ประธานาธิบดี Ferdinand Marcos Jr. ลงนามกฎหมายมุ่งปรับปรุงภาคการเกษตร การท่องเที่ยวและการศึกษาซึ่งประกอบด้วยการแก้ไขพระราชบัญญัติการกำหนดภาษีสินค้าเกษตร (RA 12078) พระราชบัญญัติการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (RA 12079) และพระราชบัญญัติการส่งเสริมสุขภาพจิตและสวัสดิภาพ (RA 12080)
การแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีศุลกากรสินค้าเกษตร (RA 12078)
กฎหมายนี้เป็นการตอบสนองต่อปัญหาการขาดแคลนข้าวในประเทศ โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีศุลกากรสินค้าเกษตรเพื่อขยายกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าว (Rice Competitiveness Enhancement Fund – RCEF) ออกไปอีก 6 ปี พร้อมเพิ่มงบประมาณเป็น 3 หมื่นล้านเปโซ ผ่านโครงการ RCEF จะช่วยสนับสนุนการลงทุนสำหรับเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง เครื่องจักรกลการเกษตร และการฝึกอบรมเกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตโดยประธานาธิบดี Ferdinand Marcos Jr. ระบุว่า โครงงานสำหรับกองทุน RCEF นั้นใกล้จะหมดอายุ จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีการขยายเวลาและเสริมความแข็งแกร่งสำหรับโครงงานดังกล่าวซึ่งจะช่วยให้เราสามารถช่วยเกษตรกรได้มากขึ้นและทำให้มั่นใจได้ว่าเกษตรกรจะมีทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อความสำเร็จในการแข่งขันที่มากขึ้น โดยประธานาธิบดี ขยายความว่าการเพิ่มงบประมาณดังกล่าวจะนำไปใช้สนับสนุนโครงการที่สำคัญต่างๆ เช่น การฝึกอบรมและการให้บริการด้านความรู้แก่เกษตรกรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่มีพื้นที่ทำกินไม่เกิน 2 เฮกตาร์ การขยายการช่วยเหลือสินเชื่อสำหรับข้าว การจัดตั้งสถานที่อำนวยความสะดวกสำหรับการปุ๋ยหมักทางชีวภาพ การกำจัดศัตรูพืชและโรคในพืช การปรับปรุงคุณภาพดิน การสนับสนุนการเกษตรในรูปแบบสัญญา การจัดตั้งระบบชลประทานพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังเสริมสร้างบทบาทการกำกับดูแลให้กับกระทรวงเกษตร (DA)ในการควบคุมดูแลระบบและนโยบายของอุตสาหกรรมข้าวอย่างเข้มงวดเพื่อทำให้มั่นใจว่าข้าวที่ออกสู่ตลาดนั้นเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพและกฎระเบียบที่กำหนดไว้
พระราชบัญญัติการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (RA 12079)
กฎหมายฉบับนี้จะช่วยเสริมความน่าสนใจของฟิลิปปินส์ในการเป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้สำหรับการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าเกิน 3,000 เปโซ ขึ้นไปจากร้านค้าที่ได้รับการรับรอง โดยมีเงื่อนไขว่าสินค้าดังกล่าวจะต้องถูกนำออกนอกประเทศภายใน 60 วัน โดยกฎหมายฉบับนี้คาดว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวขึ้นร้อยละ 29.8 ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (MSMEs) โดยประธานาธิบดี Ferdinand Marcos Jr. ระบุว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าการจับจ่ายได้กลายเป็นส่วนสำคัญของประสบการณ์การท่องเที่ยวซึ่งเราต้องการใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ โดยในปี 2566 ภาคการท่องเที่ยวของฟิลิปปินส์มีบทบาทสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสัดส่วนถึง ร้อยละ 8.6 ของ GDP ซึ่งการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวขาเข้าถือเป็นการใช้จ่ายที่มีสัดส่วนสูงเป็นอันดับ 2 ด้วยเหตุนี้ การริเริ่มโครงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับนักท่องเที่ยวที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายให้มากขึ้น และส่งเสริมให้ฟิลิปปินส์ก้าวขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางในระดับโลก ประธานาธิบดีเสริมว่ากระทรวงการคลัง (DOF) และกรมสรรพากร (BIR) ได้จัดทำกฎระเบียบและแนวปฏิบัติเพื่อทำให้กระบวนการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
พระราชบัญญัติการส่งเสริมสุขภาพจิตและสวัสดิภาพ (RA 12080)
กฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้ให้โรงเรียนทุกแห่ง ทั้งของรัฐและเอกชน จัดทำโครงการดูแลสุขภาพจิตแบบครบวงจร เพื่อสร้างความตระหนักรู้และป้องกันอัตวินิบาตกรรม โดยกำหนดให้มีศูนย์บริการสุขภาพจิตในโรงเรียน พร้อมทั้งจัดตั้งสำนักงานสุขภาพจิตในแต่ละเขตการศึกษา โดยกฎหมายฉบับใหม่นี้จะมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีในส่วนของระบบการศึกษา สำหรับนักเรียน บุคลากรครูและเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ทุกคนมีความพร้อมด้านอารมณ์และจิตใจในการเผชิญกับความท้าทายของโลกโลกาภิวัตน์ ประธานาธิบดี Ferdinand Marcos Jr. ระบุว่าเมื่อนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนมีสุขภาพจิตที่ดี การเรียนก็จะดีขึ้นและการขาดเรียนจะลดลง โดยโรงเรียนจะเป็นสถานที่ที่มีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันซึ่งกฎหมายนี้ไม่ใช่แค่การดูแลเยาวชนและบุคลากรเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ และสังคมอีกด้วย โดยศูนย์ดูแลสุขภาพจิตจะถูกจัดตั้งในโรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนและมีผู้ช่วยที่จะให้คำปรึกษา จัดอบรมการจัดการความเครียด และดำเนินการโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาด้านสุขภาพจิต นอกจากนี้ ประธานาธิบดี ได้เสริมว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้มีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร และดูแลสุขภาพกายและใจของเยาวชนชาวฟิลิปปินส์
มุมมองจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ประธานวุฒิสภา นาย Francis Escudero กล่าวว่าการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นแนวทางที่ฟิลิปปินส์ควรดำเนินการเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 120,000 เปโซ ในแต่ละการเดินทาง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นและเศรษฐกิจของประเทศ โดยนาย Francis Escudero เสริมว่าการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับสินค้าที่นักท่องเที่ยวซื้อถือเป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกดำเนินการมาหลายปีแล้ว นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวยังมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ดังนั้นหากนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นจะช่วยกระตุ้น GDP และการสร้างงานของประเทศ ซึ่งภาคการท่องเที่ยวนั้นก่อให้เกิดการจ้างงานสำหรับชาวฟิลิปปินส์จำนวน 6.21 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 13 ของแรงงานทั้งหมด) แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 7.06 ล้านคน ก่อนการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ สมาชิกวุฒิสภาให้ข้อมูลว่า การมาเยือนของนักท่องเที่ยวในฟิลิปปินส์ยังไม่กลับไปถึงระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 แต่ตัวเลขเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในปีที่ผ่านมา และ การมีกฎหมายให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนฟิลิปปินส์มากขึ้น พร้อมทั้ง จะช่วยให้ฟิลิปปินส์สามารถแข่งขันกับประเทศในเอเชียและทั่วโลกได้รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยว นาง Christina Frasco ชื่นชมการผ่านกฎหมายการคืนภาษี VAT สำหรับนักท่องเที่ยว โดยระบุว่าการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวได้รับคืนภาษีจากการซื้อสินค้าเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ฟิลิปปินส์พร้อมที่จะรองรับมาตรฐานการท่องเที่ยวระดับโลกในขณะเดียวกันก็เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในท้องถิ่น รวมถึงเป็นประโยชน์โดยตรงกับการสร้างงาน และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจโฆษกรัฐบาล นาย Martin Romualdez ชื่นชมการลงนามในกฎหมายภาษีศุลกากรสินค้าเกษตรข้างต้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ The Manila Times
บทวิเคราะห์และข้อคิดเห็น
-ข้าวถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของฟิลิปปินส์ เนื่องจากเป็นอาหารหลักพื้นฐานของประเทศและมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่ารวมของสินค้าเกษตรทั้งหมดของฟิลิปปินส์ แม้ว่าฟิลิปปินส์จะสามารถเพาะปลูกข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศ แต่ยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการจึงทำให้ฟิลิปปินส์ยังคงต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดี Ferdinand Marcos Jr. ได้มีนโยบายเพิ่มผลผลิตข้าวให้ได้ร้อยละ 100 ของความต้องการข้าวภายในประเทศ (Rice Self- sufficiency) โดยล่าสุดมีการแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีศุลกากรสินค้าเกษตร (RA 12078) ที่ได้รับการออกแบบเพื่อขยายกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าว (Rice Competitiveness Enhancement Fund – RCEF) ออกไปอีก 6 ปี และเพิ่มงบประมาณเป็น 3 หมื่นล้านเปโซ ซึ่งจะสนับสนุนการลงทุนในเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง เครื่องจักรกลการเกษตร และการฝึกอบรมเกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตการขยายกองทุน RCEF จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงทรัพยากรและเครื่องมือที่จำเป็นในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะช่วยให้ผลผลิตข้าวในประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การพยายามเพิ่มผลผลิตข้าวในฟิลิปปินส์ยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ภูมิประเทศการขาดแคลนแรงงานในภาการเกษตร รวมทั้งปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การบรรลุเป้าหมายการพึ่งพาตนเองด้านข้าวในฟิลิปปินส์ยังคงยากลำบากและทำให้ฟิลิปปินส์ยังไม่สามารถประสบความสำเร็จในนโยบายพึ่งพาตนเองในช่วงที่ผ่านมาได้ โดยในปี 2566 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวรวม 3.61 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 6.65 จากปีก่อน โดยนำเข้าจากเวียดนามถึง 2.97 ล้านตันซึ่งคิดเป็นร้อยละ 82.23 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด ส่วนไทยอยู่อันดับสองที่ 3.42 แสนตัน (ร้อยละ 9.46) และเมียนมา ที่ 1.56 แสนตัน (ร้อยละ 4.33) อย่างไรก็ตาม ข้าวไทยยังคงมีคุณภาพมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในตลาดฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาและผลิตพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย ซึ่งช่วยให้ไทยสามารถขยายโอกาสในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดข้าวในฟิลิปปินส์ได้มากขึ้นแม้จะมีการนำเข้าจากหลายประเทศ ฟิลิปปินส์ยังคงพึ่งพาแหล่งนำเข้าหลักเช่น ไทยและเวียดนามเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศในอนาคต
-ฟิลิปปินส์พยายามที่จะฟื้นฟูและกระตุ้นการท่องเที่ยว รวมทั้งการแนะนำฟิลิปปินส์ให้ทั่วโลกได้รู้จักอีกครั้ง ผ่านทางแคมเปญใหม่ของกระทรวงการท่องเที่ยวฟิลิปปินส์ “Love the Philippines “โดยนำเรื่องราวของ “ความรัก” มาสื่อสารไม่ว่าจะเป็นรักเสียงเพลง รักวัฒนธรรม รักมรดก รักมิตรภาพ รักความสนุกสนาน และยังแสดงให้เห็นว่าชาวฟิลิปปินส์จะให้การต้อนรับแขกทุกคนที่มาเยือนฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และรัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องการที่จะให้อุตสาหกรรมดังกล่าวมีส่วนร่วมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)เพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยวของฟิลิปปินส์และแม้ว่าปัจจุบันจะเห็นถึงสัญญาณ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของฟิลิปปินส์ แต่การกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ ยังเป็นเรื่อง ที่ท้าทายและยังไม่สามารถบรรลุผลได้ในปีนี้คงต้องติดตามว่าจะสามารถช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและพัฒนาการท่องเที่ยวของฟิลิปปินส์เพิ่มได้เพียงใดว่า โดยหากภาคการท่องเที่ยวของฟิลิปปินส์สามารถกลับมาเติบโตได้ดี คาดว่าจะช่วยส่งผลดีต่อธุรกิจที่เนื่องในภาคท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่งธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ร้านนวด และอื่นๆ ที่มีผู้ประกอบการไทยเข้ามาลงทุนในฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศฟิลิปปินส์ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของการส่งออกสินค้าต่างๆ ของไทยในการเข้ามารองรับกับความต้องการที่จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป
—————————————
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
ธันวาคม 2567