เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ชาวพื้นเมืองนิวซีแลนด์ประมาณ 42,000 คนได้รวมตัวกันเดินขบวน ประท้วงคัดค้านร่างกฎหมาย The treaty principles bill ที่เปลี่ยนแปลงการตีความในสนธิสัญญาไวทังกี (Treaty of Waitangi) หน้ารัฐสภานิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ลงนามระหว่างหัวหน้าชาวเมารีมากกว่า 500 คนและราชวงศ์อังกฤษในปี 1840 ซึ่งมีใจความสำคัญต่อการปกป้องคุ้มครองสิทธิอย่างชอบธรรมของชาวเมารี (Māori ) ถือเป็นการก่อตั้งนิวซีแลนด์และการเป็นอาณานิคมอังกฤษอย่างเป็นทางการ (เป็นเอกราชในปี 1947)
การรวมตัวของชาวพื้นเมืองนิวซีแลนด์ในครั้งนี้เป็นการเดินขบวนที่เรียกว่า hīkoi mō te Tīriti (การเดินขบวนเพื่อสนธิสัญญา) มีระยะเวลายาวนานกว่า 9 วัน ซึ่งถือว่าเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นิวซีแลนด์ โดยมี Nga wai hono i te po ราชินีแห่งชาวเมารีร่วมเดินขบวนด้วย รวมถึงกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชาวพื้นเมืองได้เข้าร่วมสนับสนุนการประท้วงเพื่อความชอบธรรมและปกป้องสิทธิ์ของชาวเมารี การเดินขบวนเต็มไปด้วยพลังและความภาคภูมิใจ มีการชูธงชาติเมารี (Tino rangatiratanga) สีแดง ขาว และดำและถือป้ายเรียกร้องให้ยกเลิกร่างกฎหมาย พร้อมกับร้องเพลงและเต้นฮากาในระหว่างการเคลื่อนขบวนที่เริ่มต้นจาก Cape Reinga เขตตอนเหนือและเคลื่อนขบวนลงมาทางใต้ของเกาะเหนือไปยังเมืองหลวงเวลลิงตัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเคารพและให้เกียรติแก่สนธิสัญญาต้นฉบับ ยกเลิกร่างกฎหมาย รวมถึงนโยบายอื่นๆที่มีผลกระทบต่อชาวเมารี แม้ว่าจะมีจำนวนผู้เข้าร่วมเดินขบวนจำนวนมาก แต่การเดินขบวนเป็นไปอย่างสงบและไม่มีการรายงานเหตุการณ์วุ่นวาย
ร่างกฎหมาย The treaty principles bill ถูกเสนอโดยพรรค ACT พรรคเสรีนิยมขนาดเล็กซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐบาลผสม โดยมีนาย David Seymour เป็นผู้นำพรรค ระบุว่า หลักการโดยพื้นฐานของสนธิสัญญาไวทังกีต้นฉบับทั้งภาษาอังกฤษและภาษาเมารีที่บังคับใช้และตีความหมายในปัจจุบัน ได้ถูกพัฒนาโดยศาลยุติธรรม คณะกรรมาธิการและนักกฎหมายต่างๆ ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจที่ชาวเมารีต้องเผชิญ โดยหลักการของสนธิสัญญาไวทังกีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ได้แก่ การมีส่วนร่วม การเป็นพันธมิตร การคุ้มครอง และการชดเชย แต่พรรค ACT เชื่อว่าการตีความหมายในหลักการของทั้ง 2 ภาษาที่ผ่านมา เป็นการสร้างระบบการปกครองแบบคู่ขนานสำหรับชาวนิวซีแลนด์ ส่งผลให้สิทธิทางการเมืองและกฎหมายระหว่างชาวเมารีกับชาวนิวซีแลนด์ผิวขาวมีความแตกต่างกันมานานหลายทศวรรษ ซึ่งพรรค ACT ต้องการยุติการแบ่งแยกโดยเชื้อชาตินี้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม จึงเสนอร่างกฎหมายเพื่อพิจารณาเป็นครั้งแรกในวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ท่ามกลางการไม่เห็นด้วยของพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงการฉีกสำเนาของร่างกฎหมายและการเต้นฮากาที่นำโดย Hana-Rawhiti Maipi-Clarke สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรค Te Pāti Māori ในระหว่างการโหวตเสนอร่างกฎหมายครั้งแรก
ปัจจุบันชาวเมารีที่อาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์มีจำนวน 978,246 คน (คิดเป็นร้อยละ 19 จากประชากรนิวซีแลนด์ทั้งหมด 5.3 ล้านคน) มีพรรค Maori และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 6 ที่นั่งในรัฐสภา
หากร่างกฎหมายนี้ผ่านเป็นกฎหมายจะเปลี่ยนแปลงวิธีการตีความสนธิสัญญาไวทังกีไปจากเดิมมาก ซึ่งกลุ่มคุ้มครองสิทธิของชาวเมารีเชื่อว่าร่างกฎหมายนี้จะทำให้เกิดการแบ่งแยก บิดเบือนสนธิสัญญาต้นฉบับ (โดยยกเลิกหลักการที่มีอยู่และแทนที่ด้วยหลักการที่นิยามใหม่) และทำลายความสัมพันธ์ระหว่างชาวเมารีและรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการด้านยุติธรรมจะรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ คาดว่าจะใช้เวลาหกเดือน ก่อนที่จะนำกลับมาพิจารณาอีกครั้งในรัฐสภา
………………………………………………………………………………………………….
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์
ที่มา
www.parliament.nz
www.abc.net.au
www.theguardian.com
www.reuters.com