ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กาแฟได้รับความนิยมในกลุ่มนักศึกษาและคนทำงานออฟฟิศมากขึ้น อีกทั้งการบริโภคกาแฟกลายเป็นแฟชั่นและไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่งของชาวจีน ซึ่งวัฒนธรรมการดื่มกาแฟนี้ ผลักดันให้ตลาดกาแฟของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีจำนวนผู้บริโภคกาแฟในจีนมากกว่า 300 ล้านคน ทำให้ความต้องการกาแฟในจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโตมากกว่า 15% ต่อปี ส่งผลให้จีนกลายเป็นหนึ่งในตลาดกาแฟที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ข้อมูลจาก iiMedia Research ระบุว่า ในปี 2566 มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมกาแฟของจีนอยู่ที่ 6.23 แสนล้านหยวน และคาดว่าจะสูงถึงหนึ่งล้านล้านหยวนในปี 2568 เนื่องด้วยแนวคิดการบริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง หลายแบรนด์ในจีนมีการทำกลยุทธ์ตลาดใหม่ๆ หรือมีแบรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อดึงดูดผู้บริโภค คาดว่าจะส่งผลให้มูลค่าของตลาดกาแฟของจีนรักษาแนวโน้มการเติบโตที่มั่นคง และคาดว่าภายในปี 2572 มูลค่าตลาดกาแฟของจีนอาจแตะที่ 1.39 ล้านล้านหยวน
แหล่งข้อมูล: iiMedia Research
การบริโภคกาแฟในจีน ส่วนใหญ่แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามรูปแบบการบริโภค ได้แก่ กาแฟสำเร็จรูปและกาแฟพร้อมดื่มกับกาแฟชงสด ปัจจุบันกาแฟสำเร็จรูปและกาแฟพร้อมดื่มมีสัดส่วนประมาณ 60% ของการบริโภคในตลาดกาแฟของจีน ในขณะที่กาแฟชงสดมีสัดส่วนการบริโภคอยู่ที่ 40% เนื่องจากการแทรกซึมของวัฒนธรรมการดื่มกาแฟและการเพิ่มขึ้นของระดับรายได้ของชาวจีน การแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวจีน ทำให้ผู้คนให้ความสำคัญกับคุณภาพและรสชาติของกาแฟมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้มูลค่าตลาดกาแฟชงสดเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลักดันให้มีการบริโภคและการนำเข้าเมล็ดกาแฟคุณภาพสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของกลุ่มผู้บริโภค ผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 26 – 45 ปี ถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักในตลาดกาแฟของจีน โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 68% ของยอดขายทั้งหมด ในขณะที่ผู้บริโภคในเมืองระดับหนึ่งและสองถือเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการบริโภคกาแฟ แต่เนื่องด้วยแบรนด์กาแฟได้ขยายตัวไปยังเมืองระดับสามถึงเมืองระดับสี่มากขึ้น ส่งผลให้การบริโภคกาแฟในพื้นที่เหล่านี้มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยอดการจำหน่ายในปัจจุบันสูงถึง 30.7% เมื่อพิจารณาโดยแบ่งเป็นมณฑล มณฑลกวางตุ้งมีสัดส่วนการจำหน่ายกาแฟสูงสุด โดยอยู่ที่ 14.1% รองลงมาคือ นครปักกิ่ง มณฑลเจียงซู นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลซานตง และมณฑลเสฉวนมีสัดส่วนการบริโภคกาแฟมีสัดส่วนการจำหน่ายตั้งแต่ 5% – 10%
ในขณะที่การเพาะปลูกกาแฟของจีนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในมณฑลยูนนาน โดยมีผลผลิตต่อปีมากกว่า 100,000 ตัน ซึ่งยังคงทรงตัวในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยในปี 2566 ปริมาณการส่งออกกาแฟของจีนหดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 20,000 ตัน ในขณะที่ปริมาณการนำเข้ายังคงเติบโตมากกว่า 20% เป็น 150,000 ตัน โดยมีมูลค่าเกือบ 6 พันล้านหยวน โดยการบริโภคกาแฟของจีนในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 167% แตะ 350,000 ตัน แสดงให้เห็นถึงความต้องการกาแฟที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในตลาดจีน
ภายใต้สถานการณ์ความต้องการกาแฟที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาดจีน ส่งผลให้จีนต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟจำนวนมากจากประเทศอื่น ๆ ทุกปี เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภค ภายในประเทศ ตามข้อมูลสถิติจาก Global Trade Atlas ระบุว่า ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2567 จีนนำเข้าสินค้าเมล็ดกาแฟมูลค่าทั้งสิ้น 837,480,543 เหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบมีสารคาเฟอีน (HS Code 090111) สูงสุดมูลค่าทั้งสิ้น 720,435,024 เหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 55.24) รองลงมา ได้แก่เมล็ดกาแฟคั่วมีสารคาเฟอีน (HS Code 090121) มีมูลค่าทั้งสิ้น 110,225,475 เหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ 28.04) เมล็ดกาแฟดิบปลอดสารคาเฟอีน (HS Code 090112) มีมูลค่าทั้งสิ้น 274,399 เหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ 43.19) เมล็ดกาแฟคั่วมีสารคาเฟอีน (HS Code 090122) มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,542,007 เหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ 6.67) และเมล็ดกาแฟอื่น ๆ (HS Code 090190) มีมูลค่าทั้งสิ้น 3,638 เหรียญสหรัฐ (ลดลงร้อยละ 91.88) ตามลำดับ นอกจากนี้ จีนนำเข้าสินค้ากาแฟพร้อมชงในรูปแบบซอง (HS Code 210111) มีมูลค่าทั้งสิ้น 157,652,351 เหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 20.12) และสินค้าของปรุงแต่งอื่นๆ ที่มีสิ่งสกัดของกาแฟเป็นหลัก (HS Code 210112) มีมูลค่าทั้งสิ้น120,785,576 เหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 0.27)
ตารางแสดง: ข้อมูลการนำเข้าสินค้ากาแฟของจีน ปี 2564 – 2567 (ม.ค. – ต.ค.)
แหล่งข้อมูล: Global Trade Atlas
ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2567 จีนมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าเมล็ดกาแฟจากบราซิลมากที่สุด (สัดส่วนร้อยละ 31.07) รองลงมา ได้แก่ โคลอมเบีย (สัดส่วนร้อยละ 21.01) เวียดนาม (สัดส่วนร้อยละ 10.98) เอธิโอเปีย (สัดส่วนร้อยละ 10.47) อิตาลี (สัดส่วนร้อยละ 3.70 ) ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากไทย มีสัดส่วนค่อนข้างน้อย โดยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 39 ของการนำเข้าเมล็ดกาแฟทั้งหมดของจีน
ตารางแสดง: ข้อมูลแหล่งนำเข้าสินค้าเมล็ดกาแฟที่สำคัญของจีน
ปี 2564 – 2567 (ม.ค. – ต.ค.)
แหล่งข้อมูล: Global Trade Atlas
จีนมีมูลค่าการนำเข้าสินค้ากาแฟพร้อมชงในรูปแบบซองและสินค้าของปรุงแต่งอื่นๆ ที่มีสิ่งสกัดของกาแฟเป็นหลัก จากเวียดนามมากที่สุด (สัดส่วนร้อยละ 33.33) รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย (สัดส่วนร้อยละ 27.96) ญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 9.64) เกาหลีใต้ (สัดส่วนร้อยละ 5.72) เนเธอร์แลนด์ (สัดส่วนร้อยละ 5.22) ตามลำดับ ส่วนไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้ากาแฟสำเร็จรูปในตลาดจีนเป็นอันดับที่ 11 โดยคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3,827,539 เหรียญสหรัฐ
ตารางแสดง: ข้อมูลแหล่งนำเข้าสินค้ากาแฟสำเร็จรูปที่สำคัญของจีน
ปี 2564 – 2567 (ม.ค. – ต.ค.)
แหล่งข้อมูล: Global Trade Atlas
ในส่วนการนำเข้ากาแฟไทยของจีน ตามข้อมูลสถิติจาก Global Trade Atlas ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนตุลาคม ปี 2567 จีนมีการนำเข้าสินค้าเมล็ดกาแฟจากไทยคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 210,446 เหรียญสหรัฐ ซึ่งสินค้าเมล็ดกาแฟที่จีนนำเข้ามีเพียง เมล็ดกาแฟคั่วมีสารคาเฟอีน (HS Code 090121) คิดเป็นมูลค่า 207,738 เหรียญสหรัฐ ขยายตัว 280.58% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเมล็ดกาแฟอื่น ๆ (HS Code 090190) คิดเป็นมูลค่า 2,708 เหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้ากาแฟพร้อมชงในรูปแบบซอง (HS Code 210111) คิดเป็นมูลค่า 1,455,201 เหรียญสหรัฐ ลดลง 39.14 % เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนการนำเข้าของปรุงแต่งอื่นๆ ที่มีสิ่งสกัดของกาแฟเป็นหลัก (HS Code 210112) คิดเป็นมูลค่า 2,372,338 เหรียญสหรัฐ ลดลง 47.18 % เมื่อเทียบเป็นรายปี
ตารางแสดง: ข้อมูลการนำเข้าสินค้ากาแฟจากไทยของจีน
ปี 2564 – 2567 (ม.ค. – ต.ค.)
แหล่งข้อมูล: Global Trade Atlas
แม้ว่าจีนจะนำเข้าเมล็ดกาแฟจากไทยไม่มากนัก แต่จากข้อมูลพบว่า มูลค่าการนำเข้าเมล็ดกาแฟจากไทยทั้งสองชนิดขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะกาแฟคั่วสุกของไทยได้รับความนิยมมากขึ้น ทั้งยังแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพในการเติบโตอย่างมากในตลาดจีน
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
ปัจจุบันนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมกาแฟกำลังพัฒนาไปในทิศทางตามกระแส การดูแลสุขภาพ และความสะดวกสบาย ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคหลักเริ่มเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุน้อยและมีความต้องการหลากหลาย อาทิ ด้านรสชาติ การทำการตลาดโดยอาศัยกระแส “Collaboration” หรือการ “คอลแลปส์” ระหว่างแบรนด์กับแบรนด์ หรือแบรนด์กับเซเลบคนดัง รวมถึงผลิตภัณฑ์กาแฟเพื่อสุขภาพ การที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับอาหารเพื่อสุขภาพได้เพิ่มความต้องการผลิตภัณฑ์กาแฟที่มีน้ำตาลต่ำและแคลอรี่ต่ำ ซึ่งนำโอกาสใหม่มาให้อุตสาหกรรมกาแฟมากขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่ามูลค่าตลาดกาแฟของจีนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันการแข่งขันในตลาดจีนก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยมีการแข่งขันทั้งด้านราคาระหว่างแบรนด์ และการแข่งขันด้านนวัตกรรมรสชาติที่แปลกใหม่ อาทิ กาแฟผสมน้ำผลไม้ กาแฟผสมเหล้า หรือกาแฟเพื่อสุขภาพ รวมถึงการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่หลากหลายเพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มผู้บริโภค นอกจากนี้ เนื่องด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดีย แบรนด์กาแฟจึงสามารถเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในตลาดจีนได้มากยิ่งขึ้นโดยผ่านการวิเคราะห์ big data และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องกับตามความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยจึงต้องศึกษาพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคในตลาดจีน เพื่อที่จะสามารถนำไปปรับใช้ในการคิดค้นและผลิตผลิตภัณฑ์กาแฟใหม่ๆ ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน นอกจากนี้ อีกหนึ่งแนวโน้มที่ผู้ประกอบการไทยควรจับตามมองคือแนวคิดด้านการดูแลสุขภาพที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคของชาวจีนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แหล่งข้อมูล :
China chamber of commerce of l/E of Foodstuffs,Native Produce and Animal By-products (CFNA)
https://www.cccfna.org.cn/huizhanxinxi/jinbokuaixun/ff80808192d6816c01930ba400e8046d.html
https://finance.sina.com.cn/roll/2024-11-18/doc-incwnsqm0272312.shtml
http://www.ce.cn/cysc/thcj/tu/202411/08/t20241108_39196324.shtml
https://news.foodmate.net/2024/11/703106.html
https://news.foodmate.net/2024/10/700673.html
ภาพ : https://caifuhao.eastmoney.com/news/20240206223714677962380
จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว