ปี 2025 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมนี

อุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนี ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการค้าโลก กำลังเผชิญความท้าทายอย่างหนักในปี 2025 ด้วยแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่ไม่แน่นอน เยอรมนีจำต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดที่มีการแข่งขันสูง

ความท้าทายครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมนี

ในปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมนีต้องเผชิญกับปัญหาหนักหน่วง ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในยุโรปลดลง และความต้องการรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปในจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของเยอรมนีนั้นลดลงเป็นอย่างมาก บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง Volkswagen (VW) ได้ประกาศแผนการปรับลดจำนวนพนักงานหลายพันตำแหน่ง ขณะที่ตำแหน่งงานในห่วงโซ่อุปทานอื่น ๆ ก็ตกอยู่ในความเสี่ยง

ดร.สเตฟาน บราซเซล ผู้เชี่ยวชาญจาก Center of Automotive Management ระบุว่าวิกฤตนี้เป็นผลจาก “วิกฤตหลายมิติ” ซึ่งรวมถึงต้นทุนแรงงานที่สูง โครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ และความล่าช้าในการปรับตัวสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ การยุติเงินอุดหนุนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในเดือนธันวาคม 2023 โดยรัฐบาลชุดก่อนยังส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างมาก

การแข่งขันระดับโลกและผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์

ผู้ผลิตรถยนต์ในเยอรมนีกำลังเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในสหรัฐฯ และจีน โดยบริษัทอย่าง Tesla เป็นผู้นำในด้านการพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์แวร์ ขณะที่บริษัทจีนครองตลาด EV ที่ใหญ่และเติบโตเร็วที่สุดในโลก นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าอินเดียอาจกลายเป็นคู่แข่งที่แข็งแกร่งอีกแห่ง โดยบริษัทจีนและเกาหลีมีแนวโน้มจะขยายตลาดในอินเดียผ่านการร่วมลงทุน

แม้เยอรมนีจะมีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม แต่ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศยังคงไม่สามารถตามทันความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี EV อย่างรวดเร็วเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เครื่องกลไปสู่ยานยนต์ที่เน้นซอฟต์แวร์ต้องการการปรับตัวครั้งใหญ่ในด้านความเชี่ยวชาญ เช่น ซอฟแวร์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีแบตเตอรีสำหรับรถยนตไฟฟ้า เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 โดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลกระทบอย่างสำคัญ โดยเฉพาะนโยบาย “America First” ที่เขาได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มภาษีนำเข้าสูงถึง 10-20 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะยังไม่มีการประกาศมาตรการที่แน่ชัด แต่นโยบายดังกล่าวได้สร้างบรรยากาศแห่งความไม่แน่นอนให้กับภาคธุรกิจทั่วโลก นอกจากนี้ ทรัมป์ยังไม่ได้ตัดสินใจแน่นอนว่าจะผลักดันให้กลับไปสู่ยุค 1980 ซึ่งเครื่องยนต์สันดาปยังคงครองตลาดหรือไม่ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง อาจส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยั่งยืนต้องล่าช้าออกไป

นโยบายและนวัตกรรม: ทางรอดของอุตสาหกรรม

การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมนีขึ้นอยู่กับนโยบายการค้า การเข้าถึงตลาดโลก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผู้ผลิตรถยนต์ได้เรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปรับปรุงนโยบายการค้า ลดความยุ่งยากในระบบการราชการ และสร้างโครงสร้างภาษีที่ลดลง โดยได้มีคาดการณ์ว่าหากไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง อุตสาหกรรมอาจสูญเสียแรงงานเพิ่มอีก 140,000 ตำแหน่งภายในปี 2035

แม้จะเผชิญกับอุปสรรค แต่ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เช่น การพัฒนาแบตเตอรี่โซลิดสเตต อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับผู้ผลิตรถยนต์เยอรมัน ดิร์ก โดห์เซ่ จากสถาบันเศรษฐศาสตร์โลกแห่งคีล (IfW) เชื่อว่า นักพัฒนาและวิศวกรของเยอรมนียังคงเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับโลก อย่างไรก็ตาม เขาได้กล่าวกับ DW ว่า มี “การขาดความยืดหยุ่น โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการ” ทำให้ไม่สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในเอเชียได้ ซึ่งถ้าหากสามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ก็จะนำไปสู่โอกาสให้กับเยอรมนีอีกครั้ง

ปี 2025: ปีแห่งการตัดสินอนาคต

ปี 2025 เป็นปีสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนี ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนต้องดำเนินการเชิงรุกเพื่อปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน แม้ว่าการฟื้นตัวจะใช้เวลา แต่หากสามารถปรับตัวได้ อุตสาหกรรมนี้อาจกลายเป็นตัวอย่างของความยืดหยุ่นและการปรับตัวในตลาดโลก

วิกฤตของอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมนีไม่ได้สะท้อนเพียงปัญหาภายในประเทศ แต่ยังเป็นสัญญาณเตือนสำหรับอุตสาหกรรมทั่วโลกในการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเวทีการค้าโลก

บทวิเคราะห์

ปี 2025 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมนี ซึ่งก่อให้เกิดทั้งโอกาสและความท้าทายต่อผู้ประกอบการไทย ในด้านความท้าทายนั้น การชะลอตัวของตลาดยานยนต์เยอรมนีอาจกระทบต่อความต้องการอุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์จากไทย และแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงจากจีนและอินเดีย รวมถึงความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลกที่อาจเพิ่มความซับซ้อนในการวางแผนธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยก็ยังมีโอกาสทางธุรกิจ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ความเชี่ยวชาญในการเติมเต็มช่องว่างในตลาดโลกโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว การร่วมมือกับผู้ผลิตในภูมิภาคเอเชียอาจสร้างเครือข่ายการผลิตและส่งออกที่เข้มแข็งขึ้น ขณะที่การยกระดับทักษะแรงงานและการลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีก็จะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลกในระยะยาว ผู้ประกอบการไทยจึงต้องปรับตัวและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อสร้างความได้เปรียบในตลาดโลก

ปี 2025 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมนี

แหล่งที่มา: Deutsche Welle, Image: picture alliance/dpa/J. Stratenschulte

thThai