เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับสหรัฐฯ และนโยบายของนายทรัมป์อาจส่งผลกระทบอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่นายทรัมป์เข้ารับตำแหน่งครั้งแรก มูลค่าการส่งออกจากญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 40% ดุลการค้าของญี่ปุ่นต่อสหรัฐฯ อยู่ที่เกินดุล 8.7 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 1.9 ล้านล้านเยน ซึ่งสร้างความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้าที่อาจปะทุขึ้นอีกครั้ง
นายทรัมป์ได้ประกาศในช่วงการหาเสียงว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในอัตราเดียวที่ 10 – 20% หากนโยบายนี้เกิดขึ้นจริง ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าญี่ปุ่นในตลาดสหรัฐฯ จะลดลง บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะย้ายฐานผลิตไปสหรัฐฯ มากขึ้น แนวโน้มน่าจะเป็นกลุ่มยานยนต์ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เช่น โตโยต้า มาสด้า ฮอนด้า และนิสสัน ส่งออกรถยนต์ที่ผลิตในเม็กซิโกไปยังสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบหากการขึ้นภาษีดำเนินไปในระยะยาว อาจมีความเป็นไปได้ที่ “การผลิตในสหรัฐฯ จะมีต้นทุนถูกกว่า ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น
นอกจากนี้ สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเรียกเก็บภาษีสินค้าจีนในอัตรา 60% ซึ่งอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนในห่วงโซ่อุปทาน ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นในสหรัฐฯ พึ่งพาการจัดหาสินค้าจากต่างประเทศถึง 50% ซึ่งจะทำให้ชิ้นส่วนจากจีนไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้ Barclays Securities ระบุว่า “นโยบายภาษีของนายทรัมป์อาจส่งผลให้ GDP ที่แท้จริงของจีนลดลง 2.0% และสหรัฐฯ ลดลง 1.4% ซึ่งจะนำไปสู่การลดความต้องการสินค้าญี่ปุ่นไปด้วย และทำให้ GDP ที่แท้จริงของญี่ปุ่นลดลง 0.3%” ทั้งนี้ ความต้องการนโยบาย “China Plus One” ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐฯ มีการคาดการณ์ว่าจะมีการผ่อนคลายกฎระเบียบ ซึ่งอาจกระตุ้นเศรษฐกิจ นายทรัมป์ได้เสนอแนวทางการลดภาษีนิติบุคคลบางส่วน และขยายเวลาการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบถาวร ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในสหรัฐฯ
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ในปี 2566 สหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าส่งออกอันดับ 1 ของญี่ปุ่น โดยมูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่ 20,260,169 ล้านเยน สินค้าส่งออกอันดับ 1 คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล (28.8%) ส่วนอันดับที่ 2-10 ได้แก่ เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักรก่อสร้างและเหมืองแร่ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์และออปติก เครื่องมือผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ยา เครื่องจักรไฟฟ้าขนาดใหญ่ เครื่องมือวัดทางไฟฟ้า และปั๊ม-เครื่องปั่นแยก หากไทยส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ รวมถึงชิ้นส่วนและวัตถุดิบไปยังญี่ปุ่น สินค้าสำเร็จรูปบางส่วนอาจถูกส่งต่อไปยังสหรัฐฯ ทำให้ไทยอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน การเพิ่มการจัดหาในสหรัฐฯ และผลกระทบจากภาษีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ความต้องการลดลงไปด้วย
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ฉบับที่ 7 วันที่ 9 – 15 พฤศจิกายน 2567
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei Shimbun ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567