- กัมพูชามุ่งสู่การก้าวออกจากกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ภายในปี 2572 โดยข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และสิทธิพิเศษทางการค้า ถือ เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดย กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่เดิม พร้อมทั้งผลักดันการจัดทำข้อตกลงใหม่ ๆ เพื่อขยายตลาดและสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าส่งออกของกัมพูชา
- นาง Tekreth Kamrang รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา เปิดเผยว่า ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ ของกัมพูชา เป็นกลไกหลักในการส่งเสริมการส่งออกของกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนสถานะออกจากกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดภายในปี 2572 โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกัมพูชาในตลาดโลก
- ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ระบุว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) กัมพูชามีมูลค่าการส่งออกสินค้าอยู่ที่ 23.93 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 16.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย 5 ตลาดส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และแคนาดา
ความเห็นของสำนักงานฯ
- เพื่อออกจากสถานะ LDC กัมพูชาได้เร่งพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน พร้อมแสวงหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อขยายโอกาสการส่งออกสินค้าให้เพิ่มมากขึ้น
- การออกจากสถานะ LDC จะช่วยให้กัมพูชามีศักยภาพในการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง และยั่งยืนในระยะยาว อีกทั้งยังเสริมสร้างความเชื่อมั่นในด้านเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม กัมพูชาจะต้องเผชิญกับความท้าทาย เช่น การสูญเสียสิทธิพิเศษทางภาษี เช่น โครงการ Everything But Arms (EBA) ซึ่งให้สิทธิกับประเทศ LDC ดังนั้น เพื่อดำเนินธุรกิจในกัมพูชาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์และปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศนี้อย่างใกล้ชิด
————————————
ที่มา: Khmer Times
ธันวาคม 2567