โรงฆ่าสัตว์ Tönnies เปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ผลิตอาหาร ภายใต้ชื่อ Premium Food Group

“รูปวัวและหมูที่หมุนอยู่บนหลังคาโกดังแช่แข็งสินค้า” ของบริษัท Tönnies สำนักงานใหญ่ในเมือง Rheda-Wiedenbrück เมื่อ 3 ปีที่แล้วได้หายไป ซึ่งมีคำชี้แจงของบริษัทฯ ออกมาว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 บริษัทฯ ในฐานะที่เป็นผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์อันดับ 1 ของเยอรมนีได้เผชิญหน้ากับวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุด (ในรอบ 50 ปี)  ดังนั้นตัวการ์ตูนรูปวัวและหมู ที่ดูน่ารักในแบบเดิมจึงดูไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่เลวร้ายของบริษัทอีกต่อไป และในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โลโก้สีเขียวของ “Tönnies” ได้ถูกลบออกจากสำนักงานใหญ่แล้ว เนื่องจากบริษัท Tönnies Holding ต้องการเปลี่ยนชื่อเป็น “Premium Food Group (PFG)” แทน เดิมชื่อ Tönnies มักถูกสาธารณชนเยอรมันนำมาใช้หรือสะท้อนภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยสำหรับคนงานชั่วคราว และการผลิตสินค้าเนื้อสัตว์ในลักษณะจำนวนมากๆ (Mass Production) เป็นระยะเวลายาวนาน โดยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งธุรกิจเนื้อวัว และเนื้อหมู ด้านนาย Gereon Schulze Althoff, Chief Sustainability Officer กล่าวว่า “จริง ๆ แล้วเราไม่ได้เป็นเพียงโรงฆ่าสัตว์ แต่เราเป็นผู้ผลิตอาหารในวงกว้าง” และได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “เราเป็นมากกว่าผู้ผลิตเนื้อเนื้อสัตว์” จากการสำรวจของหนังสือพิมพ์ “Lebensmittelzeitung” ในปี 2023 บริษัท Tönnies เป็นผู้ส่งสินค้าบริโภครายใหญ่ที่สุดสำหรับธุรกิจสินค้าบริโภคของเยอรมนี ด้วยยอดจำหน่ายสูงถึง 4.16 พันล้านยูโร และในปีนั้นบริษัท Tönnies ก็สามารถเอาชนะบริษัท Dr. Oetker ผู้เชี่ยวชาญด้านพิซซ่า และพุดดิ้งได้ โดย Dr. Oetker ได้ตกลงอยู่ในอันดับที่ 2 ด้วยยอดจำหน่าย 3.9 พันล้านยูโร

 

นาย Klaus Martin Fischer ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอาหารและหุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษา RSM Ebner Stolz กล่าวว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Tönnies เพิ่มความหลากหลายในธุรกิจเป็นอย่างมาก และกลายเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา” ปัจจุบัน Tönnies ไม่เพียงแต่เป็นผู้ผลิตเนื้อสัตว์และไส้กรอก แต่เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ Vegan อาหารสำเร็จรูป (ยี่ห้อ Tillman’s) ซอสสำเร็จรูป ซุป และอาหารสัตว์ ซึ่งไม่ได้จำหน่ายเฉพาะในเยอรมนีเท่านั้น แต่ได้จำหน่ายในหลายประเทศ อาทิ เดนมาร์ก อิตาลี และสหราชอาณาจักร ด้านนาย Schulze Althoff ผู้บริหารอธิบายว่า “นอกจากนี้ เรายังหาวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมยาและอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ อีกทั้ง ดำเนินธุรกิจห้องเย็นของเราเอง และร่วมงานกับบริษัท Tevex ซึ่งเป็นบริษัทโลจิสติกส์สินค้าสด” นอกจากนี้อีกเหตุผลหนึ่งในการเปลี่ยนชื่อก็คือ ในต่างประเทศแทบไม่มีใครเลยที่เข้าใจความเกี่ยวข้องของชื่อ Tönnies กับธุรกิจอาหาร ซึ่ง Tönnies เป็นบริษัทที่บริหารแบบครอบครัวดำเนินธุรกิจกว่า 44% ในต่างประเทศ ในปี 2023 ยอดจำหน่ายทั่วโลกของกลุ่มธุรกิจกลับมาฟื้นตัวขึ้นมาเป็น 7.3 พันล้านยูโร หลังจากขาดทุนในช่วงโควิด-19 โดยนาย Clemens Tönnies ผู้ถือหุ้นหลัก และนาย Carl Bürger, CFO ยังคงเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ถือหุ้นส่วนใหญ่ (Holding Company) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร เช่น การเงิน ทรัพยากรบุคคล ไอที และการจัดซื้อ จะถูกนำมารวมอยู่ในกลุ่มเดียวกัน  นาย Maximilian Tönnies หนึ่งในผู้ถือหุ้นบุตรชายของนาย Clemens Tönnies เน้นย้ำว่า “เวลานี้แต่ละกลุ่มธุรกิจก็เกือบจะเป็นบริษัทที่บริหารตัวเองอยู่แล้ว เพื่อให้ถึงจุดหมายสำหรับเราชอบใช้เรือเร็วหลาย ๆ ลำมากกว่าจะใช้เรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่เพียงลำเดียว” นาง Julia Hupp กล่าวว่า Chief Transformation Officer การเปลี่ยนชื่อบริษัทจะไม่ส่งผลทำให้เกิดการลดตำแหน่งการจ้างงาน บริษัท Tönnies มีพนักงาน 21,000 คน ในสำนักงาน 32 แห่งทั่วโลก ซึ่งพนักงานจำนวน 17,000 คน ทำงานอยู่ในเยอรมนี โดยผู้ถือหุ้นหลักทั้งสามรายร่วมกันประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทในการประชุมพนักงานดิจิทัลเมื่อเช้าวันพุธ นาย Robert Tönnies ลูกชายของ Bernd Tönnies ผู้ก่อตั้งบริษัทผู้ล่วงลับ ถือหุ้น 50% ของบริษัทลุงของเขานาย Clemens วัย 68 ปี และนาย Maximilian Tönnies ลูกชายของเขา ซึ่งมีอายุประมาณ 30 กลาง ๆ ถือหุ้นร่วมกันอีกครึ่งหนึ่ง โดยเป็นเวลานานแล้วที่ทั้งสามปรากฏตัวพร้อมกัน และแสดงความสามัคคีกัน การที่นาย Robert Tönnies เข้าเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทนำไปสู่ความขัดแย้งอันขมขื่นเกี่ยวกับทิศทางการบริหารบริษัทมานานหลายปี โดยปัญหาเหล่านี้ยังถูกนำไปต่อสู้กันทางกฎหมายในชั้นศาลอีกด้วย จนปัญหาบานปลายขนาดที่ในปี 2021 มีการตรวจสอบการขายทั้งบริษัทเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามในเวลานั้นก็ไม่พบผู้ต้องการที่จะซื้อบริษัท หรือมีผู้ต้องการซื้อแต่ไม่ต้องการจ่ายในราคาที่สมเหตุสมผล ตั้งแต่นั้นมาชายทั้งสามของ Tönnies ก็ทำหน้าที่กลับมาเป็นแนวร่วมอีกครั้ง โดยชื่อภาษาอังกฤษใหม่ที่ชื่อว่า Premium Food Group นั้น ในทางทฤษฎีแล้วอาจทำให้การขายบริษัทในภายหลังง่ายขึ้นก็ได้เช่นกัน

 

ขณะนี้สัญญาณทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า บริษัทมีแนวโน้มที่จะดำเนินธุรกิจครอบครัวต่อไป ผู้ถือหุ้นเน้นว่า “ดีเอ็นเอของเราคือธุรกิจของครอบครัว และมันจะคงอยู่เช่นนั้นต่อไป” นาย Schulze Althoff ให้ความมั่นใจกับสื่อมวลชนว่า นาย Clemens Tönnies เป็นหัวเรือหลักรับหน้าที่ดำเนินธุรกิจเต็มรูปแบบ เขาทำงานร่วมกับนาย Maximilian Tönnies ลูกชายของเขา ซึ่งทยอยรับหน้าที่และงานต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแผนกไส้กรอก Zur-Mühlen-Gruppe นาย Schulze Althoff กล่าวว่า “มันก็เหมือนกับการทำฟาร์มในภูมิภาค East Westphalian ที่คนแก่ก็ยังทำงานอยู่ และในเวลาเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็ทยอยเข้ามารับภาระในฟาร์มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” แม้ว่าปัจจุบันนาย Robert Tönnies ยังไม่ได้ทำงานในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารมาก แต่เขาก็ร่วมเริ่มปรับตัวเข้ากับงานได้อย่างเต็มที่ โดยการเปลี่ยนชื่อของบริษัท Tönnies Holding นั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของเยอรมนีประสบวิกฤติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ในขณะที่การบริโภคเนื้อสัตว์ของชาวเยอรมันลดลง ต้นทุนของผู้ผลิตเนื้อสัตว์ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในปี 2021 มีการ (1) สั่งห้ามไม่ให้มีการจ้างงานพนักงานชั่วคราว (2) จำนวนสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อการบริโภคก็ลดลง ทำให้โรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่หลายแห่งจึงต้องปิดกิจการไป นาย Schulze Althoff กล่าวว่า “บริษัทผู้ผลิตเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ถึงกับบอกลาเยอรมนี และทยอยออกจากตลาดเยอรมันด้วยเหตุนี้” ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาบริษัท Vion โรงฆ่าสัตว์สัญชาติเนเธอร์แลนด์ก็ได้ขายธุรกิจในเยอรมนีเนื่องจากวิกฤตดังกล่าว ทำให้บริษัท Tönnies ต้องการเข้ามาควบคุมธุรกิจเนื้อวัวส่วนใหญ่ของโรงฆ่าสัตว์ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมนี ขณะนี้สำนักงานป้องกันสิทธิประโยชน์ทางการค้าแห่งเยอรมนี (Kartellamt) กำลังตรวจสอบการเข้าควบกิจการดังกล่าว นาย Schulze Althoff กล่าวว่า “เราหวังว่าจะได้คำตอบในเร็ววันนี้”

 

นาย Fischer ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมได้กล่าวเกี่ยวกับการวางแผนเข้าซื้อกิจการบริษัท Vion ว่า บริษัท Tönnies มักจะตัดสินใจอย่างกล้าหาญเสมอเมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบากในอุตสาหกรรม ขณะนี้ Tönnies ไม่ได้วางแผนจะเข้าซื้อกิจการใด ๆ ในต่างประเทศอีกต่อไป นาย Schulze Althoff กล่าวว่า “แน่นอนเราเปิดรับสิ่งที่มีประโยชน์กับเรา แต่ตลาดหลักของเราคือ เยอรมนี” เห็นได้ชัดว่า  บริษัทTönnies ระงับแผนการสร้างโรงฆ่าสัตว์ขนาดใหญ่ในสเปนไว้ก่อน โดยบริษัทวางแผนการดำเนินการโรงฆ่าสัตว์อัตโนมัติที่ทันสมัย ที่สามารถชำแหละได้มากถึง 70,000 ครั้งต่อสัปดาห์ และตั้งใจว่าจะสร้างขึ้นในแคว้นอารากอนในสเปนภายในปี 2024 ปัจจุบันตลาดสเปนกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญยิ่งนาย Fischer ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า คู่แข่งรายใหญ่ในประเทศสเปนมีฟาร์มของตนเอง รอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ในธุรกิจดังกล่าวของประเทศเสปนยังเลวร้ายกว่าในเยอรมนีมาก นาย Fischer กล่าวว่า “ดังนั้นจึงเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลที่จะไม่บุกตลาดดังกล่าวต่อไปในขณะนี้” อย่างไรก็ตาม ในจีนบริษัท Tönnies ได้เพิ่งเปิดโรงงานผลิตเนื้อสัตว์แห่งแรก นาย Fischer กล่าว “มันเป็นการเคลื่อนไหวทางธุรกิจที่ชาญฉลาด แม้ว่าจะเป็นก้าวเล็ก ๆ ก็ตาม” เนื่องจากจีนเป็นตลาดหนึ่งที่มีความต้องการเนื้อสัตว์มากที่สุดในโลก เป็นเวลานานแล้วที่บริษัท Tönnies ทำธุรกิจที่ทำกำไรด้วยการส่งออกชิ้นส่วนสุกร ซึ่งส่วนใหญ่ในเยอรมนีจะถูกนำมาทำเป็นอาหารสัตว์ ในขณะที่ หาง หู และอุ้งเท้า ถือเป็นอาหารอันโอชะของจีน แต่ด้วยการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever virus) ที่ติดต่อได้ง่ายในเยอรมนีเมื่อเดือนกันยายน 2020 จีนจึงออกคำสั่งห้ามนำเข้าชิ้นส่วนสุกรจากประเทศเยอรมัน สำหรับบริษัท Tönnies และเพื่อนร่วมวงการคนอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม ธุรกิจจีนที่ทำกำไรมหาศาลก็ได้พังทลายลงภายในวันเดียว ขณะนี้ Tönnies ได้เปิดโรงงานอัตโนมัติที่ล้ำสมัยในมณฑลเสฉวน โดยนาย Clemens Tönnies ให้เหตุผลในการเคลื่อนไหวทางธุรกิจดังกล่าวว่า “การลงทุนของเราในประเทศจีนคือการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของเราเพื่อตอบสนองความต้องการผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์คุณภาพสูงที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย และในขณะเดียวกันก็เพื่อร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมในการผลิตเนื้อสัตว์ในภูมิภาคดังกล่าวด้วย”

 

จาก Handelsblatt 25 พฤศจิกายน 2567

thThai