ต่อเนื่อง และทำให้สินค้าหรูหราไทยอยู่ในความสนใจของผู้ซื้อ
- มุ่งเน้นภาพลักษณ์ที่สอดคล้องกับหลักความยั่งยืน การจัดหาทรัพยากรอย่างมีจริยธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสำหรับสินค้าอาหาร เครื่องดื่มและของชำ ยังต้องเน้นสร้างภาพลักษณ์การมีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวนี้ ผู้บริโภคในแทบทุกกลุ่มให้ความสำคัญมากเป็นลำดับต้นๆ ในการเลือกซื้อสินค้า โดยบางรายยินดีที่จะจ่ายแพงกว่า หากผู้ประกอบการไทยได้มีการดำเนินการใดๆ ที่เข้าข่ายเป็นไปในแนวทางดังกล่าวนี้แล้ว ก็จงใช้ทุกโอกาสที่จะประกาศออกไปดังๆ ทุกครั้งที่มีการนำเสนอสินค้าในแบรนด์ของตน โดยในระหว่างการเจรจากับผู้ซื้อ ในสหรัฐฯ ก็อาจจะจำเป็นต้องมีการจัดทำ “รายงานด้านความยั่งยืน” ที่โปร่งใสเพื่อยืนยันกับผู้ซื้อในสหรัฐฯ ว่าผลิตภัณฑ์ไทยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือแก่กลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสินค้าของตน โดยเฉพาะหากจำหน่ายในแบรนด์ของตนเอง การสื่อสารด้วยจดหมายข่าวทางอีเมล การสัมมนาทางเว็บ และแคมเปญการตลาดดิจิทัล ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับผู้ซื้อในสหรัฐฯ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มตลาดไทย จุดแข็งของผลิตภัณฑ์ และเรื่องราวความสำเร็จจากพันธมิตรในสหรัฐฯ ที่เคยทำการค้ากับไทย
- สุดท้ายคือผู้ผลิตสินค้าจะประเภทใดก็ตาม พึงจะต้องรับทราบด้วยว่าผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ นั้น ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถนำสินค้าที่ซื้อ ชำระเงินและทดลองใช้แล้วไปคืนได้ภายในระยะเวลา 30 วัน หรือบางรายอาจมีกำหนดน้อยกว่านั้นในการคำนวณราคาขายส่งพึงจะต้องคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ไว้ด้วย และควรระมัดระวังทุกวิถีทางเพื่อให้การนำสินค้ามาคืนของผู้บริโภคไม่ได้มีสาเหตมาจากคุณภาพที่ต่ำกว่ามาตรฐานตามปกติ
*******************************************************
สคต. ไมอามี /วันที่ 29 ตุลาคม 2567