ตามข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาด Euromonitor เปิดเผยว่า การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในเวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 1.59 พันล้านลิตรในปี 2552 เป็น 6.67 พันล้านลิตรในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 420 การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลต่อหัวในเวียดนามก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 350 จาก 18 ลิตรต่อคนในปี 2552 เป็น 66 ลิตรต่อคนในปี 2566 และการศึกษาการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในกลุ่มวัยรุ่นเวียดนามพบว่าร้อยละ 43 บริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้มากกว่าสองครั้งต่อสัปดาห์ ในขณะที่ร้อยละ 13.5 ดื่มเกือบทุกวัน

ในงานสัมมนาที่จัดขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงฮานอย ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มการบริโภคในปัจจุบัน ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และบทบาทของภาษีการบริโภคพิเศษ (Special Consumption Tax) สำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในการลดการบริโภค โดยผู้เชี่ยวชาญได้เน้นย้ำว่าการจัดเก็บภาษีการบริโภคพิเศษสำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นการแทรกแซงที่สำคัญในการลดผลกระทบด้านสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้ และผู้เข้าร่วมการสัมมนายังได้เสนอให้มีการเสริมสร้างกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับการติดฉลากอาหาร การแสดงข้อมูลโภชนาการ ปริมาณน้ำตาลที่แสดงอย่างชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ และคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่สูง นอกจากนี้ ยังแนะนำให้เพิ่มการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และเพื่มความเข้มงวดในการควบคุมการขาย การโฆษณา การตลาด และการให้การสนับสนุน

ทั้งนี้ การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลโดยไม่มีการควบคุมได้รับการระบุว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน รวมถึงความผิดปกติของระบบเมตาบอลิซึมทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวานประเภท 2 ความดันโลหิตสูง และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง

 (แหล่งที่มา https://tuoitrenews.vn/ ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567)

วิเคราะห์ผลกระทบ

การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวียดนามในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากมาย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในวัยรุ่น ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ  เช่น โรคเบาหวานประเภท 2 ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ โรคเหล่านี้เป็นปัญหาที่ท้าทายต่อระบบสาธารณสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในเวียดนาม ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขเวียดนามจึงได้มุ่งเน้นให้การกำหนดภาษีการบริโภคพิเศษ (Special Consumption Tax) สำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญ เพื่อช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังเวียดนามได้เสนอให้เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงถึงร้อยละ 40 (หรือเริ่มต้นที่ร้อยละ 30 และเพิ่มเป็นร้อย 40 ตามแผนงาน) จะต้องเสียภาษี โดยอัตราภาษีที่เสนอคือร้อยละ 10 เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจผลิตและนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลต่ำมากขึ้น และช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

เวียดนามเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการส่งออกเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงจากไทย แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายจากมาตรการภาษีการบริโภคพิเศษสำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลที่กำลังจะถูกบังคับใช้ในเวียดนาม ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาสินค้าและพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งการเก็บภาษีสำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงจะเพิ่มต้นทุนในการผลิตและนำเข้าสินค้า ส่งผลให้ราคาขายของเครื่องดื่มอาจสูงขึ้น และอาจทำให้ผู้บริโภคลดการบริโภคสินค้าดังกล่าวหรือหันไปหาผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลต่ำหรือไม่มีน้ำตาลแทน ดังนั้น ผู้ส่งออกสินค้าเครื่องดื่มจากไทยจึงควรติดตามการออกมาตรการภาษีการบริโภคพิเศษสำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในเวียดนามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์ทางการตลาดและผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม เช่น การพัฒนาเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลต่ำ หรือการส่งเสริมเครื่องดื่มที่มีคุณสมบัติทางสุขภาพ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อแนวโน้มการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและลดผลกระทบจากภาษีที่อาจจะเกิดขึ้น

thThai