ในรายงานประจำปีล่าสุดของสภาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ (der Sachverständigenrat) เปิดเผยว่า ปี 2024 ศักยภาพของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเยอรมันมีแนวโน้มที่จะอยู่ที่ 0.5% เท่านั้น โดยอัตราเฉลี่ยของช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.5% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจค่อนข้างมากเพราะเศรษฐกิจของเยอรมนี ณ ขณะนี้กำลังสูญเสียศักยภาพในการเติบโตไปถึง 2 ใน 3 และได้มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า ยังไม่มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจของเยอรมนีจะฟื้นตัวในเร็ว ๆ นี้ ตามการคาดการณ์ของสภาผู้เชี่ยวชาญฯ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นไปได้ อยู่แค่ 0.3 – 0.4 % ต่อปีเท่านั้น (ภายในสิ้นทศวรรษนี้) โดยการประเมินดังกล่าวประกอบด้วยข้อมูลเหล่านี้ คือ (1) การลงทุนที่คาดว่า จะมีส่วนในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.3% ต่อปี โดยประมาณ (2) กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ระหว่าง 0.1 – 0.3 โดยประมาณ (3) ปริมาณการจ้างงานที่ลดลง ที่กำลังกลายเป็นภาระต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในอนาคตตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรายไตรมาสมีแนวโน้มที่จะไม่มีการเติบโต (หรือเป็นศูนย์) หรือมีแนวโน้มที่จะเติบโตแบบติดลบ จะกลายเป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นความจริงที่เศรษฐกิจของเยอรมนีได้ขาดศักยภาพที่จะกลับมาเจริญเติบโตและปัจจุบันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่เท่า ๆ กับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 โดยประมาณ นั่นหมายความว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เยอรมนีแทบไม่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเลย สำหรับรัฐบาลภายใต้การดูแลของพรรคสังคมนิยมเพื่อประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD – Sozialdemokratische Partei Deutschlands) พรรคเพื่ออิสรภาพและประชาธิปไตย (FDP – Freie Demokratische Partei) และพรรคยุค 90 พันธมิตรสีเขียว (Bündnis 90/Die Grünen) แล้วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหลาย ๆ อย่างคงจะง่ายกว่านี้ หากเศรษฐกิจของประเทศเติบโตตามศักยภาพ แทนที่จะซบเซา หาก GDP เติบโตขึ้นอีกครึ่งจุดในทุก ๆ ปี ที่ผ่านมาในช่วง 5 ปีนี้ GDP ในปัจจุบันจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 100 พันล้านยูโรเลยทีเดียว โดยเมื่อพิจารณาจากอัตราภาษีเงินได้ประมาณ 22% และอัตราเงินสมทบประกันสังคมที่ 16% ในปีนี้เพียงปีเดียว รัฐจะมีรายได้เพิ่มเติม 4 หมื่นล้านยูโร โดยประมาณ ซึ่งหมายความว่า อาจสามารถชะลอการปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบประกันสังคมในปัจจุบันลงได้ สำหรุบในช่วงการระบาดของเชื้อวิกฤติโควิด-19 , สงครามในประเทศยูเครน วิกฤตพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ชาวเยอรมันโดยเฉลี่ยยากจนลง ระบบเศรษฐกิจระบบตลาดเพื่อสังคม (Social Market Economy มีเป้าหมายในการสร้างระเบียบในสังคมที่ดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, คุ้มครองการแข่งขันในตลาดให้ดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น) ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศไม่สามารถรักษาคำมั่นสัญญาที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองสำหรับทุกคนได้อีกต่อไป ทำให้เกิดความไม่พอใจในสังคมเพิ่มมากขึ้น และกลุ่มการเมืองขวาจัด (Far – Right Politics)[1] ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ คาดการณ์ว่า สำหรับปีนี้เศรษฐกิจน่าจะหดตัว และสำหรับปีต่อๆ ไปเศรษฐกิจก็ไม่น่าจะขยายตัวมากนัก โดยสถาบันวิจัยของหนังสือพิมพ์ Handelsblatt (HRI- Handelsblatt Research Institute) ได้คาดการณ์เรื่องนี้ไว้ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2024 ว่า น่าจะเป็น “ช่วงปี 20 ที่เลวร้าย” ที่สุดสำหรับเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนี ขณะนี้ บริษัทจำนวนมากกำลังประกาศลดพนักงาน รวมทั้งมีจำนวนการแจ้งล้มละลายกำลังจะถึงจุดสูงสุดใหม่ นับตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปี 2019 ที่อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำสุด ปัจจุบันอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 600,000 คน ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2015 เป็นต้นมา ในไม่ช้าอัตราตัวเลขผู้ว่างงานจะเกิน 3 ล้านคน อีกครั้ง ดัชนีการจ้างงานสำหรับภาคเอกชนที่จัดทำโดยสถาบันเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยมิวนิค (Ifo – Institut für Wirtschaftsforschung an der Universität München) อยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์โควิด-19 ครั้งแรก okp Klaus Wohlrabe ผู้เชี่ยวชาญของ Ifo กล่าวว่า “ในภาคอุตสาหกรรมวางแผนที่จะลดจำนวนพนักงานของตนอย่างหนัก” เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ค้าปลีก ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการมีการขยายการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ตอนนี้พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะไม่ขยายการจ้างงานออกไปและการจ้างงานน่าจะคงที่เช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้การวางแผนด้านบุคลากรในอุตสาหกรรมการก่อสร้างก็แทบไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ เลย
จากการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจล่าสุดที่จัดทำโดยสถาบันเศรษฐกิจเยอรมนี (IW – Instituts der Deutschen Wirtschaft) ซึ่งมีการสอบถามภาคเอกชนกว่า 2,000 บริษัท เผยให้เห็นภาพที่เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก โดยส่วนใหญ่เห็นว่า สถานการณ์ทางธุรกิจย่ำแย่มากกว่าที่เคยเป็นนับตั้งแต่วิกฤตตลาดการเงินโลกในปี 2008 สำหรับปี 2025 กว่า 2 ใน 5 ของบริษัทที่สำรวจคาดว่า ธุรกิจจะแย่ลงกว่าปี 2024 ความไว้วางใจกับการประกอบธุรกิจในเยอรมนีในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่ลดน้อยลงนี้ยังสะท้อนให้เห็นผ่านแผนการลงทุนของภาคเอกชนอีกด้วย โดย 40% ของบริษัทต้องการลงทุนในอนาคตน้อยลง นาย Michael Grömling ผู้เชี่ยวชาญของ IW ชี้ให้เห็นว่า 38% ของผู้ตอบแบบสำรวจวางแผนที่จะลดการจ้างงานในปี 2025 ลง มีเพียง 17% เท่านั้นที่ต้องการขยายการจ้างงานออกไป โดยสาเหตุของการมองสถานการณ์ทางธุรกิจในแง่ร้ายนั้นเหมือนกับสาเหตุของปี 2023 (1) ต้นทุนพลังงานที่สูง (2) แรงงานราคาสูง และ (3) ระบบราชการที่ซับซ้อน (4) ความไม่มั่นคงทางการเมือง และ (5) การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ตัวอย่างหนึ่งของความเลวร้ายของระบบเศรษฐกิจเยอรมันก็คือ ราคาค่าไฟฟ้าในตลาดแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 936 ยูโรต่อ 1 เมกะวัตต์ชั่วโมง เมื่อเดือนที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงระยะสั้นก็ตาม นาย Grömling กล่าว “สิ่งสำคัญยิ่งกว่าในเวลานี้ก็คือ รัฐบาลชุดหน้าจะต้องเร่งจัดการกับปัญหาที่ค้างคาเหล่านี้ให้รวดเร็ว” แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่ก็มีการคาดการณ์ว่า การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่มีแนวโน้มที่ต้องใช้เวลา ซึ่งเมื่อดูเชิงทฤษฎีและประเมินอย่างเป็นรูปธรรมก็จะทำให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีการปฏิรูปปัญหาต่าง ๆ ในช่วงปลายฤดูร้อน หรือต้นฤดูใบไม้ร่วงของปี 2025 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กว่าการปฏิรูปเหล่านี้จะแสดงผลให้เห็นอย่างเร็วที่สุดก็คงจะเป็นในช่วงปี 2026 ตามข้อมูลของ DIW คาดว่า กว่าจะถึงเวลานั้นเศรษฐกิจเยอรมนีก็ยังคง “เติบโตบ้างตามท้องเรื่อง” แต่สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ การที่นาย Donald Trump จะย้ายเข้าสู่ทำเนียบขาวในวันที่ 20 มกราคมที่จะถึงนี้ และเขาต้องการที่จะโจมตีโลกด้วยการปรับอัตราภาษีนำเข้าขึ้น ซึ่งในเวลานี้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า การกระทำของเขานี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค และจะส่งผลเยอรมนีอย่างไร เมื่อเร็ว ๆ นี้ธนาคารกลางเยอรมันออกมาเตือนว่า แผนภาษีของนาย Trump อาจทำให้เยอรมนีสูญเสีย GDP ถึง 1% แม้แต่กระทรวงเศรษฐกิจฯ ยังได้ออกยอมรับว่า การเข้ามาของนาย Trump เพิ่มความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และการค้าโลก “หากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กำลังจะเข้ามาทำการเพิ่มภาษีนำเข้าตามที่ประกาศไว้ การกระทำนี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และการค้าโลกอย่างรุนแรง และกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบที่รุนแรงตามเกิดขึ้นได้” ดังนั้นความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่สูงมาก ซึ่งอย่างที่เราทราบกันดีว่า “ความไม่แน่นอน” นั้นเป็นพิษต่อเศรษฐกิจขนาดไหน
จาก Handelsblatt 3 มกราคม 2568
[1] กลุ่มการเมืองขวาจัด (Far-right politics) คือ กลุ่มการเมืองแบบชาตินิยมแบบสุดโต่ง (Extreme Nationalism) อุดมการณ์ชาติภูมินิยม (Nativist) และแนวโน้มลัทธิอำนาจนิยม (Authoritarian))