กระทรวงการคลังเวียดนามได้เสนอให้ขยายมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับอุตสาหกรรมการจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์ (Automobile Part-Supplying Industry) ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 แทนที่จะหมดอายุในสิ้นปีนี้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศ

เวียดนามได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศซึ่งการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์เป็นภารกิจที่มีความสำคัญลำดับต้น ๆ โดยรัฐบาลเวียดนามได้ดำเนินโครงการสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับอุตสาหกรรมการจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ซึ่งร่วมกับโครงการสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับรถยนต์ที่ผลิตและประกอบในประเทศ ทั้งสองโครงการนี้ได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ

ตามร่างการแก้ไข Decree No 26/2023/NĐ-CP ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เกี่ยวกับภาษีนำเข้าและส่งออกที่มีสิทธิประโยชน์หรือการสนับสนุนพิเศษ อุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะได้รับการขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์ทางภาษีออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะมีการใช้ภาษีนำเข้าในอัตราศูนย์สำหรับวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ยังไม่มีการผลิตภายในประเทศ และใช้ในการผลิตและประกอบยานยนต์

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามได้เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของเวียดนามภายในปี 2573 พร้อมวิสัยทัศน์ถึงปี 2593 โดยร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมายให้รถยนต์ที่ประกอบภายในประเทศจะมีสัดส่วนร้อยละ 78 ของความต้องการในประเทศ

ภายในปี 2568 อุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะถูกพัฒนาให้มีความพร้อมในระดับพื้นฐาน เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับการผลิตรถยนต์ในประเทศในเชิงมูลค่าได้ประมาณร้อยละ 35 และเพิ่มเป็นร้อยละ 65 ภายในปี 2578

 (แหล่งที่มา https://vietnamnews.vn/ ฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567)

วิเคราะห์ผลกระทบ

ตามข้อมูลจากกรมศุลกากรเวียดนาม ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – ตุลาคม)เวียดนามนำเข้ารถยนต์แบบสำเร็จรูปทั้งคัน (Completely Built Up: CBU) จำนวน 142,794 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยประเทศที่ส่งออกรถยนต์มายังเวียดนามมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อินโดนีเซีย จำนวน 57,963 คัน เพิ่มขึ้น 19,569 คัน ไทย จำนวน 54,481 คัน เพิ่มขึ้น 7,535 คัน และจีน จำนวน 24,613 คัน เพิ่มขึ้น 16,112 คัน

สำหรับการนำเข้าชิ้นส่วนและส่วนประกอบรถยนต์ ในเดือนตุลาคม 2567 เวียดนามมีมูลค่าการนำเข้ากว่า 545.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2567 ขณะที่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – ตุลาคม) เวียดนามนำเข้าชิ้นส่วนและส่วนประกอบรถยนต์มูลค่ารวมมากกว่า 3,910 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 โดยตลาดนำเข้าสำคัญ ได้แก่ จีน ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยานยนต์ของเวียดนามยังคงมีอัตราการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (localisation rate) อยู่ในระดับต่ำ เพียงร้อยละ 7 – 10 ซึ่งต่ำกว่าไทย (ร้อยละ 84) มาเลเซีย (ร้อยละ 80) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 75) ส่งผลให้ผู้ผลิตในเวียดนามต้องพึ่งพาชิ้นส่วนนำเข้าอย่างมาก และทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ถึงร้อยละ 10 – 20

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

การสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนามได้ดึงดูดบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากต่างประเทศอย่างมาก โดยมีนโยบายสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ 1) การใช้อัตราภาษีนำเข้าที่เป็นศูนย์ตาม Decree 125/2022/ND-CP 2) การลดค่าจดทะเบียนร้อยละ 50 สำหรับรถยนต์ธรรมดา และร้อยละ 100 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 3) การลดภาษีการบริโภคพิเศษเหลือร้อยละ 3 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 4) การประกาศ Decree 60/2023/ND-CP เกี่ยวกับการตรวจสอบรับรองสำหรับรถยนต์และอะไหล่นำเข้า ซึ่งการขยายสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ในเวียดนามเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดทั้งในด้านการส่งออกชิ้นส่วนและการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยการใช้ประโยชน์จากนโยบายการยกเว้นภาษีและการส่งเสริมจากรัฐบาลเวียดนาม ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดยานยนต์ที่กำลังเติบโตในเวียดนามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าในรถยนต์ในเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการสนับสนุนจากรัฐบาลที่เน้นไปที่การลดภาษี และการเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น สำหรับผู้ประกอบการไทย นี่เป็นโอกาสในการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ตั้งแต่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ไปจนถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟฟ้าเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดนี้ในเวียดนาม

thThai