1. ภาพรวมตลาดไอศกรีมในสิงคโปร์

ข้อมูลจาก Euromonitor[1] ระบุว่า ในปี 2567 มูลค่าตลาดไอศกรีมในสิงคโปร์รวมอยู่ที่ 187.2 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มสูงขึ้น 5.9% (YoY) โดยไอศกรีมที่ทำจากนมพืช (Plant-Based Ice Cream) เติบโตสูงถึง 17.8% ด้วยมูลค่า 11.1 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ในขณะที่ มูลค่าการขายไอศกรีมแบบรับประทานที่บ้าน (Take-Home Ice Cream) สูงสุดอยู่ที่ 130.7 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 5.5% (YoY)  ตามมาด้วยไอศกรีมแบบรับประทานทันที (Impulse Ice cream)[2] อยู่ที่ 42 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 4.3% (YoY)

สินค้าไอศกรีมในสิงคโปร์

ราคาของวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตอย่าง นม น้ำตาล และเมล็ดโกโก้ รวมถึงค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาต่อหน่วยของไอศกรีมนั้นสูงขึ้น ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้ชาวสิงคโปร์เริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ผลกระทบจากราคาที่สูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคลดการบริโภคขนมขบเคี้ยว รวมถึงไอศกรีม เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย จึงคาดว่าปริมาณการขายปลีกไอศกรีมโดยรวมในสิงคโปร์จะเติบโตเพียงเล็กน้อยในปี 2567 อย่างไรก็ตาม จากเทรนด์การบริโภคสินค้าพรีเมียมและมูลค่าราคาสินค้าปลีกที่สูงขึ้นจะส่งผลให้มูลค่าการค้าปลีกในสิงคโปร์ยังคงแข็งแกร่งและเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

ในปี 2567 ปริมาณการขายปลีกไอศกรีมแบบรับประทานทันทีคาดว่าจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากการซื้อของตามแรงกระตุ้น (Impulse Buying) ของผู้บริโภคลดลง รวมถึงการแข่งขันของสถานบริการอาหารไอศกรีมแบบเสิร์ฟเป็นถ้วย (Unpackaged Ice Cream) ใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น ร้านยอดนิยมอย่าง Birds of Paradise Gelato Boutique ซึ่งมีชื่อเสียงด้านไอศกรีมเจลาโต้ที่ทำจากส่วนผสมธรรมชาติระดับพรีเมียม หรือร้าน Van Leeuwen เครือไอศกรีมชื่อดังจากนิวยอร์กได้เปิดตัวในสิงคโปร์เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 โดยนำเสนอไอศกรีมสไตล์ฝรั่งเศสและวีแกน อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านความสามารถในการจับจ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น และราคาไอศกรีมแบบเสิร์ฟเป็นถ้วยที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคได้ลดความถี่ในการบริโภคไอศกรีมที่ร้านขายไอศกรีมลง

ในปี 2567 ปริมาณการค้าปลีกของไอศกรีมแบบรับประทานที่บ้านจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นผลมาจากการเติบโตของสินค้ากลุ่มไอศกรีมนมแบบตัก (Bulk Dairy Ice Cream) เพราะผู้บริโภคมองหาของว่างที่ให้ความพึงพอใจแก่ผู้บริโภคได้ทันที และสินค้ากลุ่มนี้มีความคุ้มค่าด้านราคา

สินค้าไอศกรีมในสิงคโปร์

ไอศกรีมที่ทำจากพืชจะยังคงเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มอยู่ โดยคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 5% ของปริมาณไอศกรีมขายปลีกโดยรวม แต่มีความเป็นได้ว่า ปริมาณค้าปลีกสินค้าในกลุ่มนี้จะเพิ่มสูงขึ้น และมีการเข้ามาทำตลาดของผู้เล่นรายใหม่มากขึ้น เช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2566 แบรนด์นมจากพืช Oatside ได้เปิดตัวสินค้าไอศกรีมนมโอ๊ตสำหรับลูกค้าวีแกน โดยมีให้เลือกสามรสชาติ แบรนด์ Oatly ได้ร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความนิยมนมโอ๊ตในอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ที่นอกเหนือจากกาแฟ นอกจากนี้ แบรนด์ไอศกรีมนมจากพืชอย่าง Kind Kones และ Oatside กำลังพยายามขยายช่องทางการจำหน่ายไปยังช่องทางการค้าปลีกหลักอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งก่อให้เกิดการแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำอย่าง Ben & Jerry’s และ Magnum

การนำเสนอไอศกรีมที่ให้ความพึงพอใจแก่ผู้บริโภค (Indulgence Treat) เป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับผู้ผลิตไอศกรีม เพื่อกระตุ้นยอดขายและสร้างความตื่นเต้นให้กับตลาดผู้บริโภคในสิงคโปร์ โดยหลายแบรนด์ไอศกรีมได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาสินค้าพรีเมียม หรือกลุ่ม GenZ ที่มีแนวโน้มต่อการสนใจเทรนด์ใหม่ เช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2566 7-Eleven Singapore เปิดตัว Magnum หลากหลายรสชาติที่มีการวางจำหน่ายในระยะเวลาจำกัด หรือแบรนด์ Nestle ได้เปิดตัวไอศกรีม KitKat UZU เพื่อตอบสนองเทรนด์ความสนใจของผู้บริโภคและส่งเสริมยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพในสิงคโปร์อีกด้วย

 

2. โอกาสทางการตลาดของไอศกรีมในสิงคโปร์

สินค้าไอศกรีมในสิงคโปร์

ปริมาณการค้าปลีกไอศกรีมในสิงคโปร์มีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างต่ำ เนื่องจากจำนวนเด็กซึ่งถือเป็นฐานผู้บริโภคหลักลดลงเนื่องจากอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อรักษายอดขาย บริษัทต่างๆ จึงพยายามสร้างความนิยมให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง หรือสินค้าพรีเมียมเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้ใหญ่ และผลักดันยอดขายไอศกรีมให้กับลูกค้ากลุ่มผู้ใหญ่มากขึ้น เช่น แบรนด์ Magnolia ร่วมกับช็อกโกแลต Hershey’s เปิดตัวไอศกรีมโคน Hershey’s Chocolate Overload แบรนด์ Cornetto ได้ยกระดับสินค้า
พรีเมียมด้วยการนำเสนอไอศกรีมโคน White Rose Malted Milkshake แทนที่จะใช้รสวานิลลามาตรฐาน และแบรนด์ La Cremeria ได้นำเสนอนวัตกรรมในไอศกรีมรสข้าวเหนียวมะม่วงเพื่อเลียนแบบขนมไทย ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่หันไปสู่สินค้าพรีเมียมมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงช่วยกระตุ้นการบริโภคไอศกรีม แต่ยังเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าตลาดรวมของไอศกรีมอีกด้วย

สินค้าไอศกรีมในสิงคโปร์

ในสิงคโปร์ ไอศกรีมถือเป็นของว่างที่เน้นการให้ความสุขและความพอใจในการบริโภค มากกว่าการเป็นของว่างที่ดีต่อสุขภาพ จึงไม่ค่อยพบไอศกรีมที่มีน้ำตาลต่ำและแคลอรี่ต่ำในสิงคโปร์ แต่ผู้บริโภคสิงคโปร์พยายามจะรักษาสมดุลด้วยการควบคุมปริมาณการบริโภคอย่างมีสติ ไอศกรีมขนาดมินิกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยม เพราะช่วยให้ผู้บริโภคยังคงเพลิดเพลินกับของว่างที่ชื่นชอบได้ โดยไม่ต้องบริโภคมากเกินไป และยังช่วยในการควบคุมปริมาณแคลอรี่ต่อวันได้ดีขึ้น เช่น แบรนด์ Magnum ได้ขยายรสชาติใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Mini ขนาด 55 มล. เมื่อเทียบกับไอศกรีมแท่งทั่วไป (110 มล.) แบรนด์ Cornetto ยังมีไอศกรีมโคนมินิป๊อป นอกจากนี้ เทรนด์ Snackification (เทรนด์การกินอาหารมื้อเล็กหรือของว่างตลอดวัน แทนที่การรับประทานอาหารสามมื้อ) จะช่วยเพิ่มยอดขายสินค้ากลุ่มไอศกรีมนมแบบยกแพ็ค (Multi-Pack Dairy Ice Cream) มากขึ้น

ผู้ผลิตต่างๆ ในอุตสาหกรรมไอศกรีมเริ่มร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อนำเสนอกลยุทธ์การตลาดเพื่อเพิ่มความสนใจและการมองเห็นของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขายไอศกรีมอีกด้วย จะเห็นได้จากการร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ไอศกรีมที่มีการออกแบบเฉพาะตัวละคร เช่น แบรนด์ Wall’s ได้เปิดตัวไอศกรีม Paddle Pop ที่มีการออกแบบเป็น Spider-Man ของ Marvel และแบรนด์ F&N Magnolia ได้เปิดตัวไอศกรีมแท่ง Hello Kitty

สินค้าไอศกรีมในสิงคโปร์

3. ส่วนแบ่งทางการตลาดของอศครีมในสิงคโปร์

ในปี 2567 แบรนด์ Haagen-Dazs มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดอยู่ที่ 18.7% และแบรนด์ Magnum อยู่ที่ 18.2% ตามมาด้วยแบรนด์ Ben&Jerry’s อยู่ที่ 14% และ Cornetto,The Ice Cream&Cookie Cream อยู่ที่ 6.6% และ 5.4% ตามลำดับ

4. งานแสดงสินค้า

งานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ ได้แก่ Food&HotelAsia (FHA) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://fhafnb.com/

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความคิดเห็นสคต.

สิงคโปร์นำเข้าสินค้าไอศกรีม[1]จากหลากหลายประเทศ ด้วยมูลค่าการนำเข้า ระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567 อยู่ที่ 57.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  ซึ่งสิงคโปร์นำเข้าจากฝรั่งเศสมากที่สุด (ที่สัดส่วน 31.06% ของการนำเข้าไอศกรีมทั้งหมด) รองลงมาคือมาเลเซีย (18.08%)  และไทยเป็นอันดับสามด้วยมูลค่าการนำเข้าที่ 9.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (16.53%) เนื่องจากไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ และผลไม้ไทยยังสามารถแปรรูปเป็นไอศกรีมได้หลากหลายชนิด นอกเหนือจากไอศกรีมนมที่ได้รับความนิยมในสิงคโปร์แล้ว ผู้ประกอบการไทยอาจจะพิจารณาการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ไอศกรีมจากผลไม้ไทย หรือธัญพืชต่างๆ ไอศกรีมจากพืช ไอศกรีมนมขนาดเล็ก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่มีโอกาสขยายตัวได้ในตลาดสิงคโปร์ นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาความต้องการและแนวโน้มของตลาดเป้าหมายเพื่อพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งศึกษาข้อกำหนดด้านกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์[2] เพื่อการผลิตที่ได้มาตรฐานและติดตามสถานการณ์แนวโน้มตลาดของสินค้าดังกล่าว เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป

[1] ภายใต้พิกัดศุลกากร HS Code 2105

[2] กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าอาหารของสิงคโปร์ – https://www.sfa.gov.sg/food-import-export/commercial-food-imports

[1] เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567

[2] ไอศกรีมที่มีช่องทางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ สถานีบริการน้ำมันและร้านค้าปลีกทั่วไป

 

ที่มาข้อมูล : Euromonitor

thThai