(ที่มา : aT-center, วารสาร Korea Rural Economic Institute ฉบับเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2567 )

สำนักงานสถิติแห่งชาติ เกาหลี (Statistics Korea) ประกาศเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ว่า ผลผลิตข้าวของเกาหลีใต้ในปี 2567 มีประมาณ 3.585 ล้านตัน ซึ่งลดลง 118,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.2 จากปี 2566 โดยผลผลิตข้าวต่อเนื้อที่เพาะปลูก 1,000 ตารางเมตร (10a) ลดลงจาก 523 กิโลกรัม เหลือ 514 กิโลกรัม

การลดลงของผลผลิตข้าวในเกาหลีใต้เกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ พื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง ฝนตกหนัก และอุณหภูมิสูงในช่วงที่เมล็ดข้าวเริ่มสุก โรคและแมลงศัตรูพืช เป็นต้น พื้นที่เพาะปลูกข้าวในเกาหลีใต้ลดลงร้อยละ 15จาก 708,000 เฮกตาร์ ในปี 2566 เหลือ 698,000 เฮกตาร์ ในปี 2567 ซึ่งหากจำแนกตามภูมิภาค จังหวัดชอลลาเหนือ (Jeollanamdo) มีผลผลิตข้าวสูงสุดที่ 709,000 ตัน ตามมาด้วยชุงชองใต้ (Chungcheonbukdo) ที่ 706,000 ตัน และชอลลาใต้ (Jeollabukdo) ที่ 545,000 ตัน

<พื้นที่เพาะปลูกข้าวและผลผลิตจำแนกตามปี>

ผลผลิตข้าวในเกาหลีใต้ลดลงร้อยละ 3.2

<ผลผลิตข้าวในเกาหลีใต้จำแนกตามภูมิภาค>

ผลผลิตข้าวในเกาหลีใต้ลดลงร้อยละ 3.2

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติยังระบุว่า การบริโภคข้าวในเกาหลีใต้ลดลง โดยการบริโภคข้าวต่อหัวในปี 2566 อยู่ที่ 56.4 กิโลกรัมต่อคน ลดลงถึง 48.82% จาก 110.2 กิโลกรัมในปี 2536 ซึ่งถือว่าลดลงถึงครึ่งหนึ่งในรอบ 30 ปี ด้วยวิถีการดำเนินชีวิตของคนยุคปัจจุบันที่เร่งรีบ และต้องการความรวดเร็ว บวกกับอาหารที่มีตัวเลือกเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภครับประทานข้าวเป็นมื้ออาหารหลักน้อยลง และหันไปรับประทานขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยว อาหารว่างอื่นๆ แทน หรือเลือกที่จะซื้อข้าวสารในปริมาณน้อยลง โดยข้าวสารขนาด 5 – 10 กิโลกรัม ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นกว่าสมัยก่อน

แม้การบริโภคข้าวในเกาหลีใต้จะลดลง  แต่ข้าวยังคงเป็นอาหารหลักของคนเกาหลี  และเป็นหนึ่งในสินค้าที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพของตลาดสินค้าและสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูก แม้ว่าการบริโภคข้าวจะลดลง แต่ปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มบริโภคข้าวในรูปแบบแปรรูปมากขึ้น เช่น ขนมปังที่ทำจากแป้งข้าว ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่แพ้แป้งสาลี หรือผู้บริโภคสายรักสุขภาพที่มองหาขนมปังปราศจากกลูเตน เกษตรกรเกาหลีจึงเริ่มหันมาปลูกข้าวที่ใช้สำหรับทำแป้งข้าวมากขึ้น

ความเห็น สคต.

แม้ผลผลิตข้าวในเกาหลีใต้จะลดลงจากปีก่อนหน้า แต่หากพิจารณาจากแนวโน้มอัตราการบริโภคข้าวเฉลี่ยต่อหัวที่ลดลงมากกว่าอัตราการลดลงของผลผลิตแล้ว ผลผลิตที่ได้มีมากกว่าความต้องการบริโภค รัฐบาลเกาหลีใต้จึงมีภาระในการรับซื้ออุปทานข้าวส่วนเกินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา

แนวโน้มการบริโภคข้าวที่ลดลงของชาวเกาหลีใต้และผลผลิตที่ล้นตลาด อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศของเกาหลี ซึ่งปัจจุบันนำเข้าภายได้ระบบโควตาอัตราภาษี (TRQ) ซึ่งเป็นระบบที่กำหนดอัตราภาษีต่ำสำหรับการนำเข้าสินค้าแบบเฉพาะเจาะจงจำนวนหนึ่ง และใช้อัตราภาษีสูงกับปริมาณที่นอกเหนือนั้นในการนำเข้า โดยระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2567 เกาหลีนำเข้าข้าวจากประเทศไทยภายใต้ระบบ TRQ ปริมาณ 27,495 ตัน หากอัตราการบริโภคข้าวในเกาหลียังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดปริมาณข้าวนำเข้าภายในโควตา และส่งผลถึงปริมาณส่งออกข้าวไทยมาเกาหลีอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ข้าวยังคงเป็นอาหารหลักของผู้บริโภคเกาหลี ผู้ส่งออกควรศึกษาแนวโน้มการบริโภคข้าวที่เปลี่ยนไปของคนเกาหลี และพิจารณานำข้าวมาดัดแปลงเป็นสินค้าแปรรูป เช่น ขนมอบกรอบจากข้าว เครื่องดื่มน้ำนมข้าว แป้งไร้กลูเตนจากข้าว เพื่อรองรับความต้องการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนเกาหลีทีใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคในกลุ่มต่างๆ เพิ่มเติม

         

********************************************************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

 

 

 

thThai