เนื้อหาสาระข่าว: โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา รื้อฟื้นความสนใจในโครงการขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มอำนาจของประเทศในเวทีโลก โดยได้ประกาศกร้าวว่า การเข้าครอบครองเกาะกรีนแลนด์เป็น “ความจำเป็นอย่างยิ่ง” ทันทีที่เขาเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม โดยถือเป็นแผนอันกล้าหาญในการขยายบทบาทของสหรัฐฯ ในเวทีโลก ซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หลังจากประกาศชื่อผู้ที่เขาเลือกให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำเดนมาร์ก

กรีนแลนด์เป็นเขตปกครองตนเองของเดนมาร์ก มีประชากรราว 55,000 คน และมีกลุ่มที่สนับสนุนการเป็นเอกราชขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในแถบอาร์กติก กรีนแลนด์กำลังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ น้ำแข็งที่ละลายได้เปิดเส้นทางเดินเรือใหม่และสร้างโอกาสในการสำรวจทรัพยากร กรีนแลนด์ยังมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย รวมถึงแร่ธาตุหายาก น้ำมัน ก๊าซ และทรัพยากรที่ยังไม่ได้ถูกใช้อื่น ๆ ซึ่งมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการป้องกันประเทศ ขณะนี้ ทรัมป์ต้องการให้เกาะนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐฯ “เพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงแห่งชาติและเสรีภาพทั่วโลก สหรัฐอเมริกาเห็นว่าการเป็นเจ้าของและการควบคุมเกาะกรีนแลนด์เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง” เขาเขียนใน Truth Social

ทรัมป์ได้แสดงความสนใจในการซื้อกรีนแลนด์ระหว่างดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก โดยยกเลิกการเยือนเดนมาร์กในปี 2019 หลังจากประเทศดังกล่าวระบุว่าเกาะนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อขายให้ใคร และในวันอังคารนี้ Mute Egede นายกรัฐมนตรีของกรีนแลนด์ได้ปฏิเสธความสนใจที่กลับมาอีกครั้งของทรัมป์อย่างทันควัน พร้อมแถลงว่า “กรีนแลนด์เป็นของเรา เราไม่ใช่สินค้าที่จะขายและจะไม่มีวันขาย เราจะไม่สูญเสียการต่อสู้อันยาวนานของเราเพื่อเสรีภาพ”

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญบนเกาะนี้อยู่แล้ว โดยกรีนแลนด์นั้น เป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศ Thule ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบเตือนภัยขีปนาวุธและระบบเฝ้าระวังอวกาศของสหรัฐฯ การเป็นเจ้าของเกาะนี้อาจเพิ่มขีดความสามารถทางการทหารของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ได้อีกด้วย ซึ่งพื้นที่แถบอาร์กติกนี้ กำลังกลายเป็นพื้นที่พิพาทเชิงยุทธศาสตร์ โดยประเทศอย่างรัสเซียและจีนกำลังขยายอิทธิพล การเข้าครอบครองกรีนแลนด์จะเสริมสร้างอิทธิพลของสหรัฐฯ ในแถบอาร์กติกและสร้างสมดุลกับอำนาจเหล่านี้

กรณีพิพาทที่คลองปานามา

ในสัปดาห์นี้ ทรัมป์ได้เพิ่มเจตนาอย่างจริงจังที่จะดำเนินการอย่างทันทีทันใดในเดือนมกราคม โดยประกาศว่าเขาวางแผนที่จะทวงคืนการควบคุมคลองปานามา โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ ณ ที่ประชุมสำหรับสมาชิกรุ่นเยาว์ของพรรครีพับลิกัน AmericaFest  ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ปานามาไม่เคยปฏิบัติต่อสหรัฐฯ อย่างเป็นธรรมเลย นับตั้งแต่วันที่สหรัฐฯ ได้สละสิทธิ์การควบคุมในปี 1999 ซึ่งคลองปานามานั้น เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเป็นเส้นทางลัดที่ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางของเรือระหว่างมหาสมุทรทั้งสอง ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางอันยาวไกลและอันตรายรอบปลายสุดของทวีปอเมริกาใต้ได้

“ค่าธรรมเนียมที่ปานามาเรียกเก็บนั้นเป็นเรื่องน่าขันและไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง” ทรัมป์กล่าว พร้อมเสริมว่าเมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี “การเอารัดเอาเปรียบประเทศของเรานี้จะต้องหยุดลงโดยทันที” หากค่าธรรมเนียมการเดินเรือไม่ลดลง ทรัมป์ขู่ว่ารัฐบาลของเขา “จะเรียกร้องให้คลองปานามากลับคืนสู่การควบคุมของสหรัฐฯ ทั้งหมด โดยเร็ว และอย่างไม่ต้องมีข้อกังขาใดๆ อีกเลย เราจะไม่ยอมรับสิ่งเป็นอยู่นี้ ดังนั้น ขอให้เจ้าหน้าที่ของปานามา จงโปรดรับฟังคำเตือนนี้ให้ดี อำนาจอธิปไตยและอิสรภาพของของประเทศของเราไม่ใช่สิ่งที่จะเอามาต่อรองกันได้”

เขาต้องการเช่นนั้นจริงหรือ? หรือทรัมป์ตั้งใจเพียงกวนให้น้ำขุ่นเท่านั้น

ด้วยแผนการเกี่ยวกับกรีนแลนด์และคลองปานามานี้ ทรัมป์ได้ทำให้โลกต้องคาดเดากันอีกครั้งว่าเขาจริงจังหรือไม่ การท้าทายอำนาจอธิปไตยของพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ เพียงสี่สัปดาห์ก่อนที่เขาจะกลับเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในทำเนียบขาว นับเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของเขาในฐานะสุดยอดผู้นำที่สร้างความปั่นป่วนให้กับโลก โดยความคิดเห็นที่เขาเสนอมานั้น ได้ฟื้นความหวาดหวั่นที่เคยมีในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของเขาขึ้นมาอีกครั้ง ว่านายทรัมป์จะมีท่าทีแข็งกร้าวต่อพันธมิตรของสหรัฐฯ ยิ่งกว่าที่เขาปฏิบัติต่อปฏิปักษ์ อย่างเช่นรัสเซียและจีนเสียอีก

แต่ก็มีข้อสงสัยกันด้วยว่า นักธุรกิจพันล้านอย่างทรัมป์นี่ อาจกำลังสร้างประเด็นเพื่อนำมาใช้เป็นเงื่อนไขในการเจรจาตามแนวทาง “ศิลปะแห่งการเจรจา” และอดีตดารานักแสดงเรียลลิตี้ทีวีคนนี้กำลังพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองดูเหมือนเป็นนักเจรจาที่แข็งแกร่งทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ

“เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าเขาต้องการสิ่งเหล่านี้จริง ๆ สักแค่ไหน หรือเป็นเพียงเสียงประกาศกร้าวครั้งล่าสุดที่ต้องการให้ทั่วโลกโลกได้ยินสักแค่ไหนกันแน่” Frank Sesno ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันและอดีตผู้สื่อข่าวทำเนียบขาวกล่าว “แล้วก็ปล่อยให้บรรดาผู้นำประเทศอื่น ๆ ต้องคาดเดากันเองต่อไปว่า เรื่องไหนเป็นเรื่องที่จริงจัง และเรื่องไหนไม่ใช่เรื่องจริง” เขากล่าวกับ AFP

ความจริงแล้ว แนวคิดเกี่ยวกับการซื้อเกาะกรีนแลนด์นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับทรัมป์ แต่วาทกรรมของเขาที่สร้างความฮือฮามากที่สุด ก็คือประเด็นเกี่ยวกับคลองปานามา โดยเขาได้ต่อว่าอย่างรุนแรงต่อสิ่งที่เขาเรียกว่า ค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นธรรมสำหรับเรือสหรัฐฯ ที่ต้องใช้เส้นทางนี้ และขู่ว่าจะเรียกร้องให้คลองปานามากลับคืนสู่การควบคุมของรัฐบาลสหรัฐฯ มาเสียเลย

แล้วทรัมป์ได้กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า หากปานามาไม่ยอมตกลง “เราจะเรียกร้องให้คลองปานามากลับคืนสู่สหรัฐอเมริกา ทั้งหมด โดยเร็ว และอย่างไม่ต้องมีข้อกังขาใดๆ อีกเลย” เขายังแสดงความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนรอบ ๆ คลองปานามา ซึ่งสร้างโดยสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1914 เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก ก่อนจะถูกส่งคืนให้ปานามาตามข้อตกลงที่ทำไว้ในปี ค.ศ. 1977

Jose Raul Mulino ประธานาธิบดีปานามาได้ปฏิเสธคำขู่ของทรัมป์ โดยกล่าวว่า “ทุกตารางเมตรของคลองนี้จะยังคงเป็นของปานามา” ซึ่งทรัมป์ได้ตอบกลับไปใน Truth Social ว่า “เรื่องนี้ เราจะได้รู้กัน!” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ยังได้กล่าวหยอกล้อกับเพื่อนบ้านอย่างแคนาดาไว้ว่าจะคงเป็น “ความคิดที่ยอดเยี่ยม” หากแคนาดากลายมาเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่ยังมีเรื่องการขู่เรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมเป็นฉากหลังดำทมึนอยู่แล้วด้วย

“การส่งสัญญาณถึงจีน”

Frank Sesno กล่าวว่า เป็นการยากยิ่งที่นานาประเทศจะรู้ว่าควรจะทำอย่างไรกับการแสดงความเห็นต่างๆ ของทรัมป์ เขากล่าวว่า “ต้องเป็นเรื่องล้อเล่นแน่ๆ  ใช่ไหม? ลองคิดดูว่า ถ้าคุณเป็นประธานาธิบดีของปานามา คุณจะตอบโต้ต่อความเห็นแบบนี้อย่างไรดี? จะละเลยไปเสียก็ไม่ได้และประชาชนในประเทศของคุณก็จะไม่ยอมให้คุณทำเช่นนั้น ดังนั้น แรงกระเพื่อมอันเกิดมาจากความคิดเห็นเช่นนี้จึงยิ่งใหญ่เกินคาด”

ท่าทีอันแข็งกร้าวของทรัมป์ต่อบรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯ นั้นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับคำชื่นชมซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อผู้นำของประเทศศัตรู ซึ่งรวมถึง Vladimir Putin ของรัสเซีย ซึ่งรุกรานยูเครนเพื่อพยายามยึดดินแดนในปี ค.ศ. 2022 แต่ก็ดูเหมือนว่าจะมีแผนการซ่อนอยู่เบื้องหลังวาทกรรมของทรัมป์ “บางทีข้อความนี้อาจส่งถึงจีน” เมื่อทรัมป์พูดถึงการซื้อกรีนแลนด์ เช่นเดียวกับที่ทรัมป์แสดงความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของปักกิ่งในคลองปานามา การปรากฏตัวที่เพิ่มขึ้นของจีนในแถบอาร์กติกและความสัมพันธ์กับรัสเซียคือ “สิ่งที่สหรัฐฯ กังวลอย่างมาก”Stephanie Pezard นักรัฐศาสตร์อาวุโสจาก Rand Corporation กล่าวกับ AFP

แต่ก็อาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงเดนมาร์กว่า ‘หากคุณเป็นมิตรกับจีนมากเกินไป คุณจะพบเราขวางอยู่แน่ๆ’ แม้ว่าเดนมาร์กและกรีนแลนด์จะเป็น “พันธมิตรในกลุ่ม NATO ที่ดีมากๆ” ก็ตาม และบางทีทรัมป์อาจเข้าใจความเป็นจริงดีอยู่แล้วว่า การที่สหรัฐฯ จะ “ซื้อ” กรีนแลนด์นั้น เป็นไปไม่ได้เลย “ไม่ใช่แค่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังขัดกับระเบียบโลกที่สหรัฐฯ เพียรพยายามรักษาไว้มาตลอดอีกด้วย” Pezard กล่าวในที่สุด

บทวิเคราะห์: คลองปานามานั้นเป็นเส้นทางน้ำตามธรรมชาติ ที่ได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นช่องทางลัดตัดเส้นทางให้สั้นลงด้วยการขุดพื้นที่บางส่วนให้กว้างขึ้นให้ลึกลงจนพอให้เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ผ่านไปได้แล้วประหยัดเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับมหาสมุทรแปซิฟิกลงไปได้อย่างมาก โดยไม่ต้องมีการขนย้ายสินค้าในเรือหรือเดินทางอ้อมปลายสุดของทวีปอเมริกาใต้เช่นก่อนหน้านั้น ซึ่งเมื่อคลองดังกล่าวนี้กลายมาเป็นช่องทางการขนส่งหลักไปแล้ว เส้นทางอ้อมก็ย่อมไม่มีใครใช้ เช่นเดียวกับช่องทางที่ใช้เดินทางขนส่งหลายๆ แห่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา บริเวณโดยรอบรวมถึงเส้นทางขนส่งสินค้าเหล่านั้นก็จะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่หากใครได้ครอบครองก็อาจมีดำนาจให้คุณให้โทษกับบรรดาผู้ที่ต้องสัญจรผ่านเส้นทางเหล่านั้นเป็นธรรมดา

ผู้ที่ครอบครองพื้นที่แถบคลองปานามานี้เปลี่ยนมือมาจาก โคลอมเบีย ฝรั่งเศสซึ่งเริ่มปรับปรุงคลองเป็นรายแรกในปี 1881 แล้วก็หยุดลงในปี 1889 เพราะนักลงทุนขาดความมั่นใจว่าจะทำสำเร็จได้ด้วยปัญหาทางด้านวิศวกรรมและอัตราการเสียชีวิตของคนงานที่สูงมาก ในปี 1904 สหรัฐฯ จึงเข้ามาปรับปรุงจนแล้วเสร็จในปี 1914 โดยสหรัฐฯ ยังคงควบคุมคลองและเขตคลองปานามาโดยรอบจนกระทั่งมีการลงนามในสนธิสัญญากันในปี ค.ศ. 1977 ซึ่งกำหนดให้ส่งมอบคลองให้แก่ประเทศปานามา หลังจากช่วงเวลาของการควบคุมร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และปานามา รัฐบาลปานามาได้เข้าควบคุมคลองอย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 1999 ปัจจุบันคลองปานามาบริหารและดำเนินการโดย Panama Canal Authority ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาลปานามา ต่อมาได้มีการก่อสร้างประตูน้ำช่องทางที่สามซึ่งกว้างขึ้น ตั้งแต่ปี 2007 สนแล้วเสร็จในปี 2016 แล้วเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2016 โดยประตูน้ำใหม่สามารถรองรับการผ่านของเรือขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมมาก จำนวนเรือที่ผ่านคลองปานามาเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,000 ลำในปี ค.ศ. 1914 เมื่อคลองเปิดใช้งานครั้งแรก เป็น 14,702 ลำในปี ค.ศ. 2008 โดยมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 333.7 ล้านตัน ตามระบบวัดน้ำหนักคลองปานามา/Universal Measurement System (PC/UMS) ภายในปี ค.ศ. 2012 มีเรือมากกว่า 815,000 ลำที่ผ่านคลองปานามา และในปี ค.ศ. 2017 เรือใช้เวลาเฉลี่ย 11.38 ชั่วโมงในการผ่านระหว่างประตูน้ำสองจุดภายนอกของคลอง ด้วยเทคนิคอันซับซ้อนที่ใช้ในการปรับปรุงนี้ ทำให้สมาคมวิศวกรโยธาแห่งอเมริกา (American Society of Civil Engineers) ได้จัดอันดับให้คลองปานามาเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์แห่งโลกยุคใหม่

ส่วนกรีนแลนด์นั้นเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลกภายใต้อธิปไตยของเดนมาร์กมีประชากรชาวเดนมาร์อาศัยอยู่เพียง 55,000 คน แต่ประชากรส่วนใหญ่จะไปอยู่อาศัยที่หมู่เกาะ Foroe ที่เล็กกว่าแต่อากาศอบอุ่นกว่า เหตุที่กรีนแลนด์กลายมาเป็นประเด็นวันนี้ ก็ด้วยเหตุที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ อีกเช่นกัน ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่มีฐานทัพของสหรัฐฯ และเดนมาร์กหลายแห่งตั้งอยู่ในกรีนแลนด์ รวมถึงฐานอวกาศ Pituffik (ชื่อเดิม Thule Air Base) ซึ่งเป็นที่ตั้งของเครือข่ายเซ็นเซอร์ระดับโลกของ United States Space Force ที่ทำหน้าที่เตือนภัยขีปนาวุธ การเฝ้าระวังอวกาศ และการควบคุมพื้นที่อวกาศสำหรับ North American Aerospace Defense Command (NORAD) ในปี 1995 เกิดเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองในเดนมาร์กหลังจากมีรายงานเปิดเผยว่ารัฐบาลได้อนุญาตให้นำอาวุธนิวเคลียร์มาประจำการในกรีนแลนด์ได้ ซึ่งเป็นการขัดต่อนโยบายพื้นที่ปลอดนิวเคลียร์ของเดนมาร์กที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 1957 ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังได้สร้างฐานลับพลังงานนิวเคลียร์ไว้บนแผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์ แล้วในปี 1968 ก็เกิดเหตุเครื่องบิน บรรทุกระเบิดนิวเคลียร์จำนวน 4 ลูกได้ตกบนแผ่นน้ำแข็งในอ่าว North Star Bay ขณะพยายามลงจอดฉุกเฉินที่ฐานทัพอากาศ Thule ส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้และการปนเปื้อนกัมมันตรังสีอย่างรุนแรง โดยหนึ่งในระเบิดไฮโดรเจนยังคงสูญหายจนถึงปัจจุบัน

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: เหตุใดประธานาธิบดียอดนิยมอย่างทรัมป์จึงก้าวร้าวนัก โดยเฉพาะกับบรรดาประเทศพันธมิตร ในขณะที่หันมาชื่นชมปรปักษ์อย่างประธานาธิบดีของรัสเซียอยู่บ่อยครั้ง คำตอบก็น่าจะพอคาดเดาได้ว่านักเจรจาการค้าอย่างทรัมป์ ก็คงใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์เพื่อจะเจรจากับใครๆ แล้วได้เปรียบ มี 2 ประเด็นหลักที่คงแกะออกจากรัฐบาลของทรัมป์ไม่ได้ นั่นคือเป้าหมายในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ และอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเด็นเรื่องคนต่างชาติและยาเสพติดถูกลักลอบเข้าเมืองมาในสหรัฐฯ อาจจะเป็นแค่ข้ออ้างที่ใช้กดดันคู่เจรจาเท่านั้น ดังหลายๆ ประเด็นที่สหรัฐฯ เคยพยายามเจรจากับชาติต่างๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ ก็ให้บังเอิญขึ้นมาทุกทีที่ประเทศคู่เจรจาต้องทำอะไรผิด หรือไม่ได้มาตรฐานสากล ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง แล้วจับประเทศคู่เจรจาแขวนไว้รอจนกว่าจะแก้ไขปัญหาต่างๆ นานที่ถูกกล่าวหาไว้ มาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ แล้วก็อาจจะมีอย่างอื่นที่ประเทศคู่เจรจาพลาดไปทำผิดกันได้อีก แต่หลายๆ ท่านอาจอยากจะโต้กลับว่า ก็แล้วทำไมสหรัฐฯ จึงทำอย่างนั้นอย่างนี้ที่เคยกล่าวหาประเทศอื่นไว้ได้ และคำตอบก็ง่ายๆ ว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาที่กำหนดให้ต้องทำ หรืออาจไม่ตอบก็ได้ นักวิเคราะห์ นักวิจัยและบรรดานักพยากรณ์หลายสำนักต่างทำหน้าที่ของตน ชี้ถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดสิ่งใดขึ้นบ้างในสมัยที่สองของทรัมป์ แต่แทบทุกรายน่าจะไม่มีใครกล้าทำนายแบบฟันธงไว้ล่วงหน้า แต่จะเปิดช่องไว้ถอยกันแทบทั้งนั้น เพราะสิ่งที่ทรัมป์คิดและที่จะดำเนินการต่อไป ยากที่จะคาดเดา และแม้จะคาดเดาได้ถูกต้อง แต่ทรัมป์ก็พร้อมปรับแผนใหม่มาใช้ได้เสมอ

จากบทความนี้ สัญญาณที่ผู้เขียนจับได้ค่อนข้างจะชัดเจนก็คือการส่งสัญญาณจากว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ไปยังจีน และพันธมิตรที่สนิทสนมกับจีนมากจนเกินงามในสายตาของสหรัฐฯ ซึ่งมองไปยาวๆ ไม่ว่าจะแง่มุมไหน ก็เป็นการยากที่จะมีใครพยากรณ์ว่าทรัมป์ กำลังเล่นเกมเพื่อสร้างความได้เปรียบในการเจรจากับจีนเพื่อให้จีนยอมอ่อนข้อแล้วดำเนินการตามที่ตนร้องขอ เพราะจีนไม่ใช่เพียงคู่แข่งธรรมดาเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่จ้าวโลกอย่างสหรัฐฯ ที่เคยมีแต้มต่อมากมาย ก็มีเหลืออยู่น้อยเต็มที และแม้จะยอมปล่อยไต้หวันให้จีนครอบครองไปเสีย ก็ไม่มีทางจะหยุดยั้งพัฒนาการด้านต่างๆ ที่จีนเบียดและแซงไปหลายๆ เรื่องแล้วได้ ในทางตรงข้ามหากสหรัฐฯ จะเปิดหน้าชนกับจีนอย่างเต็มรูปแบบ สหรัฐฯ ก็ยังไม่พร้อมที่จะตีจากจีนแบบขาดสะบั้นลงทันทีทันใดแน่ เพราะยังต้องพึ่งพาจีนอยู่มาก หากตัดขาดปุบปับ ประชาชนสหรัฐฯ เองจะเป็นผู้ที่ต้องแบกรับภาระหนักที่สุด  ในขณะที่จีน นั้นพร้อมยืนบนลำแข้งตนเองได้ทุกขณะ อีกแง่มุมหนึ่ง จากพฤติกรรมของทรัมป์ที่รับรู้กันในบทความนี้ ผลกระทบที่ผู้ประกอบการไทยพึงจะต้องระวังไว้ไม่มากก็น้อยนั่นก็คือ การสะดุดของระบบห่วงโซ่อุปทาน อันเป็นผลมาจากการที่สหรัฐฯ เข้าไปยุ่มย่ามในเส้นทางขนส่งสินค้าหลักๆ ซึ่งนโยบายของทรัมป์ที่จะมีแนวโน้มต่อต้านการค้าการเชื่อมโยงระหว่างนานาประเทศแบบโลกาภิวัตน์อยู่แล้ว นอกจากที่เคยประกาศไว้ว่าจะนำสหรัฐฯ ถอนสมาชิกภาพออกจากองค์การการค้าโลก สนธิสัญญากรุงปารีส และความตกลงระหว่างประเทศแบบพหุภาคีต่างๆ นั้น นักลงทุนสหรัฐฯ อาจไม่เห็นว่าเป็นแรงจูงใจที่มากพอให้ย้ายเงินทุนกลับมาลงทุนในสหรัฐฯดังที่ทรัมป์ประสงค์ หากระบบการขนส่งสินค้าทั่วโลกต้องประสบอุปสรรค ชะลอตัวรุนแรง  หรืออาจถึงขั้นล่มสลายลง ก็จะยิ่งเพิ่มแรงจูงใจมากขึ้นได้

*********************************************************

ที่มา: news.com.au
เรื่อง: “‘Absolute necessity’: Trump’s plan to buy world’s largest island”
โดย: Sarah Keoghan
สคต. ไมอามี /วันที่ 24 ธันวาคม 2567
thThai