ผู้ค้าปลีก Bunnings (จำหน่ายอุปกรณ์/วัสดุก่อสร้างรายใหญ่ในออสเตรเลีย) ถูกกล่าวหาว่าได้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการภายในร้านจำนวนมาก จากการตรวจสอบโดย Office of the Australian Information Commissioner (OAIC) พบว่า ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา Bunnings มีการใช้กล้องวงจรปิดที่มีเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial Recognition Technology : FRT) เพื่อจับภาพใบหน้าของลูกค้าที่เข้าไปเลือกซื้อสินค้าภายในร้านจำนวน 63 แห่งในรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐวิกตอเรีย
Carly Kind คณะกรรมการด้านความเป็นส่วนตัว กล่าวว่า Bunnings ละเมิดพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Act) โดยการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากลูกค้าโดยไม่ได้รับการยินยอมในระหว่างที่เข้าไปใช้บริการภายในร้านในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงพฤศจิกายน 2564 และ Bunnings ได้นำภาพใบหน้ามาเปรียบเทียบกับลูกค้าที่เคยมีประวัติภัยคุกคาม อาชญากรหรือการใช้ความรุนแรงในอดีต
แม้ว่าเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าอาจจะเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำที่ Bunnings จะสามารถใช้ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อใช้ในการควบคุม/ป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย รวมถึงเหตุการณ์สร้างความรุนแรง พฤติกรรมก้าวร้าวต่อเจ้าหน้าที่/พนักงานที่ให้บริการภายในร้าน แต่การเลือกใช้ เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าของ Bunnings ถือเป็นเครื่องมือที่เสี่ยงต่อการละเมิดความเป็นส่วนตัวสูงและเป็นการแทรกแซงความเป็นส่วนตัวของทุกคนที่เข้ามาในร้าน (ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงเพียงอย่างเดียว) โดยไม่ได้มีการแจ้งลูกค้าให้ทราบถึงการใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าและการรวบรวมข้อมูลของลูกค้าในช่วงเวลาดังกล่าว อีกทั้ง ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้จัดประเภทภาพใบหน้าและข้อมูลชีวมิติอื่นๆ ว่าเป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อน และได้รับการคุ้มครองภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งโดยทั่วไปต้องได้รับการยินยอมก่อนจะถูกเก็บรวบรวม
ในช่วงระยะเวลาการตรวจสอบ แม้ว่า Bunnings จะให้ความร่วมมือในการสอบสวนและยุติการใช้เทคโนโลยี FRT แต่คณะกรรมการ OAIC ได้ตัดสินว่า Bunnings ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่เหมาะสมเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และมีคำสั่งห้าม Bunnings กระทำหรือดำเนินการที่แทรกแซงความเป็นส่วนตัวของบุคคลอีก และให้ทำลายข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากเทคโนโลยี รวมถึงให้เผยแพร่แถลงการณ์ยอมรับผลการตรวจสอบต่อสาธารณชน
คำตัดสินในครั้งนี้ควรเป็นบทเรียนและเตือนให้กับองค์กรต่างๆตระหนักและพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับการประยุกต์/ปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในด้านต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อการละเมิดความเป็นส่วนตัวและปฏิบัติตามภาระผูกพันด้านความเป็นส่วนตัวอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม นาย Mike Schneider กรรมการผู้จัดการ Bunnings กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นขอทบทวนคำตัดสินของ OAIC และคาดหวังว่า คณะกรรมการจะยอมรับถึงความจำเป็นเกี่ยวกับการใช้ FRT ของบริษัทอย่างสมเหตุผลระหว่างภาระผูกพันด้านความเป็นส่วนตัวและความจำเป็นต่อการปกป้องทีมงาน ลูกค้า และ Suppliers จากการภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากการก่ออาชญากรรมรุนแรง ซึ่งมักเกิดจากผู้กระทำผิดคนเดิมและทำผิดซ้ำๆ ซึ่งคณะกรรมการได้ยอมรับว่าเทคโนโลยี FRT สามารถช่วยปกป้องภัยจากปัญหาร้ายแรง เช่น อาชญากรรมและพฤติกรรมรุนแรงได้จริง และนั่นเป็นเหตุผลที่ Bunnings นำเทคโนโลยี FRT นี้มาใช้ ด้วยเหตุผลว่า ทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองและปลอดภัยในที่ทำงาน และไม่ควรมีใครที่ต้องมาทำงานแล้วต้องเผชิญกับการกระทำที่ดูถูก ข่มขู่ การทำร้ายร่างกาย หรือถูกคุกคามด้วยอาวุธ พร้อมทั้งแสดงเจตนารมณ์ที่จะใช้เทคโนโลยี FRT ให้สอดคล้องกับกฎหมาย Privacy Act กับร้านค้าปลีกทุกสาขาทั่วประเทศต่อไป
………………………………………………………………………………………………….
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์
ที่มา:
www.abc.net.au/www.theguardian.com