ชิลีและฟิลิปปินส์เริ่มต้นการเจรจาเพื่อความตกลงการค้าเสรีอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชิลี (นาย Alberto van Klaveren) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของฟิลิปปินส์ (นาง Maria Cristina Aldeguer-Roque) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฟิลิปปินส์ (นาย Enrique A.Manalo) ได้ร่วมประกาศเริ่มต้นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) อย่างเป็นทางการระหว่างชิลีและฟิลิปปินส์ ซึ่งหากการเจรจาดังกล่าวประสบความสำเร็จจะทำให้ประเทศชิลีเป็นประเทศแรกในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่ประเทศฟิลิปินส์ทำความตกลงการค้าเสรีด้วย โดยฟิลิปปินส์จะเป็นสะพานเชื่อมโยงการค้าระหว่างภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกับภูมิภาคลาตินอเมริกาให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นาย Alberto van Klaveren กล่าวว่าข้อตกลงทวิภาคีจะช่วยปรับปรุงบทบาทเชิงกลยุทธ์และส่งเสริมการบูรณาการด้านการค้าที่มากขึ้นของทั้งสองประเทศ โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือในรายละเอียดประเด็นต่าง ๆ เช่น การค้าและการลงทุนในระดับทวิภาคี การลดและการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และความร่วมมือด้านการเกษตร โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญในการเสริมสร้างรากฐานของการทำงานร่วมกันผ่านข้อตกลงทางการค้า นอกจากนี้ นาย Alberto van Klaveren ยังกล่าวเสริมอีกว่าภาคการส่งออกของทั้งสองประเทศส่งเสริมการค้าซึ่งกันและกัน โดยสินค้าส่งออกของชิลีจะเน้นสินค้าในกลุ่ม สินแร่ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและเคมีภัณฑ์ ในขณะที่ฟิลิปปินส์เน้นการส่งออกสินค้าในกลุ่ม อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และการบริการ ถึงแม้ว่าภาคการค้าระหว่างประเทศของชิลีและฟิลิปปินส์อยู่ในระดับปานกลาง โดยมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 278 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566[1] แต่การลดภาษีศุลกากรจะช่วยกระตุ้นการส่งออก และเปิดโอกาสให้สินค้าของทั้งสองประเทศเข้าถึงตลาดใหม่ได้มากขึ้น  อีกทั้งยังเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน โดยการเริ่มต้นการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่ทั้งสองประเทศได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะเปิดการเจรจาในระหว่างการเดินทางเยือนประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี 2558 ของนาง Michelle Bachelet ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของชิลีในขณะนั้น

 

บทวิเคราะห์ / ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

ปัจจุบันชิลีมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่เปิดกว้างและมุ่งเน้นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีการค้าขายและแข่งขันอย่างเสรีโดยอยู่ภายใต้มาตรฐานสากล สอดคล้องกับการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ โดยใช้กลยุทธ์การเจรจาผ่านข้อตกลงทวิภาคี พหุภาคี และระดับภูมิภาค ข้อมูลจากกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศของชิลี (Subrei) เผยว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศชิลีมีข้อตกลงการค้าในระดับทวิภาคี 34 ฉบับกับ 64 เขตเศรษฐกิจครอบคลุมประมาณร้อยละ 86[1] ของ GDP โลก นอกจากนี้ ชิลียังมีบทบาทสำคัญในองค์การการค้าโลก (WTO) องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และองค์การพันธมิตรแปซิฟิก (PA) จากการที่ประเทศชิลีได้ขยายจำนวนและขอบเขตของข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิตและการส่งออก ทั้งนี้ หากชิลีและฟิลิปปินส์สามารถเจรจาและจัดทำความตกลงการค้าเสรีได้สำเร็จ ย่อมส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนของทั้งสองประเทศ

หากพิจารณาตามมูลค่าการค้ารวมในปี 2567 ฟิลิปปินส์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 42 ของชิลี โดยมูลค่าการค้าระหว่างชิลีและฟิลิปปินส์ (มกราคม – ตุลาคม) มีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 274 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยชิลีเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าอยู่ที่ 187 ล้านเหรียญสหรัฐ ชิลีส่งออกไปยังฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 354 รวมมูลค่ากว่า 231 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลักได้แก่ (1) สินแร่ (2) อาหารทะเล (3) เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ (4) กระดาษและเยื่อกระดาษ (5) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสินค้านำเข้าหลักจากฟิลิปปินส์ 5 อันดับแรกได้แก่ (1) เครื่องพิมพ์เอกสาร (2) จอมอนิเตอร์ (3) หมึกพิมพ์ (4) น้ำมันหอมระเหย (5) น้ำมันสกัดจากพืช/สัตว์ โดยชิลีนำเข้าจากฟิลิปปินส์ในปี 2567 (มกราคม – ตุลาคม) อยู่ที่ 43.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ -0.8 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ผลกระทบต่อไทย

มูลค่าการนำเข้าของชิลี เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มสินค้าเดียวกันระหว่างฟิลิปปินส์กับไทย พบว่ากลุ่มสินค้าเครื่องพิมพ์เอกสาร (พิกัดศุลกากรที่ 8443) ชิลีนำเข้าจากฟิลิปปินส์มากกว่าไทย (แม้ว่าไทยและชิลีมีความตกลง TCFTA) และกลุ่มสินค้าจอมอนิเตอร์ (พิกัดศุลกากรที่ 8528) ที่แตกต่างกันเล็กน้อย ทั้งนี้ สคต.ฯ คาดว่าหากชิลีและฟิลิปปินส์มีความตกลงการค้าเสรีร่วมกัน มีโอกาสสูงที่สินค้าไทยในกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ชิลีมีการนำเข้าจากฟิลิปปินส์ด้วย โดยอาจลดการนำเข้าจากไทยในอนาคต  ปัจจุบันไทยมี FTA (1) ที่ลงนามแล้วและมีผลใช้บังคับแล้ว จำนวน 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย เปรู ชิลี อาเซียน เกาหลีใต้ (2) อยู่ระหว่างการเจรจา จำนวน 5 ฉบับ กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ภูฏาน แคนาดา (3) ยกระดับ FTA ที่มีอยู่ จำนวน 5 ฉบับ กับเปรู อาเซียน จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และ (4) ลงนามแล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินการให้มีผลบังคับใช้ 1 ฉบับ[1]

สคต.ฯ คาดว่าหากการเจรจาระหว่างชิลีและฟิลิปปินส์ดังกล่าวประสบผลสำเร็จ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในภาพรวมไม่มากนัก เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของฟิลิปปินส์ไม่ใช่สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังชิลี โดยในปัจจุบันไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 21 ของชิลี และหากพิจารณาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ชิลีส่งออกไปยังไทยเป็นอันดับที่ 1 และนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 2  รวมมูลค่าการค้ากว่า 1,045 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าหลักที่ไทยส่งมายังชิลีได้แก่ (1) รถกระบะ พิกัดศุลกากรที่ 8704 มูลค่าการส่งออกที่ 103.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.07 (2) ปลากระป๋อง พิกัดศุลกากรที่ 1604 มูลค่าการส่งออกที่ 47.48 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.28 (3) เครื่องซักผ้า พิกัดศุลกากรที่ 8450 มูลค่าการส่งออกที่ 16.97 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.58 อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรออกแบบและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงโอกาสในการขยายตลาดโดยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีกับประเทศอื่น ๆ ด้วย

______________________________

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

ธันวาคม 2567

[1] https://www.dtn.go.th/th/content/categories/detail/id/28/cid/826/iid/13152

[1] https://www.subrei.gob.cl/nosotros/institucional

 

 

[1] https://www.emol.com/noticias/Economia/2024/12/06/1150553/chile-negociacion-filipinas-tratado-comercio.html

thThai