เยอรมนีจะยังคงเป็น “คนป่วยของยุโรป (The sick man of Europe)” ต่อไปหรือไม่

คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีปี 2568

หลังจากเศรษฐกิจเยอรมนีซบเซามานานกว่า 2 ปี สถาบันวิจัยเศรษฐกิจที่สำคัญหลายแห่งแทบไม่มีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจเยอรมนีในปี 2568 นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเยอรมัน Deutschen Instituts für Wirtschaftsforschung (DIW) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะเติบโตเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 ในปีหน้า ในขณะที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจมิวนิก อิโฟ (info Institut) และสถาบันไลบ์นิซเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจ (Leibniz-Instituts für Wirtschaftsforschung Halle) ต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 นอกจากนี้ สถาบันเพื่อเศรษฐกิจโลก ณ เมืองคีล Das Institut für Wirtschaft in Kiel (IfW) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 2568 จะยังซบเซา และในปี 2569 จะเริ่มเติบโตขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.8 – 1.2

เศรษฐกิจเยอรมนีในปี 2567 เป็นอย่างไร

เศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มหดตัวอีกครั้งในปีนี้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ifo คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลดลงร้อยละ 0.1 ขณะที่ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ DIW และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ IfW คาดว่าจะลดลงร้อยละ 0.2 อย่างไรก็ตาม ความอ่อนแอของเศรษฐกิจเยอรมันในปัจจุบันไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ เยอรมนีซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป (Eurozone) ซบเซามาเป็นเวลาสามปีแล้ว นับตั้งแต่ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจรายไตรมาสอยู่ระหว่างติดลบร้อยละ 0.5 ถึงบวกร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับมูลค่าของปีก่อนหน้า

เยอรมนีจะยังคงเป็น “คนป่วยของยุโรป (The sick man of Europe)” ต่อไปหรือไม่

ผลกระทบต่อตลาดแรงงานในเยอรมนี

แม้เศรษฐกิจของเยอรมนีจะซบเซาลง แต่ตลาดแรงงานของเยอรมนีได้รับการพิสูจน์แล้วว่าค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยอัตราการว่างงานมีความผันผวนระหว่างร้อยละ 5.8 ถึง 6.1 ในปี 2567 และจำนวนคนทำงานยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตลาดแรงงานอาจจะมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลง จากการสำรวจของสถาบันเศรษฐกิจเยอรมัน (DIW) ที่เน้นการสำรวจนายจ้างเป็นหลัก พบว่าเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงทำให้บริษัทในเยอรมนีหลายแห่งต้องการลดจำนวนพนักงานเพื่อประหยัดต้นทุน บริษัทเยอรมันกว่าร้อยละ 40 กำลังวางแผนที่จะลดพนักงานในปีหน้า นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่ซบเซาลงในภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีกำลังส่งผลกระทบมากขึ้นต่อบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมและตลาดแรงงานซึ่งนำไปสู่การลดเวลาทำงาน และในบางบริษัทถึงขั้นเลิกจ้างแม้ว่าจะขาดแรงงานที่มีทักษะก็ตาม ซึ่งตรงกับการคาดการณ์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Info ระบุว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น

เยอรมนีจะยังคงเป็น “คนป่วยของยุโรป (The sick man of Europe)” ต่อไปหรือไม่

เศรษฐกิจเยอรมนีเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ

เศรษฐกิจเยอรมนีอยู่ในสถานะที่ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ซึ่งจากผลิตภัณฑ์มวลโดยรวมในสหภาพยุโรป (GDP) พบว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ในไตรมาสที่สามของปี 2567 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมากกว่า GDP ของเยอรมนีที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสเปนและฝรั่งเศสที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ในปี 2568 เศรษฐกิจภาพรวมของสหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะเติบโตเร็วกว่าในเยอรมนีอย่างมาก

นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลกสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ DIW คาดการณ์ว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.8 ในขณะที่เศรษฐกิจเยอรมนีจะลดลงร้อยละ 0.2 และในปี 2568 ตามการคาดการณ์ขององค์กรประเทศอุตสาหกรรม OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) เศรษฐกิจเยอรมนีมีแนวโน้มที่จะเติบโตช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ

จุดอ่อนของเศรษฐกิจเยอรมนี

อุตสาหกรรมการผลิตของเยอรมนีถือเป็นจุดแข็งที่ยิ่งใหญ่และทรงพลังต่อเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนที่สุด โดยอุตสาหกรรมการผลิตในเยอรมนีกำลังประสบปัญหาเชิงโครงสร้าง อาทิ การขาดแคลนบุคลากรและแรงงานที่มีทักษะอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนสูงจากราคาไฟฟ้าและก๊าซที่ยังคงสูงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติ และอุปสรรคของระบบราชการที่มีความยุ่งยากซับซ้อน เป็นต้น โดยนักวิจัย ifo เชื่อมั่นว่าสาเหตุดังกล่าวนี้นำไปสู่การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของเยอรมันในตลาดโลกอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่ไม่ใช่สหภาพยุโรป

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการผลิตในเยอรมนีมีส่วนแบ่งตามมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในสหภาพยุโรปเป็นอย่างมาก นโยบายกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเยอรมนีที่มุ่งเน้นพึ่งพาการส่งออก โดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Helaba กล่าวว่า “แบบจำลองทางเศรษฐกิจของเยอรมนีดูเหมือนจะล้าสมัยไปแล้ว”

แนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจเยอรมนี

นักเศรษฐศาสตร์สถาบัน ifo ให้คำแนะนำแนวทางใหม่สำหรับแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของเยอรมนี  เช่น การลดภาระภาษีของบริษัทต่างๆ ตลอดจนการลดขั้นตอนของระบบราชการ และลดราคาพลังงาน การขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล พลังงาน การขนส่ง และการเพิ่มตำแหน่งงาน โดยการสนับสนุนแรงงานผู้สูงอายุ และแรงงานผู้หญิงอพยพที่มีทักษะ ซึ่งหากเยอรมนีสามารถปรับแนวทางการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจได้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ifo คาดการณ์ว่า GDP ของเยอรมนีจะเติบโตขึ้นร้อยละ 1.1 ในปีหน้า ซึ่งเร็วกว่าในสถานการณ์พื้นฐานของนักวิจัยเกือบ 3 เท่า จากที่เคยคาดการณ์ไว้เพียงร้อยละ 0.4 เท่านั้น

จุดอ่อนของเยอรมนีมีผลกระทบต่อนโยบายการเงินอย่างไร

ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรปมีอิทธิพลอย่างมากต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ทำให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 ในเดือนธันวาคม 2567 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลงเหลือร้อยละ 3.0 และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ร้อยละ 3.40 ถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้ หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปให้ดีขึ้น

เยอรมนีจะยังคงเป็น “คนป่วยของยุโรป (The sick man of Europe)” ต่อไปหรือไม่

 

ที่มา:

Tagesschau.de

Photo by Patrick Rosenkranz on Unsplash

 

thThai